อีกช่องทางโกงเพื่อชาติ? 30 บิ๊กโปรเจ็กต์แสนล้าน! ปิดฉากระบอบทักษิณ

ผ่านมา 3 เดือนกับการปฏิวัติของคณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย


อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. นำโดย พลเอกสนธิ บุญยกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จนส่งไม้ต่อให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพ ด้วยเหตุผลของการปฏิวัติรัฐประหารที่เน้นการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่รัฐบาลใหม่ต้องทำการสะสางเร่งด่วน

แต่ 3 เดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ากลไกการตรวจสอบทุจริตมีความล่าช้า และการตรวจสอบทุจริตที่เกิดขึ้นยังไม่ครอบคลุมการทุจริตที่เกิดขึ้นใน 5 ปี ของการบริหารงานของรัฐบาล

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะการประมูลแบบวิธีพิเศษ หรือการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ที่ยังไม่มีการพูดถึง!
การประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ นี้มีวงเงินเข้าไปหมุนเวียนอยู่ในนั้นจำนวนมาก เพราะส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับโครงการเมกกะโปรเจกของรัฐบาล ที่สำคัญคือ การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษนี้ เนื่องจากต้องการความคล่องตัวเป็นหลัก รวมทั้งจากข้ออ้างว่าโครงการเหล่านี้ถ้าไม่รีบดำเนินการจะมีความเสียหาย โครงการต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนหนึ่งรัฐบาลจะใช้วิธีให้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยอาศัยรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของโครงการ เพราะหากรัฐบาลเป็นเจ้าของโครงการและต้องของบประมาณนั้นจะต้องทำตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งยุ่งยากกว่ากันมาก

โครงการที่ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษนี้ จึงมีปรากฏในหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องมีระบุอยู่ในแผนงบประมาณประจำปี บางโครงการก็ไม่ใช้วิธีการประมูล แต่ใช้การต่อรองเป็นหลัก ที่น่าเกลียดก็คือบางโครงการถึงกับ มี TOR ตามหลังก็มี



สุวรรณภูมิจัดซื้อจัดจ้างพิเศษแทบทุกโครงการ


เห็นได้ชัดสุด ต้องขุดโครงการที่เกี่ยวข้องกับสนามบินสุวรรณภูมิขึ้นมาดูทั้งหมด เพราะมีการใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษที่ต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก และยังผิดสังเกตในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะเป็นนายกรัฐมนตรีเองด้วย ว่าทำไมจึงต้องเร่งให้มีการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ถึงขนาดต้องไปตั้งเต้นท์นอนที่บริเวณก่อสร้าง และทำไมต้องกำหนดระยะเวลาเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิหลายครั้งหลายครา เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2549

เมื่อไม่สามารถสร้างได้ทันก็เปลี่ยนเป็นเดือนมิถุนายน 2549 โดยประกาศว่าใช้สนามบินสุวรรณภูมิรับรองพระราชอาคันตุกะก็ไม่สำเร็จ ต้องเปลี่ยนเป็น กรกฎาคม 2549 ก็ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการสนามบินสุวรรณภูมิได้ จนมาเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน 2549

การประกาศกำหนดระยะเวลาเส้นตายของโครงการใหญ่ ๆ แบบนี้ แม้กระทั่งเสนาะ เทียนทอง อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทย ได้กล่าวไว้ในหนังสือ "รู้ทันทักษิณ 4" ว่า "ใช้วิธีที่เก่งที่สุด คือ ยกเว้นระเบียบพิเศษ ยิ่งใช้วิธีขีดเส้นตาย ว่าจะต้องเสร็จวันนั้นวันนี้ เหมือนกับที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็เพื่อจะได้อ้างในการใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ"


ค่าโง่ 2,000 ล้านจ่าย CTX


แหล่งข่าวในวงการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นวงการราชการ กล่าวว่า โครงการที่ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างพิเศษที่เด่นชัดที่สุดในสนามบินสุวรรณภูมิ ได้แก่การจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยกำหนดว่า จะเร่งรัดโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ โดยให้ติดตั้งเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด CTX 9000 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 กันยายน 2548 ทำให้ต้องมีการตรวจรับงาน 28 กันยายน 2548 พร้อมกล่าวด้วยว่ารับงานวันเดียวก็สามารถเปิดใช้งานได้เลย

การกำหนดเส้นตายการติดตั้งเครื่องตรวจรับวัตถุระเบิด CTX ครั้งนี้ กลายเป็นข้ออ้างการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องจับวัตถุระเบิด CTX แบบพิเศษ แบบ Variation Order โดยเปิดให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดของสัญญาเพิ่มเติมภายหลัง เป็นการสั่งเปลี่ยนแปลงตามหน้าสนามก่อสร้าง เปลี่ยนแปลงงาน ค่าจ้าง หลีกเลี่ยงคณะกรรมการราคากลางและการกำหนดราคากลางเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดวิธีเหมาจ่ายทั่วไปแบบ Lumsum Turnkey ที่ไม่ต้องมีการประมูล ไม่มีการกำหนดราคากลาง และไม่มีการกำหนด TOR ด้วยทำให้การจัดซื้อจัดจ้างระบบสายพานลำเลียงและเครื่องตรวจจับระเบิด CTX 9000 ดังกล่าว ที่มีมูลค่าสูงถึง 4,335 ล้านบาท เป็นมูลค่าที่ทำให้รัฐต้องจ่ายเงินซื้อในราคาแพงกว่าปกติกว่า 2,000 ล้านบาทในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีพิเศษนี้เอง



ต่อมาเป็นกรณีแอร์พอร์ทลิงก์ 26,000 ล้านบาท ซึ่งมีการให้รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ตั้งแต่กระทรวงคมนาคม บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บทม. บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการค้ำประกันทางการเงินให้กับการรถไฟเพื่อสนับสนุนการกู้เงินของเอกชนด้วย

โครงการนี้ถือเป็นบิ๊กโปรเจคอีกอันหนึ่งที่มีข้อสงสัยว่าน่าจะมีผลประโยชน์มหาศาล เพราะนอกจากจะเป็นโครงการที่เชื่อมต่อกับ โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิแล้ว ยังเป็นโครงการที่เชื่อมอยู่กับโครงการรถไฟฟ้า 7-10 สายหลักที่รัฐบาลก่อนมีแนวคิดที่จะเชื่อมระบบคมนาคมขนส่งทั่วกรุงเทพเข้าด้วยกัน

โครงการดังกล่าวมีปัญหาที่สำคัญคือความล่าช้าจากแผนเดิม รวมทั้งความโปร่งใสในการอนุมัติงบประมาณ สาเหตุสำคัญคือโครงการนี้ขณะมีการอนุมัติให้มีการประมูลก่อสร้างโครงการนั้น ไม่มีการออกแบบรายละเอียด เรียกว่าเป็นโครงการแบบ "ดีไซน์แอนด์บิวท์" ทำให้มีการแก้ไขแบบหลายครั้ง และล่าช้า นอกจากนี้บริษัทรับเหมายังอ้างว่าบริษัทขาดสภาพคล่อง

ทำให้รฟท.ตัดสินใจทำสัญญาให้รฟท.จ่ายค่าธรรมเนียมทางการเงินจำนวน 1.6 พันลานบาทให้บริษัท บีกริม อินเตอร์เนชั่นแนล และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เป็นคู่สัญญาให้กับสถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้กู้กับบริษัทรับเหมา ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วผู้รับเหมาจะต้องรับผิดชอบทั้งโครงการตามสัญญาการทำโครงการแบบเทิร์นคีย์ แถมรฟท.ยังออกหนังสือรับรองการชำระคืนค่าธรรมเนียมการเงิน ซึ่งเป็นการจ่ายก่อนงานเสร็จด้วย



"การกู้เงินนี้ปกติธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมในอัตรา 2.5% ของวงเงินกู้ คือเงินแค่ 600 ล้านบาท แต่โครงการแอร์พอร์ตลิงค์นี้กลับมีการคิดค่าธรรมเนียมสูงถึง 6.5% ของวงเงินกู้ คือ 1,600 ล้านบาท เป็นค่าธรรมเนียมเงินกู้ที่สูงผิดปกติ แถมกิจการร่วมค้าบีกริม ซิโน-ไทย ซีเมนต์ได้เบิกเงินงวดแรกคือค่าธรรมเนียมการจัดการเงินกู้จำนวน 1,600 ล้านบาทไปแล้ว แต่มีการจ่ายให้เจ้าหนี้คือธนาคารกสิกรไทยแค่ 600 ล้านบาทเท่านั้น"

ที่สำคัญ เมื่อดูผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ยังมีแต่คนนามสกุล "ชาญวีรกูล" ที่ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้แต่งตั้ง อนุทิน ชาญวีรกูล ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2547 ด้วย


รถเข็นสุวรรณภูมิห่วย-ผิดสังเกตอื้อ


ต่อมาเป็นการประกวดราคาประมูลงานรถเข็นกระเป๋าในสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่าโครงการรวม 532.86 ล้านบาท บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งปกติแล้ว ทอท.จะใช้วิธีจัดซื้อรถเข็นมาเป็นเจ้าของเอง และทอท.มีนโยบายออกมาแล้วในเดือนกันยายน 2548 ที่จะซื้อรถเข็นโดยตรง และจ้างเอกชนมาดำเนินการจัดเก็บรักษาให้ แต่เพียงแค่ 1 เดือนในวันที่ 14 ตุลาคม 2548 กลับมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย โดยทอท.ได้เปลี่ยนวิธีโดยให้มีการจ้างบริษัทจัดหารถเข็น พร้อมบริหารจัดการการเก็บรถ ซ่อมบำรุง หรือเปลี่ยนใหม่

ทำให้แม้ว่าในงวดแรกจะมีการจ่ายเงินในราคาถูก แต่จะกลายเป็นรายจ่ายผูกพันนานถึง 7 ปี แถมยังผิดสังเกตที่กิจการร่วมค้า พีเจที เสนอมอบรถเขช็นกระเป๋า ยี่ห้อ Wanzl จากเยอรมัน ที่มีฐานการผลิต 7 แห่งทั่วโลก สามารถผลิตได้มากกว่า 1.7 ล้านคันต่อปี ซึ่งสนามบินใหญ่ ๆ จากทั่วโลกนิยมใช้ โดยกิจการร่วมค้าพีเจทีนี้เสนอให้ฟรี เพียงแต่ขอสิทธิการหารายได้จากโฆษณาบนรถเข็นเท่านั้น แต่ ทอท.ไม่เอา และตัดสินใจซื้อรถเข็นและบริการในราคา 534 ล้านบาท แถมใน TOR ยังระบุให้บริษัทที่ประมูลได้จัดพื้นที่โฆษณาได้อีกด้วย

โครงการประมูลโครงการให้บริการระบบไฟฟ้า 400Hz และระบบปรับอากาศ PC AIR เพื่อใช้ในท่าอากาศยานภูเก็ตและเชียงใหม่ และในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการนี้มีการประมูลมากถึง 3 ครั้ง แต่ถูกยกเลิกไป 2 ครั้ง ซึ่งผลจากการประมูล ได้บริษัทไทยแอร์พอร์ต ฟาซิลิตี้ จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล แต่มีข้อน่าสงสัยคือบริษัทแอร์พอร์ต ฟาซิลิตี้ เป็นบริษัทที่ไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับประสบการณ์ทำงานด้านระบบไฟฟ้า 400Hz และระบบปรับอากาศ PC AIR เลย แถมไม่มีความน่าเชื่อถือเพราะเริ่มต้นมีทุนจดทะเบียนแค่ 1 ล้านบาทและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง 22 ข้อ

ก็ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการประกอบกิจการให้บริการระบบไฟฟ้า และเพิ่งมีการกำหนดวัตถุประสงค์ใหม่และเพิ่มทุนเป็น 100 ล้านบาท ภายหลังที่ ทอท.ส่งหนังสือเชิญชวนไป ส่วนทอท.ยังมีข้อพิรุธในการประมูลงานที่ทอท.มีการตัดเงื่อนไขใน TOR ที่ระบุคุณสมบัติผู้ยื่นให้มีประสบการณ์เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี โดยตัดระยะเวลา 3 ปีออกไปด้วย


คลังสินค้าสุวรรณภูมิ 8 หมื่นล้าน


โครงการคลังสินค้าสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่า 80,000 ล้านบาท มีทอท.เป็นเจ้าของโครงการ ก็ใช้วิธีประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างพิเศษเช่นเดียวกัน เพื่อให้ก่อสร้างเสร็จทันเวลาที่กำหนด โดยบริษัทดับบลิวเอฟเอสพีจีคาร์โก้ จำกัด เป็นผู้ประมูลได้ ขณะที่บริษัทผู้แพ้ประมูลคือบริษัท ไทย แอร์พอร์ต กราวด์เซอร์วิส จำกัด หรือ TAGS ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ทอท.เอง มีภารกิจหลักในการบริหารคลังสินค้าในสนามบินดอนเมืองกลับไม่ได้รับการคัดเลือก ทั้ง ๆ ที่ TAGS เสนอผลตอบแทนกับรัฐมากกว่าบริษัทที่ชนะการประกวดราคาด้วย

นอกจากนี้ก็ยังมีโครงการที่ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษอีกหลายโครงการ เนื่องจากเส้นตายที่กำหนดว่าต้องเปิดใช้สนามบินวันนั้น วันนี้ ทำให้ต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาก่อสร้างให้แล้วเสร็จทันเวลา ได้แก่ โครงการก่อสร้างโรงแรมในสนามบินสุวรรณภูมิ โดย ทอท. เป็นเจ้าของโครงการ มีมูลค่าโครงการ 2,004 ล้านบาท,โครงการ คาร์ปาร์ค 300 ล้านบาท,โครงการจัดซื้ออุปกรณ์เรดาร์ ของหอบังคับการบินในสนามบินสุวรรณภูมิ 1,000 ล้านบาท,โครงการติดตั้งระบบไอทีบริเวณคลังสินค้าปลอดภาษี 695 ล้านบาท,โครงการรถบริการรับส่งผู้โดยสารสุวรรณภูมิ หรือลิมูซีน มีวงเงินค่าเช่ารถสูงถึง 2,651 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าจ้างพนักงานบริการประจำเคาเตอร์ ค่าน้ำมันแต่ละเดือนจำนวน 380 คัน ค่าจ้างบริษัทบริหารจัดการ

โครงการลีมูซีนนี้ แม้ว่าสนามบินสุวรรณภูมิจะมีการเลื่อนเป็นปี ๆ และลิมูซีนเคยมีบริการแล้วที่ดอนเมือง แต่กลับมีการเร่งรัดการจัดจ้างก่อนเปิดสนามบินเพียงไม่กี่วัน ทำให้มีการแข่งขันกันน้อยมาก โดยจากผลสำรวจพบว่าค่าเช่ารถยังแพงกว่าราคาซื้อ โดยเฉพาะรถยนต์ญี่ปุ่น มีค่าเช่าสูงกว่าราคารถ 5-6 เท่าตัว ซ้ำยังทำให้เกิดความวุ่นวายในฐานผูกขาดด้วย

นอกจากนี้ยังมีโครงการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดย ทอท.เป็นผู้ให้สัมปทานจำนวน 25,000 ตารางเมตร โดยมีบริษัทคิง เพาเวอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทเอกชนรายเดียวที่เป็นผู้สัมปทานจาก ทอท. ซึ่งถือเป็นการผูกขาด และมีความไม่โปร่งใสในการประมูลโครงการหนึ่งเพราะคิงพาว์เวอร์เองได้รับเชิญเข้าเป็นคณะกรรมการร่วมในการกำหนด TOR ทั้ง ๆ ที่มีฐานะเป็นผู้ประมูล แถมราคาที่ประมูลได้ยังแสนถูก คือเช่าตารางเมตรละ 1,000 บาทต่อเดือน และให้ 15% จากยอดขายของร้านดิวตี้ฟรี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทางดิวตี้ฟรีเป็นคนนำเสนอทอท. ซึ่งถูกสังคมสงสัยว่าอาจไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง ทั้งนี้รวมแล้วยังถือว่าเป็นค่าเช่าที่ถูกมาก เพราะคิงพาวเวอร์สามารถหารายได้ในเวลา 10 ปี เป็นจำนวนมหาศาล แถมยังมีสิทธิในการบริหารค่าเช่าพื้นที่โฆษณาในบริเวณที่เช่าได้อีกด้วย


หน่วยราชการซ้ำรอยสุวรรณภูมิ


นี่เป็นเพียงตัวอย่างโครงการใหญ่ ๆ ที่ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษในสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น แต่เนื่องจากเมื่อมีหลักการแบบนี้ออกมา ได้ทำให้หน่วยราชการต่าง ๆ ดำเนินรอยตามวิธีที่มีช่องต่อการทุจริตแบบใหม่นี้กันอย่างเป็นเรื่องปกติ

ที่ฮือฮามาก ก็คือการซื้อที่ดินกองทุนฟื้นฟูของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร บนถนนรัชดาติดกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ในราคา 772 ล้านบาท ซึ่งมีข้อสังเกตหลายประการที่อาจจะนำไปสู่การฮั้วกับบริษัทผู้ประมูลด้วยกัน และมีการเร่งอนุมัติเพื่อหลีกจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนและจ่ายราคากลางเปลี่ยนแปลงไปสูงกว่าราคาเดิม 20%ด้วย

นอกจากนี้ก็มีโครงการไฟฟ้าเอื้ออาทร ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. จำนวนเงิน 3,270.11 ล้านบาท ที่กฟภ.มีการเพิ่มเติมข้อความเงื่อนไขประกวดราคาผิดจากความหมายเดิม และจัดจ้างในราคาสูงกว่ารายที่เสนอราคาต่ำสุดรวมเป็นเงินมากกว่า 112.84 ล้านบาท,โครงการเช่าเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ จำนวน 20,000 เครื่อง ระยะเวลา 5 ปี ของบริษัททศท. คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) วงเงิน 1,518 ล้านบาท ในสมัย นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งบริษัทที่ได้รับการประมูลก็มีการเสนอราคาสูงกว่าอีกบริษัทหนึ่ง,

ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็มีโครงการประมูลกล้ายางพารา 90 ล้านต้น 1,440 ล้านบาท โครงการ CENTRAL LAB 1,950 ล้านบาท 2 โครงการนี้ยุค เนวิน ชิดชอบ เป็นรมว. ที่ถือเป็นโครงการที่ได้รับการกล่าวหาว่าน่าจะมีการทุจริตทุกขั้นตอนมากที่สุดโครงการหนึ่ง,การสร้างภาพลักษณ์กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น



โดยกระทรวงอุตสาหกรรม งบประมาณ 80 ล้านบาท,ส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็มีหลายโครงการที่มีพิรุธ คือโครงการโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อใช้ควบคุมระบบจราจร หรือ CCTV ของกองพลาธิการและสรรพวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลค่า 350 ล้านบาท ก็ไม่น้อยหน้าใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษเพื่อเร่งรัดเช่นเดียวกัน ไม่มีการแข่งขันด้านราคา เพราะคุณสมบัติที่ระบุไว้ทำให้คู่แข่งคืออีก 3 บริษัทถูกปรับตกเรื่องเทคนิค,โครงการจัดซื้อกระสุนปืนกลเล็กแบบ 08 ขนาด 5.56 ม.ม.วงเงิน 864,000 บาท ซึ่งภายหลังพบว่ากระสุนปืนดังกล่าวไม่ได้มาตรฐาน คือกระสุนปืนด้าน,

ส่วนหน่วยงานทหาร มี 2 โครงการใหญ่ ได้แก่ จัดซื้อโดยวิธีพิเศษปืนใหญ่ อัตตาจร 155 มม./52 คาลิเบอร์ วงเงิน 25.8 ล้านยูโร หรือประมาณ 1,305,408,000 ล้านบาท โดยกรมสรรพาวุธทหารบก โดยมีการเร่งรีบเร่งด่วนเสนอของบประมาณก่อหนี้ผูกพันจากครม.โดย พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.กลาโหมขณะนั้น โดยโครงการนี้พบว่ามีเหตุส่อว่ามีการล็อคสเปก ,และการจัดซื้อเสื้อเกราะกันกระสุน ปี 2546 งบประมาณ 32 ล้านบาท ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดี

ด้านกระทรวงสาธารณสุข ก็มี 2 โครงการดังที่สังคมกำลังจับตาอยู่ คือโครงการจัดซื้อรถพยาบาลระดับสูง 402 ล้านบาท และโครงการจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์เพื่อบริหารข้อมูลข่าวสารด้านการเงินการคลังและข้อมูลโรงพยาบาล 912 ล้านบาท นอกจากนี้ก็ยังมีโครงการประมูลงานโฆษณาของกระทรวงสาธารณสุข งบปี 2545 และการจ้างบริษัทเพื่อจัดทำการประชาสัมพันธ์โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคจำนวน 399 ล้านบาท ที่บริษัทที่ชนะการประกวดราคาคือบริษัทเอสซีแมสบ๊อก จำกัด ที่มีบรรณพจน์ ดามาพงษ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นกรรมการด้วย

นอกจากนี้ก็มี ถุงรับขวัญเด็กแรกเกิด ราคาประมาณ 430บาทต่อถุง จำนวน 150,000 ถุง ที่มีบริษัทรับจ้างเพียงไม่กี่บริษัท,โครงการเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ อารยธรรมล้านนาและ 5 ประเทศ ปี 2547 โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย,การสร้างตึก 9 ชั้นจังหวัดในภาคกลาง 60 ล้านบาท ฯลฯ


ซุกตามกระทรวงอีกเพียบ


อย่างไรก็ดี โครงการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษทั้งหมด 30 โครงการนี้ มีจำนวนงบประมาณที่ต้องใช้ไปมากถึง 133,319.682 ล้านบาท เป็นเพียงโครงการแค่ส่วนหนึ่ง ที่รัฐบาลทักษิณ ได้จัดให้มีขึ้น ยังมีหลายโครงการที่ซุกอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งถ้านับรวมกันแล้วคงจะมีจำนวนเงินงบประมาณมหาศาลกว่านี้ ดูอย่างการของบเพิ่มปลายปี 2544 เพียงปีเดียว ยังมีการเสนอของบประมาณจากครม. เฉพาะโครงการที่จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษประมาณ 2,800 ล้านบาทด้วย

จึงไม่น่าแปลกใจหาก ปีสุดท้ายของการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี ทำไมถึงมีข่าวรัฐบาลถังแตกทุกวัน ขณะที่ประสิทธิผลที่ได้มา เกือบทุกโครงการใหญ่ ๆ จึงเป็นโครงการที่สมควรจะทบทวนใหม่แทบทั้งสิ้น!?

**************


รมต.ฉาวยอมรับเสื่อมเสีย


อดีตรัฐมนตรี พันคดีฉาวยอมรับหนักใจ กระแสสังคมกดดัน-เสื่อมเสียตั้งแต่ยังไม่ถูกชี้มูลความผิด แกนนำทรท.เตรียมฟ้องกลับศาลรธน.หากสั่งเว้นวรรค 5ปี

ในระหว่างที่การพิจารณาคดีทุจริตหลายสิบโครงการที่ถูกคณะกรรมการตรวจสอบความเสียหายต่อทรัพย์สินของแผ่นดิน (คตส.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ตั้งข้อสังเกตว่าเข้าข่ายกระทำทุจริต คอร์รัปชั่น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 3 เดือนนั้นได้สร้างแรงกดดันให้กับองค์กรซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยิ่งนานวันความคืบหน้า ความชัดเจนของความผิดต่างๆยังไม่มีการชี้มูลเอาผิดกับอดีตนักการเมืองรายใดได้ ยิ่งทำให้ทั้งคตส.และป.ป.ช.ทำงานอยู่ท่ามกลางความคาดหวังของสังคมอย่างหนัก และดูเหมือนผลพวงดังกล่าวนี้เองได้ส่งแรงกระทบไปยังคมช.และรัฐบาลใหม่ให้ออกมาตอบคำถามต่อสังคมว่า ข้อหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นที่นำมาใช้ยึดอำนาจจากรัฐบาลชุดที่แล้ว มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?

อย่างไรก็ตามต้องถือว่าแรงกดดันต่างๆที่เกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ฝ่ายขั้วอำนาจใหม่ในฐานะผู้บริหารประเทศต้องแบกรับเท่านั้น แต่ในเวลาเดียวกันบรรดาอดีตนักการเมือง อดีตรัฐมนตรีที่มีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้อง ทั้งในฐานะกำกับดูแลและมีส่วนในการทุจริต ต่างตกอยู่ในความหวาดวิตกไม่น้อย ไม่เว้นแม้แต่ อดีตผู้นำผลัดถิ่น อย่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกตั้งเป้าให้เป็นมูลเหตุหลักของการยึดอำนาจครั้งนี้ ที่มีชื่อเข้าไปพัวพันหลายต่อหลายคดี

รวมทั้งพวกพ้องและที่สำคัญการตรวจสอบคดีทุจริตรอบนี้ยังมี คนใกล้ตัว ทั้งภรรยา และลูกๆมีชื่อถูกเรียกตัวให้ชี้แจงคดีสำคัญต่อคณะอนุกรรมการฯชุดต่างๆของคตส.และป.ป.ช. ประเด็นเหล่านี้ด้านหนึ่งอาจทำให้เสมือนเป็นเครื่องมือบีบไม่ให้เกิดความเคลื่อนไหวจากขั้วอำนาจเก่า ในลักษณะคลื่นใต้นำ หรือสร้างความเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ต้องยอมรับเช่นกันว่าสิ่งเหล่านี้กำลังกดดันให้นักการเมืองบางคน บางกลุ่ม เลือกออกมาตอบโต้และไม่ยอมจำนน...



การมอบหมายให้นพดล ปัทมะ ทำหน้าที่เป็นทั้งทนายความส่วนตัว จัดการคดีความต่างๆ รวมทั้งเป็นทนายแก้ต่าง ในข้อหาและประเด็นที่สร้างความเสียหายหรือทำให้ อดีตนายกฯทักษิณ สูญเสียโอกาสและชื่อเสียง ย่อมไม่ใช่เรื่องของความพยายามที่จะมี "ตัวตน"ของคนอย่างพ.ต.ท.ทักษิณ เพียงเท่านั้น แต่ยังต้องการที่จะเปิดศึกสงครามจิตวิทยาข้ามประเทศเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคมช.

" โดยส่วนตัวแล้วสนับสนุนให้ตรวจสอบและเอาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้ ใครผิดก็ต้องว่ากันไปตามนั้น แต่เวลานี้มันผ่านมา 3 เดือนแล้วทั้งคตส.และป.ป.ช.ยังไม่สามารถเอานักการเมืองมารับผิดได้เลยสักรายเดียว ยังไม่สามารถหาใครที่จะมาร้องทุกข์กล่าวโทษได้เลยสักรายเดียว

หากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไปในอีก 3 เดือน6 เดือนข้างหน้า ก็คงจะเกิดปัญหากับตัวคมช.เอง เพราะคมช.ต้องตอบให้ได้ว่า ที่อ้างเรื่องความชอบธรรมในการยึดอำนาจนั้นจริงหรือไม่"


อดีตรัฐมนตรีจากพรรคไทยรักไทย ระบุกับผู้จัดการรายสัปดาห์ เชื่อว่ายังมีรัฐมนตรีอีกหลายคนที่มีชื่อเข้าไปพัวพันกับคดีทุจริตต่างๆที่กำลังถูกตรวจสอบเวลานี้ย่อมรู้สึกอึดอัดใจ เนื่องจากแม้คณะกรรมการชุดต่างๆจะยังไม่ชี้มูลความผิดออกมา แต่เมื่อมีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็จะเสียหายไปแล้ว โดยที่ยังไม่ได้มีการชี้แจงใดๆทั้งสิ้น

และนอกจากคดีทุจริตต่างๆที่กำลังสร้างความกดดันให้บรรดานักการเมือง และรัฐมนตรี แล้วต้องยอมรับว่า "คดียุบพรรค"ที่รอการพิจารณาจากตุลาการรัฐธรรมนูญ ในราวต้นปีหน้า ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญกับนักการเมืองไม่น้อย ว่าหากมีการตัดสินให้พรรคไทยรักไทยถูกยุบจริง อาจจะได้เห็นนักการเมืองบางคนแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ออกมาชัดเจน

"ถ้ามีการสั่งยุบพรรคจริง คงต้องถามกลับไปว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และผู้ที่ใช้อำนาจมีความชอบธรรมหรือไม่ โดยส่วนตัวแล้ว ถ้าจะมาสั่งตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีก็จะต้องต่อสู้ให้ถึงที่สุด อาจจะยื่นฟ้องร้องกันต่อไป"

ขณะที่ความเคลื่อนไหวทางด้านพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ส่งสัญญาณผ่านทนายความส่วนตัวมาอย่างต่อเนื่อง แสดงความจำนงขอกลับบ้าน ทั้งทางตรงและทางอ้อม มาโดยตลอด ซึ่งแต่ละครั้งที่พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งสัญญาณก็ยิ่งเป็นการสร้างความกังวลแก่คมช.และรัฐบาล ล่าสุดหลังคตส.ชี้มูลความผิด จาก 2คดี "ซีทีเอ็กซ์-ที่ดินรัชดาฯ" ระบุว่าพ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดทั้งสองเรื่อง ยิ่งเหมือนเป็นจังหวะดีที่อดีตนายกฯทักษิณ จะฉวยโอกาสขอกลับบ้านเกิด หลังจากที่ต้องระหกระเหินมานานกว่า 3 เดือน...

*************


คตส.-ป.ป.ช.เร่งเช็คบิลคดีโกงส่งท้ายปี


กลไกปราบโกงเร่งตรวจสอบทุจริตส่งท้ายปีเก่า "ซีทีเอ๊กซ์-ที่ดินรัชดาฯ-เลี่ยงภาษี" หวังฟันคนใกล้ตัว "ทักษิณ"แต่โดนพลิกเกมกลับ "เอม-โอ๊ค"ยื้อให้ปากคำต้นปีหน้า จับตา "ซุกหุ้นภาค2" "แม้ว"จะรอดได้อีกหรือไม่?

"ผมอยากจะร้องไห้ ที่เห็นบ้านเมืองผมเป็นอย่างนี้ บ้านเมืองเราถ้าเป็นอย่างนี้จะเหลือแต่กระดูก เพราะฉะนั้นต้องอาศัยทุกท่าน ต้องกล้าหาญลุกกันขึ้นมา ต้องช่วยกันอย่านิ่งเฉย"

ถ้อยคำข้างต้นของพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)ที่ได้กล่าวเปิดใจต่อหน้าบรรดามวลชนของหน่วยบัญชาการกำลังสำรองทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2549 ที่ผ่านมานั้นเสมือนเป็นการสะท้อนภาพประเทศไทยหลังผ่านการบริหารงานของรัฐบาล"ทักษิณ" มายาวนานกว่า 5 ปีได้อย่างน่าหดหู่ใจเป็นที่สุด ซึ่งหลายคนเคยเปรียบเปรยความเสียหายที่เกิดขึ้นในบ้านเรานั้น คล้ายคลึงกับประเทศฟิลิปปินส์ที่เคยเกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันมาแล้ว

ความเสียหายที่ประธานคมช. พล.อ.สนธิ ได้กล่าวถึงนั้นเป็นผลมาจากการรับทราบรายงานการทำงานจาก คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) ที่กำลังดำเนินการตรวจสอบการทุจริตในโครงการต่างๆ รวมกว่า 10 โครงการ รวมทั้งการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

(ป.ป.ช.)ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ทั้งนี้มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งด้านตัวเลขจนถึงเวลานี้อาจยังไม่สามารถประมาณการณ์ออกมาได้อย่างชัดเจนก็ตาม ยังพบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับระบบการทำงานของหน่วยงานและองค์กรต่างๆได้ถูกทำลายไปด้วยเช่นกันด้วย



อย่างไรก็ตามโครงการต่างๆที่อยู่ในระหว่างการตรวจสอบของทั้งคตส.และป.ป.ช. ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 3 เดือนนี้พบว่าหลายคดีสามารถ "ชี้มูล" ความผิดกับอดีตรัฐมนตรีได้แล้ว ขณะที่ยังมีอีกหลายคดีที่ยังคงทำให้บรรดากองเชียร์ข้างสนามพากันลุ้นแล้วลุ้นอีก..!

สำหรับคดีที่อยู่ในความสนใจและถือว่ามีความคืบหน้ามากที่สุดคดีหนึ่ง คือกรณีคณะอนุกรรมการตรวจสอบกรณีการซื้อขาย หุ้น ชิน คอร์เปอร์เรชั่น ระหว่างพานทองแท้ กับพิณทองทา ชินวัตร กับบริษัทแอมเพิล ริช ที่คณะอนุกรรมการฯได้มีมติชี้มูลความผิดและเรียกให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าให้การชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการฯ ทั้งสิ้น 3 คนประกอบด้วย พานทองแท้ พิณทองทา และกาญจนาภา หงษ์เหิน คนรับใช้ แต่ปรากฏว่าทั้ง 3ได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการฯออกไปในราวกลางเดือนม.ค.2550 ทั้งหมด

ทั้งนี้ตามระเบียบแล้วสามารถส่งหนังสือเลื่อนได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งหากยังไม่มาอีกทาง คตส.จำเป็น ต้องดำเนินการตามช่องทางของกฎหมายต่อไป

นอกจากนี้คตส.ยังได้พิจารณา "ชี้มูล"ความผิดทางอาญากับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรณีการจัดซื้อเครื่องซีทีเอ๊กซ์ 9000 รวมทั้งสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรมว.คมนาคม และบุคคลอื่นรวม 22 ราย เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2549 ที่ผ่านมา

โดยผลสรุปการทุจริตในโครงการได้แยกสัญญาออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.สัญญาจัดซื้อจัดจ้างออกแบบและปรับเปลี่ยนระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและสัมภาระผู้โดยสาร และเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ระหว่างบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) และกิจการร่วมค้าไอทีโอ


คณะอนุกรรมการฯได้ตรวจพบช่องทางการทุจริต จากส่วนต่างๆได้แก่


1.มติคณะกรรมการ บทม. ส่อพิรุธเปิดช่องให้มีการทุจริต
2.การจ้างวิศวกรอิสระตรวจรับรองแบบ ซึ่งบทม.ละเลยที่จะจ้างบริษัท เอเอสไอ เป็นผู้ตรวจรับรองแบบ กลับไปว่าจ้างบริษัท ควอโทรเทค ที่เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแทน และละเลยไม่ตรวจสอบฐานะการเงินของควอโทรเทค
3.การคิดส่วนต่างราคาสายพานลำเลียงฯเป็นจำนวนเงินที่สูงผิดปกติ
4.การคิดส่วนต่างราคาเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 ซึ่งมีลักษณะสูงกว่าความเป็นจริง
5.การซื้อเครื่องตรวจละอองวัตถุระเบิดเกินความจำเป็น
6.จัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งเครื่องเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดที่มุ่งจะเลือกรูปแบบซีทีเอ็กซ์ให้มากความของความปลอดภัยของสนามบิน

สำหรับสัญญาที่ 2 เป็นสัญญาจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 จากบริษัท จีอี อินวิชั่น โดยตรง มีการตรวจสอบใน 2 ประเด็น

1.การทำนิติกรรมการอำพรางเพื่อช่วยเหลือกิจการร่วมค้าไอทีโอ และบริษัท แพทริออต บิซิเนส คอนซัลแตนส์ เพื่อไม่ให้ได้ชื่อเป็นผู้ประพฤติผิดสัญญาและไม่ต้องชดเชยค่าเสียหาย

2.การทำสัญญาซื้อในราคาสูงเกินจริง

กรณีการซื้อที่ดินของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ย่านรัชดาภิเษก เป็นหนึ่งในรายการที่ถูกคตส.ตรวจสอบ ทนายความส่วนตัวระบุว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เกี่ยวข้องเพราะไม่มีอำนาจควบคุมหรือสั่งการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้ โดยก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ของคตส. ได้สรุปว่าพ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิดร่วมด้วยกับคุณหญิงพจมาน เนื่องจากขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ ถือเป็น "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" รวมทั้ง "คู่สมรส" ก็อยู่ในข่าย "ต้องห้าม" ตามมาตรา 100 (1)(3)ของกฎหมายป.ป.ช.ด้วยเช่นกัน ซึ่งตามกฎหมายห้ามมิให้ดำเนินการมีส่วนได้ส่วนเสียกับหน่วยงานของรัฐ ที่ผู้นั้นเป็นเจ้าหน้าที่กำกับดูแล อยู่

ทั้งในขั้นตอนต่อไปทางคณะอนุกรรมการฯของคตส.ต้องเร่งประสานไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง และกองทุนเพื่อนการฟื้นฟูฯให้มา "ร้องทุกข์กล่าวโทษ" จากนั้นจึงจะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน และคาดว่าจะใช้เวลารวบรวมข้อมูลหลักฐานส่งให้อัยการฟ้องได้ ไม่เกินเดือนก.พ.ปีหน้า

ทางด้านคดีที่ถือได้ว่ามีการสั่งลงดาบเอาผิดผู้เกี่ยวข้องที่มีความชัดเจนมากที่สุด คือกรณีที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชพลเรือน (อ.ก.พ.)กระทรวงการคลัง มีมติให้ไล่ออกข้าราช 5 ราย ประกอบด้วย ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร วิชัย จึงรักเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) สุจินดา แสงชมภู สรรพากรภาค 10 โมรีรัตน์ บุญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ กุลฤดี แสงสายัณห์ นิติกร 8 ว.

ตามที่คณะกรรมการป.ป.ช. ชี้มูลว่าทั้ง 5 คน มีความวินัยอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ฐานทุจริตต่อหน้าที่ ละเว้นไม่เก็บภาษี จากบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่ได้รับโอนหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์แอนด์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จากคุณหญิงพจมาน มูลค่ากว่า 738 ล้านบาท เมื่อปี 2540 และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 มาตรา 157

อย่างไรก็ตามจากนี้ไปอีก 3 เดือนสังคมคงต้องคอยรอลุ้นรัฐบาลชุดนี้จะสามารถตรวจสอบการทุจริตและนำคนผิดมาลงโทษได้อย่างน้อย 4-5 เรื่องตามที่ประธานคมช.ได้ให้สัญญาเอาไว้เมื่อกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาได้หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่อง "คดีซุกหุ้นภาค2" ที่มีโจทก์เก่าพ.ต.ท.ทักษิณ อย่างกล้านรงค์ จันทิก หนึ่งในกรรมการคตส.รอลงดาบหลังจาก "ซุกหุ้นภาค1" พ.ต.ท.ทักษิณ เอาตัวรอดมาได้อย่างหวุดหวิด...

**************


ขอขอบคุณ


ข้อมูลที่มีคุณภาพจาก ผู้จัดการ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์