อ๋อย ซัด!! อย่าหมกมุ่นแต่ร่าง รธน.จนไม่สนการเลือกตั้ง

อ๋อย ซัด!! อย่าหมกมุ่นแต่ร่าง รธน.จนไม่สนการเลือกตั้ง

"อ๋อย" ซัด!! อย่าหมกมุ่นแต่ร่าง รธน.จนไม่สนการเลือกตั้ง

อย่าหมกมุ่นแต่เรื่องเดียวจนไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น

เท่าที่ติดตามความคืบหน้าของการร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาถึงแม้ยังคืบหน้าไม่มากนัก แต่จากประเด็นที่กำลังพิจารณาอยู่ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญทั้งสิ้นพบว่า คณะกรธ.ดูจะหมกมุ่นอยู่กับจุดมุ่งหมายเดิมๆที่มีมาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2549 และ ปี 2557 ต่อเนื่องเรื่อยมา คือ การหาทางป้องกันขัดขวางพรรคการเมืองที่เคยชนะการเลือกตั้งและเป็นรัฐบาลไม่ให้กลับมาเป็นรัฐบาลได้อีก นอกจากนั้นก็คือหาทางประดิษฐ์คิดค้นกลไกต่างๆที่มีไว้สำหรับจัดการกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งให้อยู่หมัด

ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างก็เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่เลวร้ายกว่าเดิม คือ การทำลายระบบพรรคการเมืองโดยรวมเพื่อไม่ให้สามารถตอบสนองความเรียกร้องต้องการของประชาชนด้วยการนำเสนอนโยบายในการเลือกตั้งได้ ควบคู่กับการหาทางให้คนนอกมาเป็นนายกฯโดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง

ฟังการอธิบายของคณะกรธ.ที่กุมบังเหียนอย่างใกล้ชิดโดยประธานกรธ.แล้วก็ เข้าลักษณะอ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ร่างใหม่นี้มีแนวโน้มที่จะมีเนื้อหาที่ไม่แตกต่างจากร่างของคณะกมธ.ก่อนหน้านี้ คือ ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด

เมื่อเห็นว่าระบบเลือกตั้งที่ให้นับคะแนนเฉพาะผู้ไม่ได้รับการเลือกตั้งเท่านั้นไปคำนวณจำนวนสส.แบบบัญชีรายชื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก คณะกรธ.ก็รีบเปลี่ยนเป็นให้นับทุกคะแนน แต่ระบบนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่ดี คือ จะเอาสัดส่วนคะแนนเสียงที่ประชาชนได้รับมากำหนดจำนวนที่นั่งในสภาของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการบิดเบือนหลักการของการเลือกตั้งแบบเขตละคนไปอย่างสิ้นเชิง

วิธีคำนวณอย่างนี้ จะทำให้เกิดสภาพที่พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากในระบบแบ่งเขตอาจกลายเป็นพรรคเสียงข้างน้อยในสภา ถ้าใช้ตัวเลขจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆมาคำนวณก็จะพบว่า พรรคที่เคยได้รับที่นั่งต่างกันมาก จะกลายเป็นสูสีกันทันทีและจะไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงข้างมาก พรรคขนาดกลางจะได้ประโยชน์มากขึ้นอย่างมากและจะมีอำนาจต่อรองมาก เพราะจะกลายเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะให้พรรคใหญ่พรรคใดเป็นรัฐบาลเอื้อต่อการที่คนนอกจะมาเป็นนายกฯ เพราะถ้าสร้างเงื่อนไต่อรองแกมบังคับพรรคขนาดเล็กขนาดกลางได้ก็สามารถกำหนดให้พรรคใหญ่ที่พร้อมสละตำแหน่งนายกฯให้ได้เป็นรัฐบาลได้

การอ้างว่าใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนนั้น ก็เป็นข้ออ้างที่ยกเมฆเอาดื้อๆ เพราะที่จริงแล้วประชาชนเข้าใจการเลือกตั้งที่มีบัตร 2 ใบและคุ้นเคยมานานแล้ว และการมีบัตร 2 ใบแยกกันระหว่างการเลือกแบบแบ่งเขตกับแบบบัญชีรายชื่อที่ใช้กันมานานแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นผลมากกว่าการให้มีบัตรใบเดียวซึ่งไม่มีเหตุผลและสับสนว่ากำลังให้ประชาชนเลือกอะไรกันแน่

ระบบเลือกตั้งแบบนี้ยังจะทำให้พรรคการเมืองเล็กๆเกิดได้ยากเนื่องจากต้องหาผู้สมัครแบบแบ่งเขตจำนวนมากเพื่อจะส่งให่ครบทุกเขตซึ่งในอดีตก็เคยทำกันมาแล้วและล้มเหลวกันมาแล้วเนื่องจากเกิดความสูญเปล่ามากมาย

ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงไม่เปลี่ยน คือ ยังต้องการหาทางป้องกันไม่ให้มีพรรคใดพรรคหนึ่งได้เสียงเกินครึ่ง ส่งเสริมให้พรรคขนาดกลางมีอำนาจต่อรองมากขึ้น และให้พรรคการเมืองจำเป็นต้องตั้งรัฐบาลผสมที่อาจจะต้องมีคนนอกเป็นนายกฯ ไม่ใช่เรื่องของการคำนึงถึงทุกคะแนนเสียงแต่อย่างใดเลย

ส่วนการที่คณะกรธ.มีข้อสรุปว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ใช่องค์กรอิสระ แต่จะอยู่ในหมวดศาลนั้น ดูจากที่แถลงเหมือนเป็นสิ่งใหม่ แต่ความจริงทั้งในรัฐธรรมนูญปี 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกคว่ำไปก็กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในหมวดศาลมาก่อนแล้วไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร

แต่ที่น่าเสียดายที่คณะกรธ.ไม่ได้พูดถึง คือ จะแก้ปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในอดีตได้อย่างไร ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยถูกมองว่าสามารถถูกแทรกแซงได้หรือไม่ก็เป็นองค์กรที่มีสังกัดไม่มีความเป็นกลาง ไม่เที่ยงธรรม บางครั้งก็เกิดการเลือกปฏิบัติ ขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเองหรือแม้แต่ตั้งตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ จนเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคมไทย ปัญหาเหล่านี้มาจากที่มาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องและยังเป็นเพราะการเป็นองค์กรที่ไม่มีใครตรวจสอบถ่วงดุลได้ แต่ปัญหาเหล่านี้กลับไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดหรือตั้งเป็นประเด็นเพื่อรับฟังความเห็นของสังคมบ้างเลย

สำหรับการที่คณะกรธ.จะให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตนั้น ถ้าทำจริงก็เป็นสิ่งที่ดี แต่เท่าที่ฟังดูแล้วกลับไม่เห็นการมองปัญหาอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด ถ้าจะทำกันจริงๆควรจะต้องรับฟังความเห็นหลายๆฝ่ายมากกว่านี้

อย่างไรก็ตามมีประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากๆในความเห็นของผมที่อยากจะฝากคณะกรธ.ไว้ให้ช่วยคิดและชี้แจงแก่สังคมไทยเสียก่อนที่จะทำอะไรต่อไป คือ อยากจะถามว่ากฎกติกาเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญก็ดี เกี่ยวกับองค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งระบบในการป้องกันปราบปรามการทุจริตก็ดี ที่ท่านกำลังโอ้อวดว่าจะดีนี้ จะใช้บังคับจริงเมื่อใดและอีกนานกี่ปี ที่ถามอย่างนี้ก็เพราะกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะใช้บังคับ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระทั้งหลาย จะมิถูกแต่งตั้งไปโดยระบบปัจจุบันซึ่งเป็นระบบที่ทุกฝ่ายอยู่ภายใต้อำนาจสูงสุดของคสช.ไปหมดแล้วหรือ ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเหล่านี้จะอยู่ในตำแหน่งไปอีกคนละกี่ปี ถ้าอยู่ไปจนครบวาระก็จะไม่หมายความว่า พวกเขาจะมาจากคนละระบบกับที่กรธ.กำลังออกแบบกันอยู่หรอกหรือ

ผมกำลังสงสัยว่าสิ่งท่านกำลังออกแบบอยู่ในเวลานี้ นอกจากไม่ดีจริงแล้วยังไม่ได้กำลังจะใช้จริงด้วย สิ่งที่ใช้จริงอาจเป็นสิ่งที่แย่ยิ่งกว่าที่ท่านกำลังออกแบบกันอยู่ใช่หรือไม่ ช่วยตอบผมทีเถอะครับ
...............
‪#‎คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ‬ ‪#‎จาตุรนต์‬ ฉายแสง

ที่มาจาก Chaturon Chaisang

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์