อภิสิทธิ์ แนะหารือนอกรอบ 4 – 5 ประเด็น แน่ใจ 8 พค. วาระ 2 เสร็จไม่ทัน

อภิสิทธิ์ แนะหารือนอกรอบ 4 – 5 ประเด็น แน่ใจ 8 พค. วาระ 2 เสร็จไม่ทัน


(23 เม.ย.55) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่จะได้มีการหารือกันนอกรอบในวันพรุ่งนี้  ( 24 เมษายน )ก่อนที่จะกลับมาพิจารณากันต่อ

โดยสรุปแล้วปัญหาที่มันไปช้ามากนั้นก็ต้องยืนยันนะครับว่าเป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์และ สว. ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับวิธีการในการที่จะรวบรัดตัดตอน แล้วก็ความพยายามในการที่จะออกแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อบุคคลมากกว่าเพื่อส่วนรวม จึงต้องอภิปรายกันเต็มที่ 

และขณะนี้ก็มีข้อเสนอคือบางเรื่องนั้น อย่างไรแล้วทางฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมแน่เช่น สสร. ต้องมี 99 ขยับไม่ได้เลยตรงนี้นะครับ เจรจาเท่าไหร่ก็ไม่ได้ แล้วก็ในหลาย ๆ เรื่องในมาตรา 291/11 ก็เช่นเดียวกัน ที่เราไปจำกัดขอบเขตว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่ไปกระทบอะไรบ้าง พวกนี้เจรจายากมาก แต่ว่าที่รัฐบาลบอกว่าพร้อมที่จะ คือกรรมาธิการและรัฐบาลพร้อมที่จะไปพิจารณานั้นก็มีอยู่

ประเด็นที่ 1 ก็คือว่า ที่จะมาเอากฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมาใช้กับการเลือก สสร. เราก็บอกว่า ความจริงการเลือกตั้งครั้งนี้ ในเมื่อทุกฝ่ายบอกไม่อยากให้พรรคการเมืองมายุ่งเกี่ยว เป็นสมาชิกพรรคไม่ว่ากัน แต่ว่าอย่าใช้พรรคส่งลงสมัครหาเสียงกันในนามพรรคทำนองนั้น เพราะฉะนั้นทำไมไม่เอากฎหมายเลือกตั้ง สว. ซึ่งจะตรงกับเรื่องนี้เข้ามา อันนี้ก็เข้าไปดูนะครับ

ประเด็นที่ 2 คือ สสร. ที่มาจากการสรรหา 22 คนนั้น มีการไปเขียนว่า คนที่จะเสนอขึ้นมานั้น นอกจากบรรดาสถาบันการศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ แล้ว จะเปิดโอกาสให้องค์กรเศรษฐกิจ องค์กรสังคม ซึ่งเป็นใครไม่ทราบนะครับ แต่ว่าองค์กรนี้จะใช้ได้ ไม่ได้นั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประธานสภากำหนด เราก็บอกว่าตรงนี้ขอให้ตัดไปเถอะ เดี๋ยวไม่อย่างนั้น เราก็ไม่รู้นะครับว่า จะโผล่ขึ้นมากี่พัน กี่หมื่นองค์กร จากไหนไม่ทราบแล้วกลายเป็นประธานสภาเลือกได้ว่าองค์กรนี้เสนอได้ องค์กรนั้นเสนอไม่ได้

นอกจากนั้นแล้ว 22 คนนี้ เมื่อเสนอชื่อขึ้นมาแล้ว เพื่อให้สภาเลือก เราก็บอกว่าถ้าหาก สส. สว. คนนึงเลือกได้ 22 คน รวดเดียวเลย เดี๋ยวก็เป็นบล็อคโหวต ก็ขอให้ไปปรับแก้ตรงนี้ อันนี้ก็เป็นประเด็นที่ 2 ในส่วนของ สสร. สรรหา

ส่วนที่ 3 ที่มีการพูดคุยกันอยู่ก็คือว่า สสร. ทำรัฐธรรมนูญเสร็จ มันต้องทำ 2 เรื่อง เรื่องหนึ่งก็คือว่าไปประชามติ ซึ่งเราก็บอกว่า ควรจะให้สภา รัฐสภา นั้นกลับไปเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งก่อน ก่อนที่จะไปประชามติ

ประเด็นที่ 4 ที่เกี่ยวเนื่องกันก็คือ ก่อนที่จะเสนอสภานั้น เดิมให้ประธานวินิจฉัยว่า จะเป็นปัญหาว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมานี้ขัดต่อเงื่อนไขที่บอกว่าไปเปลี่ยนรูปของรัฐ ไปกระทบกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่นั้น ก็ไปให้รัฐสภาวินิจฉัย เราก็พยายามจะบอกว่าจริง ๆ มันน่าจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะนี้รัฐบาลก็เสนอทำนองว่า ก็เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ว่าให้รัฐสภาวินิจฉัย แต่ว่าประธานสภา ต้องมีดุลพินิจในการที่จะตัดสินใจเบื้องต้นว่าจะส่งไปประชามติเลยหรือไม่ ก็ 4 – 5 ข้อนี้ เขาก็รับที่จะไปพิจารณาแล้วก็วันอังคารก็จะกลับมาพูดคุยกันตอนเช้าเป็นการภายใน ส่วนการประชุมก็ดำเนินการต่อไป ถ้าตกลงกันได้ การอภิปรายในมาตราเหล่านี้ก็จะลดลง ก็จะเร็ว ถ้าไม่ตกลงก็ว่ากันไปตามนี้ครับ

แต่ว่าโดยสรุปแล้ว เดิมซึ่งกำหนดเป้าหมายว่าจะต้องเสร็จภายในวันที่ 8 พฤษภาคม นั้น ก็คงไม่สามารถจะทำได้ เพราะว่า 15 วันจากวันที่เสร็จวาระที่ 2 ขณะนี้มันก็เลยเข้ามาสู่วันที่ 23 วันอังคารก็เป็นวันที่ 24 เพราะฉะนั้นถ้าบวกไปอีก 15 วัน วันที่ 8 พฤษภาคม คงเป็นไม่ได้ก็ต้องขยับกันไป”

“เขาประชุมกัน 4 ฝ่าย มีวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน วิปวุฒิ แล้วก็ตัวกรรมาธิการ ซึ่งก็หมายถึงกรรมาธิการเสียงข้างมาก เสร็จแล้วหลังจากนี้เขาก็ขอว่า ขอให้มีคณะทำงานไปดูเพราะว่า ปรับตามนี้มันก็จำเป็นที่จะต้องไปยกร่าง คือแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำอะไรต่าง ๆ ให้เหมาะสม เขาก็บอกเขาจะไปปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ไปปรึกษากกต. ไปปรึกษาองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแบบนี้ก่อน”

ส่วนในประเด็นในเรื่องการวินิจฉัยรับรองการเลือกตั้ง สสร. ที่จะให้ศาลอุทธรณ์ เป็นผู้วินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากนั้น นายอภิสิทธิ์มองว่า หากไม่มีการยกเรื่องนี้ออกไป ทางฝ่ายค้านก็ยืนยันจะคัดค้านในเรื่องนี้ต่อไป เพราะไม่เคยเห็นกฎหมายไหนที่บังคับว่าศาลต้องตัดสินพิจารณาคดีให้เสร็จภายในกี่วัน

“คือถ้ายกเรื่องกฎหมายท้องถิ่นออกไป เอากฎหมายเลือกตั้ง สว. เข้ามา ก็คงจะต้องปรับกันอยู่แล้ว เพราะว่าความคิดเรื่องเอาศาลอุทธรณ์เข้ามา มาจากแนวทางซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะศาลอุทธรณ์เข้ามาดูแลเรื่องท้องถิ่น แล้ว 30 วันนั้น ผมเข้าใจว่าไปเอาเงื่อนไขของกฎหมายท้องถิ่นเข้ามาส่วนหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้ายกออกไปก็จบ ถ้าไม่ยกออกไป เราคัดค้านแน่นอนครับเพราะว่ายังไม่เคยเห็นกฎหมายไหนที่ไปบังคับว่าศาลจะต้องตัดสินพิจารณากันในกี่วัน แล้วก็ที่กรรมาธิการคนนึงลุกขึ้นมาบอกว่าคดีพวกนี้ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ความจริงต้องไปดูครับ ข้อเท็จจริงของคดีท้องถิ่นต่าง ๆ ที่ผ่านมานั้น ผมว่าส่วนใหญ่ก็เกิน 30 วันทั้งนั้นแหละครับ”


อภิสิทธิ์ แนะหารือนอกรอบ 4 – 5 ประเด็น แน่ใจ 8 พค. วาระ 2 เสร็จไม่ทัน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์