เกาหลีใต้แนะกลเม็ดล้างนักการเมืองโกง ตั้งองค์กรภาคปชช.ตรวจเข้ม ไทยขานรับตั้งประทินนั่งปธ.


มือปราบ"คอร์รัปชั่น"เกาหลีใต้แนะเคล็ดลับล้างนักการเมืองโกงกิน ออกกม.พิเศษช่วย เปิดชื่อล็อบบี้ยิสต์ ขึ้นบัญชีดำคนส่อตุกติก เผยทำให้ 99% ไม่ได้รับเลือกตั้งอีก ไทยขานรับ ตั้ง"ประทิน"ประธานจัดตั้ง"พีเอสพีดี"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "จับทุจริต 2 ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ติดคุก ประสบการณ์จริง ขององค์กรตรวจสอบภาคประชาชน" โดย นาย ปาร์ค วัน ซุน นักเคลื่อนไหวทางสังคมของเกาหลีใต้ และผู้ก่อตั้งองค์กรภาคประชาชน หรือ "พีเอสพีดี" (PEOPLE SOLIDARITY FOR PARTICIPATORY DEMOCRACY) เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม

นายปาร์ค กล่าวว่า พีเอสพีดีของเกาหลีใต้ พร้อมเป็นพันธมิตรร่วมมือกับประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนองค์กรภาคประชาชนต่อต้านการคอร์รัปชั่นในไทย จากการขับเคลื่อนขององค์กรพีเอสพีดีในเกาหลีใต้ ประกอบด้วยนักวิชาการ นักกฎหมาย นักเคลื่อนไหวทั่วไปและภาคประชาชน ส่งผลให้ 99% ของนักการเมืองเกาหลีที่พีเอสพีดีขึ้นบัญชีดำ ไม่ได้รับเลือกตั้ง มาจากกระบวนการตรวจสอบอย่างหนัก มุ่งสร้างรัฐที่มีความโปร่งใส มีกระบวนการยืนยันข้อมูลจากประชาชน ไทยสามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ ตามแนวทางที่พีเอสพีดีของเกาหลีเคยทำแล้ว โดยการระดมการจัดสัมมนาเพื่อเปลี่ยนทัศคติของประชาชน ที่คิดว่านักการเมืองก็สามารถโกงได้ เป็นความคิดที่ผิด เพราะการคอร์รัปชั่นกับการพัฒนาเศรษฐกิจไปด้วยกันไม่ได้

"10 ปีที่แล้ว คนเกาหลีเคยยอมรับนักการเมืองที่เก่งและโกงด้วย แต่ตอนนี้เชื่อว่าประชาชนยอมรับเรื่องนี้ไม่ได้เช่นเดียวกับคนไทย เแม้ปัญหาจริยธรรมของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน แต่ไทยจะต้องยกระดับมาตรฐานจริยธรรมนักการเมืองเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนไทยเริ่มตื่นตัวกับเรื่องดังกล่าว แต่หากไม่รีบดำเนินการเรื่องนี้คงแก้ปัญหาได้ยาก" นายปาร์ค กล่าว

นายปาร์ค กล่าวต่อว่า องค์กรภาคประชาชนในไทยสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ต้องเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทางสังคม ต่อต้านการคอร์รัปชั่นโดยผู้นำองค์กรต้องไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์นักการเมืองและรัฐบาล ต้องเป็นอิสระอย่างแท้จริง พีเอสพีดีของเกาหลีใต้มีรายได้หลักจากค่าสมาชิกขององค์กร คิดในอัตราขั้นต่ำ 10 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคน และมีรายได้จากการจัดกิจกรรมด้วย ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 8,000 คนทั่วประเทศ เชื่อว่าประเทศไทยสามารถทำได้เช่นกัน จะได้มีองค์กรที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพราะบริบทของปัญหาทั้งเกาหลีใต้และไทยเป็นบริบทที่เป็นปัญหาเดียวกัน จากการที่รัฐและภาคธุรกิจร่วมกันทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยไม่ต่างจากเกาหลี มีความสัมพันธ์เชิงพวกพ้องเกิดขึ้นมากในสภา

นายปาร์ค กล่าวอีกว่า พีเอสพีดีใช้จังหวะที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สื่อสารกับประชาชนในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยผลักดันให้ยกร่างกฎหมาย "เป่านกหวีด" ให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสการคอร์รัปชั่น ให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่คล้ายสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ทำหน้าที่เปิดเผยข้อมูลการคอร์รัปชั่นต่อประชาชน รวมถึงออกกฎหมายพิเศษให้เปิดเผยรายชื่อล็อบบี้ยีสต์ ในเกาหลีใต้ ข้าราชการเกษียณอายุแล้ว จะมารับจ้างเป็นล็อบบี้ยีสต์ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายจำกัดผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะเดียวกันมีการเปิดพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลการคอร์รัปชั่นบนเว็บไซต์ และรายงานความเคลื่อนไหวของรัฐสภาอย่างใกล้ชิด เน้นเสนอการดำเนินงานของ ส.ส. และแสดงการเปลี่ยนแปลงบัญชีทรัพย์สินของ ส.ส.ด้วย ข้อมูลดังกล่าวนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเลือกรัฐมนตรีเกาหลีใต้

นายปาร์ค กล่าวถึงกรณี 2 อดีตประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ถูกศาลพิพากษาตัดสินจำคุก และได้รับนิรโทษกรรมจากรัฐบาลภายหลังว่า เรื่องนี้มีความไม่เป็นธรรม แต่สะท้อนให้เห็นว่าประธานาธิบดีก็ติดคุกได้ แม้จะมีผลในทางปฏิบัติน้อยมาก ส่วนตัวมองว่าได้สร้างปรากฏการณ์ ความตื่นตัวทางการเมืองของภาคประชาชน ขณะนี้มาตรฐานจริยธรรรมของนักการเมืองดีขึ้นมาก แต่จะไม่หยุดตรวจสอบการคอร์รัปชั่นต่อไป

ด้านนายจรัส สุวรรณมาลา เลขานุการคณะทำงานร่วมของทั้ง 3 องค์กรที่ร่วมจัดงานครั้งนี้ กล่าวว่า พร้อมจะจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนคล้ายกับพีเอสพีดีของเกาหลีใต้ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สสส. มี พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นประธานคณะทำงานจัดตั้งองค์กรดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ระบุระยะเวลาแล้วเสร็จ
ัััััััััััั

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์