อุทธรณ์ไม่รับฟ้อง“พัชรวาท”ฟ้อง“มาร์ค”ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

อุทธรณ์ไม่รับฟ้อง“พัชรวาท”ฟ้อง“มาร์ค”ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

วันนี้ (12 มิ.ย.)ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.3638/2553 ที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.มอบอำนาจให้ทนายความเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

โดยคำฟ้องโจทก์สรุปว่า หลังจากจำเลยได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจกลั่นแกล้งโจทก์ทุกวิถีทาง เพื่อให้โจทก์พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากโจทก์ไม่ยอมสนองนโยบายตามความต้องการของจำเลย ทั้งยังสั่งให้โจทก์ลาพักร้อน 1 เดือน แต่โจทก์เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ จึงปฏิเสธ นอกจากนี้ จำเลยยังได้กลั่นแกล้งโดยสั่งให้โจทก์เดินทางไปราชการ 3 จังหวัดภาคใต้ด้วย ต่อมาวันที่ 7 ก.ย.52 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลโจทก์ในฐานะ ผบ.ตร.(ขณะนั้น) กับพวกร่วมกันสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามกลุ่มพันธมิตรประชาชนฯ ที่ชุมนุมปิดล้อมอาคารรัฐสภา เพื่อขัดขวางไม่ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี(ขณะนั้น) พร้อมคณะรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 ด้วยอาวุธร้ายแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่ง ป.ป.ช.ชี้มูลว่าโจทก์กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา จำเลยจึงรีบอาศัยอำนาจออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 200/ 2552 ลงวันที่ 9 ก.ย.52 ให้โจทก์ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พ้นจากอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ

กระทั่งวันที่ 18 ก.ย.52 ป.ป.ช.มีหนังสือชี้มูลความผิดโจทก์มาให้จำเลยจึงมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 228/ 2552 ลงวันที่ 19 ต.ค.52 สั่งปลดโจทก์ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.52 โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานและข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ กระทำผิดร้ายแรงให้ยกโทษแก่โจทก์และสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการ แต่จำเลยกลับมีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบประวิงเวลา ไม่ยอมดำเนินการให้เป็นไปตาม มติก.ตร. โดยอ้างต้องหารือประเด็นข้อกฎหมายกับกฤษฎีกาก่อน ทั้งที่คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า การดำเนินการตามมติ ก.ตร.เป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลย การกระทำของจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง เกียรติยศ เกียรติคุณ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่โจทก์พึงได้

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาศาลอุทธรณ์ประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 275 บัญญัติว่า กรณีนายกรัฐมนตรีกระทำผิดต่อตำแหน่ง ให้ศาลฎีกาแผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษา โดยโจทก์ได้กล่าวหาจำเลยกระทำผิดต่อตำแหน่งตามประมวลกฎหมายมาตรา 157 ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์ที่โจทก์จะต้องเรียกร้องกล่าวหาจำเลยต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เพื่อสืบสวนและดำเนินคดีต่อศาลฎีกา แผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 4 บัญญัติว่านับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้ ห้ามมิให้ศาลอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคดีไว้พิจารณา จึงชอบแล้ว พิพากษายืน


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์