อีสานโพล ชี้ เสียงสนับสนุนอภิสิทธิ์ ลดลงทุกด้าน

วันนี้ (30 มี.ค.54) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน(ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

เผยผลสำรวจเรื่อง “เสียงสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลของชาวอีสาน”จากกลุ่มตัวอย่าง 613 ราย พบเสียงสนับสนุนรัฐลดลงทุกด้าน   คาดผลกระทบจากความไม่พอใจการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ  รวมทั้งปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล
 
อาจารย์ประเสริฐ  วิจิตรนพรัตน์  หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล  ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER)  

เปิดเผยว่า  การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ทราบความคิดเห็นของชาวอีสานต่อการทำงานของรัฐบาลในด้านต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการปรับมาตรการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม   ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการสำรวจเสียงสนับสนุนรัฐบาลอย่างต่อเนื่องรวม 8 ครั้ง  และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9  ซึ่งทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 613 ราย  ในเขตพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด 19 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร และอำนาจเจริญ   สำรวจระหว่างวันที่ 25-27 มีนาคม 2554   ผลสำรวจมีดังนี้ 
 
ด้านการทำงานในภาพรวม  พบว่ากลุ่มตัวอย่างคนอีสานให้การสนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 55 และไม่สนับสนุนร้อยละ 45 

ในขณะที่  ด้านการเมือง มีเสียงสนับสนุนร้อยละ 39 และไม่สนับสนุน ร้อยละ 61  ส่วนด้านเศรษฐกิจ  เสียงสนับสนุนร้อยละ 48 และไม่สนับสนุนร้อยละ 52 สุดท้ายคือ  ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม  สนับสนุนร้อยละ 58  และไม่สนับสนุน ร้อยละ 42 



ทั้งนี้   เมื่อเทียบสถิติเสียงสนับสนุนกับช่วงที่ผ่านๆมา จะพบว่าเสียงสนับสนุนรัฐบาลในไตรมาสแรกปี 2554 

มีแนวโน้มลดลงในทุกๆ ด้านเมื่อเทียบกับปลายปี 2553  เริ่มจากด้านการทำงานภาพรวม  เสียงสนับสนุนลดลงจากครั้งที่ผ่านมาที่เคยได้ร้อยละ 58  เหลือร้อยละ 55  ในครั้งนี้   ส่วนด้านการเมือง  เสียงสนับสนุนก็ลดลงจากเดิมร้อยละ 40  เป็นร้อยละ 39  ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ  เสียงสนับสนุนลดลงจากเดิมร้อยละ 56 เป็นร้อยละ 48  และด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม  ลดลงจากเดิมที่ได้ร้อยละ 65 เป็นร้อยละ 58 ในครั้งนี้ 


“ จากการพิจารณาความคิดเห็นเพิ่มเติมของกลุ่มตัวอย่างประกอบกับผลสำรวจเสียงสนับสนุนรัฐบาลที่ลดต่ำลงในทุกๆ ด้าน  โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น  เป็นเพราะชาวอีสานมองว่ารัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องราคาสินค้าแพงและค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม  นอกจากนี้  หลายความเห็นยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมอย่างจริงจังมากขึ้นด้วย”  อาจารย์ประเสริฐกล่าว

สำหรับผลการสำรวจข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง  พบว่า  ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย  ร้อยละ 52  และเพศหญิง ร้อยละ 48   โดยมีอายุเฉลี่ย  40- 49 ปี มากที่สุด ร้อยละ 26  รองลงมาคือ 20-29 ปี  ร้อยละ 23  อายุ 30-39 ปี ร้อยละ 20  อายุ 50-59 ปี ร้อยละ 19   อายุ 60 ปีขึ้นไป  ร้อยละ 7  และอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 5 
 
การศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่ได้เรียนหนังสือ/ประถมศึกษา  มากที่สุด  ร้อยละ 31  รองลงมาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 28 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ร้อยละ 15 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ  13  ระดับอนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 8  ระดับปริญญาโท ร้อยละ 4 และปริญญาเอก ร้อยละ 1
 
ด้านอาชีพ  กลุ่มตัวอย่างอาชีพเกษตรกรรม  มากที่สุด ร้อยละ 24 รองลงมารับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 19  อาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 16 อาชีพรับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 14  นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 12  พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 7  พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 6 และอื่นๆ ร้อยละ 2
 
ในส่วนของรายได้  กลุ่มตัวอย่างมีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท
มากที่สุด ร้อยละ 36 รองลงมามีรายได้ 5,001-10,000 บาท  ร้อยละ 28  รายได้  10,001-15,000 บาท ร้อยละ 14 รายได้ 20,001-40,000 บาท ร้อยละ 11 รายได้ 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 6 และมากกว่า 40,000 บาทขึ้นไป ร้อยละ 5


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์