อภิสิทธิ์ยืนกรานไม่ทบทวนแก้รธน. แบไต๋คุย5พรรคแยกแยะ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์"

ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 (สทท. 11) เมื่อเช้าวันที่ 31 มกราคม ถึงความขัดแย้งกับพรรคร่วมรัฐบาล ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ลงมติไม่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นหนึ่งที่มีการหยิบยกมาคุยกันในช่วงที่มีการจัดตั้งรัฐบาล โดยได้พูดกันชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางประเด็นไม่ควรทำ เพราะก่อให้เกิดความขัดแย้ง หากยังจำได้ในปี 2551 ชนวนของการเคลื่อนไหวชุมนุมก็มาจากเรื่องนี้ เช่น ประเด็นที่นำไปสู่การนิรโทษกรรม ก็บอกว่าอย่าไปทำ แต่จะแก้ประเด็นที่มีความจำเป็น เช่น การเขียนเทคนิคแล้วกลายเป็นอุปสรรค หรือการแก้ไขที่จะช่วยส่งเสริมประชาธิปไตย ตรงนี้ตกลงกันเลยว่า อย่างนี้เดินหน้าด้วยกัน


"ขณะเดียวกันมันมีหลายมาตราหลายประเด็นที่ไม่เข้าข่าย และไม่ได้เป็นการแก้ไขเพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตยโดยตรง โดยหนึ่งในประเด็นเหล่านี้คือ เรื่องเขตเลือกตั้ง ซึ่งได้พูดกับพรรคร่วมรัฐบาลตั้งแต่ตอนไปคุยเรื่องการตั้งรัฐบาลว่าประเด็นนี้ความเห็นพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ตรงกัน เพราะเคยเสนอตอนที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า เชื่อว่าระบบปัจจุบันที่เป็นเขตเลือกตั้งใหญ่ดีกว่า เพราะช่วยลดความแตกแยกในการแข่งขัน ทำให้การแข่งขันรุนแรงน้อยกว่า และแก้ปัญหาธุรกิจการเมืองได้ส่วนหนึ่ง อีกทั้งยังช่วยให้ส.ส.ตระหนักถึงภาระหน้าที่ระดับชาติมากกว่า แต่พรรคร่วมรัฐบาลเห็นอีกแบบ โดยบอกว่าเขตเล็กดูแลประชาชนได้ทั่วถึงกว่า มีสากลกว่า ก็พูดกันว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันไปจนกว่าจะสามารถโน้มน้าวให้อีกฝ่ายเห็นตรงกัน ต่อมาเมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว ก็ได้มาทำเรื่องรัฐธรรมนูญเพื่อความสมานฉันท์ แต่บอกว่าฝ่ายค้านต้องเอาด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่สมานฉันท์จริง และต้องทำประชามติด้วย แต่ต่อมาฝ่ายค้านเกิดถอนตัวไป ก็เลยต้องล้มเลิกไป"


"ตอนนี้ที่พรรคร่วมเสนอมา เขาก็บอกเองว่าอันนี้เป็นเรื่องของสภา ถามว่าอยากให้ประชาธิปัตย์สนับสนุนหรือไม่ อยาก แต่ถ้าประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุน เขาก็ถือว่าเป็นสิทธิของแต่ละพรรค เพราะเป็นเรื่องของสภา ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ ผมก็เห็นว่าหลายท่านในพรรคร่วมก็ให้สัมภาษณ์ชัดเจน ดังนั้นต้องแยกออก ฝ่ายบริหารก็ส่วนฝ่ายบริหาร ฝ่ายสภาก็ส่วนสภา ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ซึ่งภายหลังประชาธิปัตย์มีมติในเรื่องนี้เมื่อวันอังคาร (วันที่ 26 มกราคม) การทำงานร่วมกันในวันพุธ-ศุกร์ (การประชุมสภาระหว่างวันที่ 27-29 มกราคม) กับเพื่อนร่วมรัฐบาลหลายพรรค ก็เป็นไปตามปกติ มีไปประชุมด้วยกัน ออกงานด้วยกัน งานในสภาก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ราบรื่นดี ไม่มีอะไร" นายกรัฐมนตรีกล่าว


ผู้ดำเนินรายการถามถึงเรื่องที่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ออกจดหมายเปิดผนึกในลักษณะต่อว่าเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า

และยังมีแกนนำพรรคร่วมอื่นๆ ขู่ฟรีโหวตอีก นายอภิสิทธิ์กล่าวสวนทันควันว่า "ก็ไม่เป็นไร ก็เขาอาจจะผิดหวังตัดพ้อ ก็เป็นสิทธิ ก็ไม่ว่ากัน" ผู้ดำเนินรายการถามว่า แสดงว่าไม่หนักใจและไม่หวั่นไหวใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า "ไม่หนักใจ เพราะคิดว่าการตัดสินใจของผมก็อยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของส่วนรวม และเราก็อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ความเห็นก็แตกต่างกันได้ ไม่มีปัญหา"


ส่วนเสียงเรียกร้องให้ประชาธิปัตย์เปลี่ยนใจ มีความเป็นไปได้หรือไม่นั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า "แหม! ถ้าพูดอย่างนั้นประชาธิปัตย์ก็อยากจะให้คนในพรรคร่วมเปลี่ยนใจบ้าง ก็มาพูดคุยกันต่อไปได้ ไม่มีปัญหาอะไรครับ"


นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ภายหลังเดินทางกลับจากการร่วมประชุมที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถึง กทม.จะอ่านเอกสารที่ขอให้รัฐมนตรีทุกคนจัดทำรายงานมาว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้ทำอะไรที่เป็นผลงานเด่น

มีอะไรเป็นปัญหาอุปสรรคในการทำงานบ้าง และมีความตั้งใจจะทำอะไรในปี 2553 นี้ ก็ตั้งใจจะอ่านรายงานนี้ให้เสร็จ จากนั้นจะเชิญรัฐมนตรีมาประชุมเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มสังคม กลุ่มเศรษฐกิจ เพื่อวางแผนการทำงานต่อไป ผู้ดำเนินรายการถามว่า หลังพิจารณาผลงาน ครม.เสร็จ จะมีการปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นในรัฐบาลหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "ผมยึดงานเป็นหลัก ไม่ได้คิดเรื่องอื่น"


นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 11 ชั่วโมงที่นายอภิสิทธิ์ใช้เวลานั่งเครื่องบินจากสวิสถึงไทย ได้ทยอยอ่านผลงานรัฐมนตรีรอบ 1 ปีแล้ว หลังอ่านครบ 35 คน จะเรียกรัฐมนตรีมาประชุมรายกลุ่ม อาจเป็นกลุ่มงาน เช่น เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง หรือกลุ่มพรรคการเมือง เป็นต้น


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์