อยุธยาพบพิรุธปลูกต้นไม้แพง เพื่อไทยหอบหลักฐานทุจริตชุมชนพอเพียงแฉ 6 กลุ่มพัวพัน


พบพิรุธปลูกต้นไม้แพงที่อยุธยา งงจ้างบริษัท 2 แสนเหมาปลูกต้นไม้เล็ก 100 กว่าต้น เพื่อไทยหอบหลักฐานทุจริตชุมชนพอเพียงมอบดีเอสไอสอบเพิ่ม แฉ6กลุ่มมี่เอี่ยว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคเพื่อไทย พร้อมกรรมการตรวจสอบการใช้งบประมาณโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (ชุมชนพอเพียง) ของพรรคเพื่อไทย นำตัวแทนชุมชนหลายแห่งใน กทม. เข้าพบพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และมอบหลักฐานเพิ่มเติมกรณีการทุจริตโครงการชุมชนพอเพียงให้ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ เพื่อให้ตรวจสอบต่อไป


น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวว่า ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อบุคคลที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตในโครงการชุมชนพอเพียงต่อดีเอสไอเพิ่มเติม ตามผลการตรวจสอบของพรรคพบว่ามีกลุ่มบุคคลเกี่ยวข้อง 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ผู้ประสานงานหรือตัวแทนนักการเมืองที่เข้าไปหลอกประชาชนในชุมชนให้ลงชื่อในเอกสารต่างๆ เพื่อตกลงซื้อสินค้าตามรายการที่ต้องการนำเสนอ ในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางราย และหลอกให้ประชาชนร่วมมือทุจริต 2.ผู้อำนวยการเขตและเจ้าหน้าที่เขต 12 เขต ได้แก่ เขตดอนเมือง ลาดพร้าว บางกะปิ วังทองหลาง ดินแดง พญาไท บางรัก บางกอกน้อย สวนหลวง ห้วยขวาง บางแค และบางพลัด ในฐานะผู้เซ็นรับรองเอกสารก่อนการเสนออนุมัติทั้งที่เอกสารต่างๆ ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการดำเนินการที่ถูกต้อง ส่อไปในทางฝ่าฝืนระเบียบและปฏิบัติหน้าที่มิชอบ 3.เจ้าหน้าที่ธนาคารที่ร่วมมือกับนักการเมือง พ่อค้าในการยินยอมทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวกับโครงการนี้โดยมิชอบ 4.ผู้จำหน่ายสินค้าที่มีส่วนทุจริตและขายสินค้าราคาแพงเกินจริง ไม่มีคุณภาพและเอาเปรียบประชาชน 5.ผู้อนุมัติโครงการ เจ้าหน้าที่สำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) 6.ผู้กำหนดนโยบายในระดับรัฐบาล


"พยานหลักฐานของเรายืนยันได้ว่ามีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ในระดับที่ใหญ่กว่าสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) เกี่ยวข้อง จึงไม่ควรตัดตอนแค่ ส.ข. โดยเฉพาะกรณีการปลดผู้ช่วย ส.ส.คนหนึ่งออกจากตำแหน่งก่อนที่พรรคจะขับออกจากสมาชิก รวมทั้งสินค้าที่เข้าไปจำหน่ายในโครงการนี้ก็ยังเป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับนายสุมิท แช่มประสิทธิ์ ผู้อำนวยการ สพช. ทำให้เมื่อชาวบ้านต้องการขอข้อมูลจาก สพช.เพื่อนำมาฟ้องร้อง จึงถูก สพช.ปฏิเสธ แม้กระทั่งจนขณะนี้ก็ยังไม่มีการแต่งตั้งนายมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธาน ศพช. ทั้งที่ควรเร่งทำให้โปร่งใส" น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว และว่า โครงการชุมชนพอเพียงเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย เป็นการทุจริตที่ไม่มีใบเสร็จ จึงยากต่อการตรวจสอบ แม้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจะเข้ามาตรวจสอบก็จะไม่พบความผิดของนักการเมือง เนื่องจากตัดตอนให้ชุมชนลงนามสั่งซื้อสินค้า


พ.ต.อ.ณรัชต์กล่าวว่า พนักงานสอบสวนจะนำหลักฐานเพิ่มเติมไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าคดีมีมูลความผิดหรือไม่ หากเป็นการร้องทุกข์กล่าวโทษนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง คดีจะอยู่ในอำนาจสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ


ทางด้านนายยุทธนา ยุพฤทธิ์ ส.ว.ยโสธร เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และติดตามการบริหารงบประมาณ วุฒิสภา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตามการใช้งบฯชุมชนพอเพียง เปิดเผยผลการตรวจสอบใน จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบใน อ.มหาราช คณะอนุกรรมการพบชุมชน 3-4 แห่ง เลือกทำโครงการปลูกต้นไม้แห่งละ 2 แสนบาทขึ้นไป จากการสุ่มตรวจชุมชนแห่งหนึ่ง พบลักษณะการจ้างบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเข้ามาดำเนินการให้ทั้งหมด คิดค่าต้นไม้ต้นละ 180 บาท รวมค่าปลูกด้วย ถือเป็นเรื่องผิดปกติมาก และราคาต้นไม้ที่ซื้อมาอาจจะตั้งไว้สูงเกินจริง   


นายยุทธนากล่าวว่า คณะอนุกรรมการหลายคนมีความเห็นตรงกันว่าโครงการนี้ไม่ชอบมาพากล เพราะต้นไม้ที่นำมาปลูก เช่น ต้นแค ต้นคูน เป็นต้นไม้มีขนาดเล็ก ไม่ใช่ต้นใหญ่ ปลูกประมาณ 100 กว่าต้นเท่านั้น แถมยังไม่มีบริการบำรุงรักษาหลังการปลูกให้ด้วย สงสัยว่าปลูกต้นไม้แบบนี้แล้วจะช่วยพัฒนาชุมชนได้ยั่งยืนจริงหรือไม่ เพราะก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากโครงการปลูกต้นไม้ที่จังหวัดทำอยู่แล้ว สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับว่าโครงการนี้เอื้อประโยชน์ให้หัวคะแนนของนักการเมืองรายหนึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ ต่อไปจะตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก และเชิญผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทรายนี้มาชี้แจงด้วย  


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์