อัยการไม่ฎีกาหญิงอ้อ-บรรณพจน์

'โฆษกอัยการ'แถลง'อัยการสูงสุด'มีคำสั่งไม่ฎีกาคดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ เห็นพ้องตามคำพพิพากษาศาลอุทธรณ์ทุกประเด็น ยันไม่มีใครวิ่งเต้น


 สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก เวลา 11.00 น. นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมคณะร่วมกันแถลงข่าวการพิจารณาฎีกา คดีเลี่ยงภาษีหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฎีกาทั้งในส่วนที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้อง คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 2-3 และที่ให้รอลงอาญา นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธาน บมจ.ชินคอร์ป ฯ และพี่ชายบุญธรรม คุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 1 โดยอัยการสูงสุดเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทุกประเด็น

นายธนพิชญ์ โฆษกอัยการ กล่าวถึงรายละเอียดความเห็นของอัยการสูงสุดว่า
 
1.ประเด็นความผิดของนายบรรณพจน์ จำเลยที่ 1 ข้อหาหลีกลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) นั้น พบว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้องแล้ว เพียงแต่ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษใหม่ซึ่งให้รอการลงโทษไว้นั้น อัยการเห็นว่าเป็นการใช้ดุลพินิจเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว เนื่องจากความรับผิดในทางอาญาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร เป็นเพียงมาตรการที่ใช้เสริมการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษจำคุกผู้ที่ไม่ยอมชำระภาษี หรือชำระไว้ไม่ถูกต้องอันมีพื้นฐานมาจากความรับผิดทางแพ่งแต่อย่างใด จึงเห็นว่ากรณีไม่มีเหตุที่จะฎีกาในประเด็นนี้อีก

            
2.ประเด็นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องคุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา จำเลยที่ 2-3 ในความผิดฐานร่วมกับนายบรรณพจน์ จำเลยที่ 1 หลีกเลี่ยงการเสียภาษี ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 37(2) นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 ประสงค์จะยกหุ้นของตนในบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีชื่อ น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี เป็นผู้ครอบครองอยู่ ในแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพี่ชายจำนวน 4.5 ล้านหุ้นโดยทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แม้ศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นการอำพรางเพื่อไม่ต้องชำระภาษี แต่ในชั้นพิจารณา พยานโจทก์ปากนายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด ได้เบิกความว่า ในตลาดหลักทรัพย์มีตัวแทนถือหุ้นแทนเจ้าของที่แท้จริงเป็นจำนวนมากเนื่องจากไม่มีกฎหมายห้าม และได้ให้คำแนะนำว่าหากต้องการโอนหุ้นที่ตัวแทนถืออยู่ให้แก่บุคคลอื่น ต้องทำเป็นการซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ และในชั้นพิจารณายังได้ความอีกว่าจำเลยที่ 1 และน.ส.ดวงตา ได้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ไว้ก่อนเกิดเหตุนานแล้ว และบัญชีดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวซื้อขายหุ้นมาโดยตลอด เจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และ 3 ที่ต่อสู้ว่า ตนเข้าใจว่าการยกหุ้นให้ต้องทำเป็นการซื้อขาย เพราะหุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นที่ทำการซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยทำเช่นนั้นมาแล้ว และไม่มีฝ่ายใดทักท้วง ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นว่า จำเลยที่ 2 และ3 มีพฤติการณ์ใดๆ ที่ส่อให้เห็นว่ามีเจตนาร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ในการหลีกเลี่ยงภาษี การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 และ 3 จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

            
3.ประเด็นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนายบรรณพจน์ และคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 1- 2 ในความผิดฐานร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ หรือถ้อยคำเท็จตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) นั้น เนื่องจากศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้เจ้าพนักงานประเมิน ไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 และ 2 ได้ให้ถ้อยคำกับเจ้าพนักงานที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1)

            
นอกจากนั้น ศาลอุทธรณ์ยังวินิจฉัยในเนื้อหาคดีว่า การที่จำเลยที่ 1-2 ได้ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมินว่า จำเลยที่ 2 โอนหุ้นให้จำเลยที่ 1 แต่ทำเป็นซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น เป็นการให้ถ้อยคำตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและมีอยู่จริง เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมายืนยันให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1-2 ให้แก่เจ้าพนักงานประเมินนั้น เป็นความเท็จอย่างแน่ชัด เพราะไม่เคยมีอยู่จริง และไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่เป็นการเสกสรรปั้นแต่งข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ จึงยังไม่อาจฟังยุติว่าเป็นความเท็จ เพียงแต่มีน้ำหนักเชื่อถือได้น้อยเท่านั้น ประกอบกับพยานโจทก์ปาก นาย ช.นันท์ เพ็ชญไพศิษฐ์ และนางเบ็ญจา หลุยเจริญ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของกรมสรรพากร ที่จำเลยที่ 1-2 เคยให้ถ้อยคำไว้และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นการให้ถ้อยคำเท็จนั้น ต่างก็ไม่ได้เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงเลยว่า ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1-2 ให้ไว้แก่ตนนั้นเป็นเท็จ จึงเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรฎีกาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในประเด็นนี้เช่นกัน

            
นายธนพิชญ์ โฆษกอัยการสูงสุด กล่าวต่อว่า ในการพิจารณาฎีกานั้นก็ได้นำความเห็นแย้งของประธานศาลอุทธรณ์ ที่มีเห็นว่าไม่สมควรรอลงอาญา นายบรรณพจน์ มาพิจารณาแล้ว โดยอัยการเห็นว่ามาตรการกฎหมายสรรพากรต้องการภาษีซึ่งจำเลยได้เสียภาษีถูกต้องทุกอย่าง ขณะที่มาตราลงโทษคดีอาญาเป็นมาตรการเสริม ส่วนที่ทนายความของนายบรรณพจน์ จำเลยที่ 1 อาจจะยื่นฎีกา อัยการก็ต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่าสมควรจะแก้ฎีกาหรือไม่ เพราะบางคดีบางครั้งอัยการก็ไม่ได้ยื่นแก้ฎีกาถ้าเห็นว่าไม่เป็นสาระ

            
เมื่อถามว่า เป็นเรื่องที่ขัดแย้งหรือไม่ที่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้งสามแล้ว อัยการก็ไม่โต้แย้งว่าคำพิพากษานั้นชอบหรือไม่ และเมื่อศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องและให้รอลงอาญาจำเลย อัยการก็มีความเห็นด้วยที่ไม่ยื่นฎีกาอีก นายธนพิชญ์ โฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า อัยการมีหน้าที่ตรวจสอบคำพิพากษาของศาลอยู่แล้ว ถ้าถูกต้องเราก็เห็นด้วย หากไม่ถูกต้องก็ต้องดำเนินการอุทธรณ์ หรือฎีกา ต่อไป เรื่องนี้ก็เป็นการตรวจสอบดุลพินิจธรรมดาว่าทำไมศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับจากศาลชั้นต้น หรือทำไมศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

            
“เมื่อพิจารณาแล้วว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีเหตุมีผล อัยการสูงสุดก็เห็นด้วย ไม่ใช่ว่าเราต้องไม่ฎีกา หรือไม่อุทธรณ์ทุกเรื่อง ก็มีหลายๆ เรื่องที่เราเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ ” โฆษกอัยการสูงสุด กล่าว            

            
เมื่อถามถึงกระแสข่าวเรื่องการวิ่งเต้นให้พิจารณาไม่ยื่นฎีกาคดีนี้ นายธนพิชญ์ โฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า เรื่องวิ่งเต้นนั้นถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ อย่างนี้มันเป็นเรื่องยาก ยืนยันเลยว่าไม่มีการวิ่งเต้น โดยตลอดเวลาการทำงานของอัยการพิจารณาที่พยานหลักฐาน เหตุผล และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ปรากฏในสำนวน ไม่ใช่ปรากฏนอกสำนวน

            
ต่อข้อถามที่ถึงการติดตามตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า อัยการได้เชิญแกนนำ นปช. และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง และนายจักรภพ เพ็ญแข ที่ประเทศกัมพูชา ในการร่วมเตะฟุตบอลกระชับมิตร เพื่อมาสอบถามข้อมูลในการติดตามตัวบ้างหรือไม่ นายธนพิชญ์ โฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า ปกติการขอตัวส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ต้องมีต้นเรื่องส่งมาที่สำนักงานอัยการสูงสุด จากหน่วยงานที่มีอำนาจจับกุม ออกหมาย ว่าผู้ที่จะติดตามมีที่อยู่ที่ไหน อย่างไร โดยอัยการสูงสุดจะทำหน้าที่ในฐานะผู้ประสานงานกลาง ดำเนินการต่อไป อัยการไม่ใช่ต้นเรื่อง

              
“ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการติดตามหาที่อยู่ และหมายจับอยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของอัยการสูงสุด อัยการสูงสุดเป็นแค่ผู้ประสานงานกลาง อัยการไม่ได้เพิกเฉยในเรื่องนี้ ” โฆษกอัยการ กล่าว




เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์