อันดามันป่วนหนักแผ่นดินไหว31ครั้งอพยพวุ่นโวยรัฐไม่เตือนคนบ้านน้ำเค็มผวาสึนามิ

อันดามันป่วนหนักแผ่นดินไหว31ครั้งอพยพวุ่นโวยรัฐไม่เตือนคนบ้านน้ำเค็มผวาสึนามิ

ก้นสมุทรอันดามันแปรปรวนหนัก เกิดแผ่นดินไหวขนาดตั้งแต่ 4.0-5.3 ริคเตอร์ ถึง 31 ครั้งในรอบ 48 ชั่วโมง ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติประกาศเตือนภัยจับตาใกล้ชิด หวั่นกระตุ้นภูเขาไฟใต้น้ำบึ้มจนเกิดสึนามิ วอนเรือประมง-เรือพาณิชย์แจ้งความผิดปกติท้องทะเล "ปลอดประสพ" ชี้น่าห่วงอยู่ห่างระนองแค่ 400 กม. แต่เชื่อยังมีเวลาอพยพเกิน 40 นาที ขณะที่ชาวอันดามันโวยทางการไม่แจ้งเตือน คนบ้านน้ำเค็มผวา ขณะที่ระนองเตรียมอพยพคน เช่นเดียวกับสตูลเตือนชาวบ้าน 4 อำเภอระวังตัว

+++++++++++++++

ฝันร้ายจากเหตุธรณีพิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่ม 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 อาจจะกลับมาทำร้ายคนไทยอีกครั้ง เมื่อศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติออกประกาศเตือนภัยแผ่นดินไหวผิดปกติในท้องทะเลอันดามันเมื่อเช้าวันที่ 11 มีนาคม

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติออกประกาศเตือนภัยด่วนที่สุด ถึงผู้บัญชาการกองทัพเรือ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ และผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุทุกแห่ง ให้ติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติอย่างใกล้ชิด เนื่องจากระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคมนี้ เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลอันดามัน ห่างจากชายฝั่ง จ.ระนอง ไปทางตะวันตก 400-600 กิโลเมตร โดยวัดขนาดความสั่นสะเทือนได้ตั้งแต่ 4.0-5.3 ริคเตอร์ จำนวน 31 ครั้ง ถือว่าแผ่นดินไหวมีจำนวนมากค่อนข้างผิดปกติ

จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเกิดบริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกที่มีลักษณะเป็นเทือกเขาก้นสมุทรมีการแยกตัวจากกันของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งบางครั้งอาจมีหินหลอมเหลวแทรกตัวดันขึ้นมาตามรอยต่อดังกล่าว และเหตุของแผ่นดินไหวอาจเกิดจากการที่มีหินหลอมเหลวแทรกดันขึ้นมา หรือเกิดจากการเคลื่อนตัวกระทบกันของแผ่นเปลือกโลก

ทั้งนี้อาจเป็นสาเหตุของการเกิดภูเขาไฟใต้น้ำแห่งใหม่ หากมีการระเบิดขนาดใหญ่และรุนแรงก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดคลื่นสึนามิ หรือแผ่นดินไหวดังกล่าวอาจเป็นตัวชี้ให้เห็นว่า ภูเขาไฟใต้น้ำบาห์เรน ซึ่งอยู่ห่างจากแนวรอยเลื่อน 110 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากประเทศไทย 670 กิโลเมตร อาจจะเกิดการระเบิดขึ้นได้ในอนาคต ทั้งสองกรณีนี้อาจจะก่อให้เกิดการกระทบอย่างรุนแรงถึงประเทศไทยได้ จึงขอให้ประชาชนติดตามการแจ้งเตือนเรื่องแผ่นดินไหวในทะเลอันดามันครั้งนี้จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติอย่างใกล้ชิด

ปลอดประสพชี้มีเวลา 40 นาทีอพยพ

นายปลอดประสพ สุรัสวดี ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ถือว่ามีความถี่ของการเกิดจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย คือ เกิดถึง 31 ครั้งในรอบ 48 ชั่วโมง และตำแหน่งที่เกิดขึ้นยังอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล จ.ระนองด้วย คือ ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ระหว่างหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ ซึ่งเป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกและมีเทือกเขาอยู่ที่ก้นสมุทร

"เราคาดการณ์ว่า อาจจะมีหินหลอมเหลวแทรกดันหรือเกิดภูเขาไฟใต้น้ำ จนส่งผลให้อาจจะเกิดคลื่นสึนามิได้ รวมถึงอีกส่วน คือ ภูเขาไฟใต้น้ำบาห์เรนที่ยังมีการคุกรุ่นอยู่ และอยู่ห่างจากแนวรอยเลื่อนไป 110 กิโลเมตร หรือห่างจากประเทศไทย 670 กิโลเมตร หากเกิดการเขย่าของแผ่นเปลือกโลกแรงๆ อาจทำให้ภูเขาไฟลูกนี้ระเบิดขึ้นจนทำให้เกิดคลื่นสึนามิ จึงขอแจ้งให้เรือประมง หรือเรือพาณิชย์ที่อยู่ในบริเวณทะเลอันดามันช่วยกันสังเกตความผิดปกติในท้องทะเล เช่น มีฟองน้ำพุ่งขึ้นมา สีของน้ำทะเลเปลี่ยนไป หรือมีกลิ่นฟอสฟอรัส หรือก๊าซไข่เน่า รวมถึงพฤติกรรมของสัตว์ทะเลที่ผิดปกติ ขอให้แจ้งมายังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1860 หรือแจ้งหน่วยราชการที่รับผิดชอบ ผ่านระบบวิทยุสื่อสาร หรือโทรศัพท์ดาวเทียมโดยด่วน" นายปลอดประสพ กล่าว

ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวอีกว่า โอกาสที่จะเกิดเป็นคลื่นสึนามิมีน้อยมาก แต่เพื่อความไม่ประมาท ช่วงนี้จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดฝั่งทะเลอันดามันติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งจะแจ้งเตือนทุกๆ 12 ชั่วโมง

"หากพบว่าจะเกิดคลื่นสึนามิ ศูนย์พร้อมจะแจ้งเตือนในทันที ซึ่งทุกคนจะมีเวลาอพยพหนีไม่น้อยกว่า 40 นาที จึงขอให้สบายใจได้ว่า ทุกคนจะปลอดภัย" นายปลอดประสพ กล่าว

กรมอุตุฯ แจ้งแผ่นดินไหว 5 ฉบับ

ก่อนหน้านี้ กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือน เรื่องแผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะอันดามัน ประเทศอินเดีย มาแล้วถึง 5 ฉบับ ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม โดยฉบับแรกแจ้งเตือนว่า เมื่อเวลาประมาณ 22.19 น. วันที่ 9 มีนาคม (ตามเวลาในประเทศไทย) เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.1 ริคเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่บริเวณหมู่เกาะอันดามัน ประเทศอินเดีย หรือที่ละติจูด 11.54 องศาเหนือ ลองจิจูด 95.10 องศาตะวันออก ลึก 33 กิโลเมตร เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย ฉบับที่ 2 แจ้งเตือนว่า เมื่อเวลา 11.43 น. วันที่ 10 มีนาคม เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.3 ริคเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่บริเวณหมู่เกาะอันดามัน หรือที่ละติจูด 10.74 องศาเหนือ ลองจิจูด 94.27 องศาตะวันออก ลึก 30 กิโลเมตร ในเบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย ข้อสังเกตสำหรับแผ่นดินไหวบริเวณนี้ คือ เริ่มเกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง (ขนาดประมาณ 4-5 ริคเตอร์บ่อยครั้งขึ้น) ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาจะเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ฉบับที่ 3 แจ้งเตือนว่า เมื่อเวลา 19.04 น. วันที่ 10 มีนาคม เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.0 ริคเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่บริเวณหมู่เกาะอันดามัน หรือที่ละติจูด 10.79 องศาเหนือ ลองจิจูด 94.46 องศาตะวันออก ลึก 50 กิโลเมตร และไม่มีรายงานความเสียหาย และมีข้อสังเกตว่า เริ่มเกิดแผ่นดินไหวขนาด 4-5 ริคเตอร์บ่อยครั้งขึ้น ฉบับที่ 4 แจ้งเตือนว่า เมื่อเวลา 03.04 น. วันที่ 11 มีนาคม เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.9 ริคเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่บริเวณหมู่เกาะอันดามัน หรือที่ละติจูด 10.21 องศาเหนือ ลองจิจูด 94.03 องศาตะวันออก และยังไม่มีรายงานความเสียหาย

ฉบับที่ 5 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด เป็นประกาศเรื่อง แผ่นดินไหวบริเวณตอนใต้ของเกาะฟิจิ เมื่อเวลา 10.04 น. วันที่ 11 มีนาคม เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.8 ริคเตอร์ มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเตอนใต้ของเกาะฟิจิ หรือที่ละติจูด 22.41 องศาเหนือ ลองจิจูด 178.43 องศาตะวันออก เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย

หอเตือนภัยฯ ภูเก็ตพร้อมทำงาน

นายอรุณ เกิดสม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงความคืบหน้าในการก่อสร้างเสาสัญญาณเตือนภัยทั้ง 18 ต้น ใน จ.ภูเก็ต ว่า ขณะนี้มีการติดตั้งและทดสอบการเชื่อมสัญญาณกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติแล้ว ทั้งที่สวนสาธารณะสะพานหิน อ่าวฉลอง แหลมตุ๊กแก หาดราไวย์ อ่าวยนต์ หาดกะตะ หาดกะรน หาดกมลา หาดในยาง หาดบางเทา หาดไม้ขาว อ่าวปอ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อเช้าวันที่ 11 มีนาคม สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในการเตรียมความพร้อมการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ

นายอรุณ กล่าวว่า มั่นใจว่าเมื่อเกิดเหตุคลื่นสึนามิขึ้นจะสามารถเตือนประชาชนอพยพได้ทันท่วงทีเวลา นอกจากเสาสัญญาณเตือนภัยแล้ว ยังมีการเชื่อมสัญญาณกับหอกระจายข่าวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จเช่นกัน ทั้งหมดเป็นแผนรองรับการอพยพหนีภัยสำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยไว้เรียบร้อยแล้ว จึงอยากขอให้ทุกคนให้ความสำคัญกับการเตือนภัยและการอพยพ แต่ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินไป

นายมนต์ชัย สุขมูล เจ้าหน้าที่สถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดพังงา ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติแล้วว่า เกิดเหตุสั่นสะเทือนขึ้นในทะเลอันดามัน แต่ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ที่บ่งว่าจะเกิดคลื่นสึนามิ จึงได้เฝ้าสังเกตการณ์และรอฟังความเคลื่อนไหวจากหน่วยเหนือ และยังไม่ได้ประสานไปยังจังหวัด แต่หากมีเหตุการณ์ใดๆ เชื่อว่า ศูนย์ภัยพิบัติจะแจ้งเตือนมายังหอเตือนภัยขทั้ง 16 จุดใน จ.พังงาได้ทันท่วงทีแน่นอน

คนอันดามันโวยรัฐไม่แจ้งเตือน

อย่างไรก็ตาม เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนบางกลุ่มที่ไม่ได้รับรู้การเตือนภัยด้วย นางลลิตา พันธุ์วิชาติกุล เจ้าของโรงแรมกระบี่ มารีไทม์ ในฐานะนายกสมาคมโรงแรมกระบี่ เปิดเผยว่า จนถึงตอนนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดยังไม่ได้รับการแจ้งเตือนที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลย ทั้งที่ถือเป็นสิ่งเปราะบางในความรู้สึกของประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่อันดามันมาก

"สมาคมกำลังประสานกลุ่มผู้ประกอบการบนเกาะพีพี รวมถึงอ่าวนาง ให้เตรียมพร้อมและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำรอยเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่ผ่านมาอีก" นายกสมาคมโรงแรมกระบี่ กล่าว

ด้านนายไมตรี จงไกรจักร ผู้ประสานงานเครือข่ายฟื้นฟูผู้ประสบภัยอันดามันและผู้ดูแลศูนย์อพยพบ้านบางม่วง กล่าวว่า ชาวบ้านกว่า 500 คน อพยพจากหมู่บ้านน้ำเค็มไปอยู่ที่ศูนย์บางม่วงจนแน่นขนัดทันทีหลังทราบข่าว ส่วนใหญ่มาด้วยอาการและท่าทีตื่นตระหนก ทิ้งบ้านช่องเพราะทุกคนผวาว่าจะเกิดเหตุเหมือนเมื่อครั้งสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547

"ชาวบ้านทราบข่าวจากโทรทัศน์เมื่อตอนเที่ยง ขณะที่จังหวัดยังไม่มีประกาศเตือนภัยหรือมีสัญญาณอะไรแจ้งให้เตรียมพร้อมเลย ถือว่าช้ามาก ทั้งที่เกิดแผ่นดินไหวมาหลายวันแล้ว" นายไมตรี กล่าว และว่า เจ้าหน้าที่ได้นำรถกระบะรับเด็กและคนสูงอายุให้ไปพักในที่ปลอดภัยแล้ว รวมทั้งได้นำโทรโข่งออกประกาศขอให้ทุกคนตั้งสติ อย่าลุกลี้ลุกลนจนเกิดอุบัติเหตุได้เหมือนครั้งที่ผ่านมา

"ชาวบ้านจะรวมตัวกันอยู่ในจุดที่ปลอดภัยจนกว่าจะมีประกาศยืนยันว่าสถานการณ์กลับสูงภาวะปกติจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ" ผู้ประสานงานเครือข่ายฟื้นฟูผู้ประสบภัยอันดามัน กล่าว

อย่างไรก็ดี มีรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 14.30 น. ชาวบ้านที่อพยพจากบ้านน้ำเค็มทยอยกลับไปยังบ้านพักของตัวเองแล้ว

นายธรรมธนกฤณ์ หาญช้าง ชาวบ้านหมู่ 2 ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง อยู่ห่างทะเลประมาณ 500 เมตร กล่าวว่า หลังทราบข่าวได้ออกมาสังเกตการณ์บนเนินสูงหน้าบ้าน เพราะครั้งที่ผ่านมาตนอยู่บนที่ดังกล่าวจึงปลอดภัย ยอมรับว่า ไม่วางใจหอเตือนภัยมากนัก เพราะไม่มั่นใจในระบบว่าจะใช้ได้จริงหากเกิดเหตุขึ้นมาจริงๆ

นายชัย ชาวบ้านน้ำเค็มรายหนึ่ง กล่าวว่า ไม่ได้ตกใจแต่รู้สึกว่าการออกข่าวของทีวีบางช่องทำไม่เหมาะสม คือ สร้างความแตกตื่นทั้งๆ ที่หอเตือนภัยยังไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนใดๆ

"หากทีวีออกข่าวแบบนี้บ่อยๆ อาจทำให้ให้คนช็อกตายได้ เพราะหลายคนก็ยังไม่ลืมภาพเหตุการณ์สึนามิครั้งนั้น หากข่าวลักษณะนี้ออกมามากเกินไป จะไม่เป็นผลดีแน่นอน" นายชัย กล่าว

ระนอง-สตูลสั่งเตรียมอพยพคนจุดเสี่ยง

ที่ จ.ระนอง นายบรรจง ช่วยชู หัวหน้ากิ่งอำเภอสุขสำราญ กล่าวว่า ทันทีที่ทราบข่าวก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ออกประกาศแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ 3 หมู่บ้านที่เคยประสบเหตุสึนามิทราบ ได้แก่ หมู่ 1 บ้านกำพร่วน และบ้านทะเลนอก หมู่ 2 บ้านกำพร่วน หาดประภาส และหมู่ 7 หาดทรายขาว

"ชาวบ้านในหมู่บ้านบางมัน ต.นาคา กิ่ง อ.สุขสำราญ แจ้งว่า พบรอยแยกของแผ่นดินด้วย เราได้เข้าไปตรวจสอบและสั่งเตรียมเคลื่อนย้ายชาวบ้านไปอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว" นายบรรจง กล่าวและว่า ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยเตรียมพร้อมตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว

ด้านนายมานิตย์ วัฒนเสน ผู้ว่าฯ สตูล กล่าวว่า เบื้องต้นประกาศเตือนและให้เจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่แจ้งให้คนในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ทุ่งหว้า อ.ท่าแพ และ อ.ละงู เตรียมพร้อมและติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด

ประมง-ชาวเลเฝ้าระวังทางทะเล 24 ชม.

นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ ประธานสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ กล่าวว่า หลังทราบข่าวศูนย์เตือนภัยพิบัติได้ประสานงานไปยังเครือข่ายต่างๆ ให้เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมอพยพหากเกิดกรณีฉุกเฉิน โดยกำชับเครือข่ายให้แจ้งข้อมูลไปยังญาติพี่น้องที่นำเรือประมงออกนอกชายฝั่งให้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลและสัตว์ทะเลอย่างใกล้ชิดเพื่อแจ้งข้อมูลให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติทราบด้วย

"ขณะนี้ยังไม่พบข้อมูลที่ผิดปกติ แต่กลุ่มชาวประมงที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยใกล้ทะเลขอให้เตรียมพร้อมอพยพเด็กและคนชราไปอยู่ที่ปลอดภัยชั่วคราว พร้อมทั้งจัดทีมเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าสังเกตการณ์ทางทะเลในจุดอันตรายที่เคยประสบภัยสึนามิเพื่อรายงานสถานการณ์ด้วย" นายสะมะแอ กล่าว

ภูเก็ต-ตรังนักท่องเที่ยวทำตัวปกติ

นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าฯ ภูเก็ต กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติว่า ขณะนี้จังหวัดยังไม่ได้ประกาศเตือนให้ประชาชนอพยพ หรือเปิดสัญญาณเตือนภัยแต่อย่างใด เพราะความแรงแผ่นดินไหวยังอยู่ในระดับ 5 ริคเตอร์กว่าๆ เท่านั้น แต่ได้สั่งให้เฝ้าติดตามข่าวจากศูนย์เตือนภัยพิบัติอย่างใกล้ชิด และสั่งการให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเตรียมความพร้อมตลอดเวลา และประกาศให้ประชาชนคอยติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักท่องเที่ยวที่บริเวณชายหาดป่าตอง ใน จ.ภูเก็ต ซึ่งเคยเผชิญกับคลื่นยักษ์สึนามิในครั้งที่ผ่านมานั้น ยังคงมีนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำและทำกิจกรรมบริเวณชายหาดตามปกติ โดยไม่มีปัญหาใดๆ ยกเว้นผู้ประกอบการร้านค้าที่อยู่บนฝั่งทราบข่าวจากสถานีโทรทัศน์ ก็แตกตื่นบ้างพอสมควร โดยมีบางส่วนเก็บรวบรวมข้าวของเตรียมพร้อม แต่ยังไม่ถึงกับมีการปิดร้านแต่อย่างใด

นายเชิดพันธ์ ณ สงขลา ผู้ว่าฯ ตรัง กล่าวว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เบื้องต้นไม่พบว่ามีชาวบ้านแตกตื่นอพยพใดๆ พร้อมไม่ได้มีสัญญาณเตือนจากหอเตือนภัยดังขึ้น แต่ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปแจ้งเตือนผู้ที่อาศัยอยู่บนเกาะและริมชายฝั่งทะเล

นายอาทร เหล็กเกิดผล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในเหตุคลื่นยักษ์สึนามิที่ผ่านมา กล่าวว่า ชาวบ้านบนเกาะไม่ได้รับผลกระทบอะไร แม้หอเตือนภัยบนเกาะที่ติดตั้งไว้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่ตนแจ้งเตือนให้ทุกคนบนเกาะรับทราบและเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์