“อภิสิทธิ์” ส่ง จม.เปิดผนึกฉบับ 2 ตั้ง 7 คำถามต่อสถาบันพระปกเกล้า

“อภิสิทธิ์” ส่ง จม.เปิดผนึกฉบับ 2 ตั้ง 7 คำถามต่อสถาบันพระปกเกล้า

“อภิสิทธิ์” ส่ง จม.เปิดผนึกฉบับ 2 ตั้ง 7 คำถามถึงสถาบันพระปกเกล้า
 
ทำเกินขอบเขตเสนอนิรโทษกรรมคดีอาญา เอื้อ “พ.ต.ท.ทักษิณ-ครอบครัว” ถามล้มล้างระบบยุติธรรมประเทศ บังคับคนดีปรองดองกับพวกทำผิดหรือไม่ หวั่นจุดไฟขัดแย้ง วอนยืดเวลารวบรวมข้อเท็จจริงรอบด้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
 
จะไม่เข้าร่วมในเวทีของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ วันพรุ่งนี้ แต่เลือกจะออกจดหมายเปิดผนึกถึงคณะผู้วิจัยโครงการวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้า ฉบับที่ 2 แทน มีใจความสรุปว่า ขอเรียกร้องคณะผู้วิจัยอย่าด่วนสรุป เพราะงานวิจัยยังไม่สมบูรณ์ ตัดตอนพฤติกรรมการบริหารประเทศ ที่เป็นปัญหาสร้างความขัดแย้งในบ้านเมือง ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้น้ำหนักไปที่ปัญหาจากการรัฐประหารเพียงด้านเดียว และยังข้ามข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ

นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า ไม่คัดค้าน หากจะมีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง แต่ได้ถามคำถาม 7 ข้อว่า

1. การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะล้มล้างอำนาจตุลาการ ทำลายระบบยุติธรรมของประเทศหรือไม่ 2. จะทิ้งผู้ที่ได้รับความเสียหาย หรือผู้ถูกกระทำ ไม่ให้มีสิทธิเรียกร้องเอาโทษต่อผู้กระทำความผิดได้อีกแล้ว เสมือนบังคับให้คนดีต้องปรองดองกับการกระทำความผิดหรือไม่ 3. ได้กำหนดขอบเขตของผู้กระทำความผิด ที่จะเข้าข่ายการนิรโทษกรรม ตามทางเลือกนี้อย่างไร เพราะถูกผู้มีอำนาจอาจตีความเพื่อเป็นประโยชน์กับฝ่ายตน มากกว่าที่จะทำเพื่อสร้างความปรองดอง

4. คดีที่ศาลตัดสินให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้กับเอกชนและรัฐ ในการเผาทำลายทรัพย์สิน การนิรโทษกรรมจะส่งผลให้ผู้ทำผิด ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่ 5.คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ 6. การศึกษาเปรียบเทียบเหตุการณ์ใน 10 ประเทศ แต่ประเทศเหล่านั้น ส่วนใหญ่ไม่มีการนิรโทษกรรมในคดีอาญา และ 7. การเสนอทางออกเพียงแค่นิรโทษกรรม จะเป็นทางเลือกที่จำกัดไปหรือไม่

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อเสนอเรื่องนิรโทษกรรมคดีทุจริต
 
ในคดีของ คตส. ถือเป็นการกระทำที่เกินขอบเขตของปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นหรือไม่ จะสร้างบรรทัดฐานในการนิรโทษกรรมคดีทุจริต เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย จะกระทบต่อค่านิยมอันดีงามในเรื่องระบบคุณธรรมของบ้านเมืองหรือไม่ และเห็นว่า การปรองดองในชาติ มิได้มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพวก เว้นแต่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะยอมรับว่า ประเทศนี้จะไม่มีวันพบกับความสงบสุข และความปรองดองได้ ตราบใดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีคดีติดตัว

“ซึ่งจะทำให้เกิดความชัดเจนต่อสังคมไทยว่า สาเหตุของปัญหาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ล้วนมีศูนย์กลางจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ไม่เคารพต่อกระบวนการยุติธรรม และให้สังคมได้เข้าใจอย่างชัดแจ้งว่า การปรองดองที่คณะผู้วิจัยและกรรมาธิการฯ กำลังยัดเยียดให้สังคมไทยยอมรับ คือการปรองดอง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และพวก ด้วยการทำลายกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ”
 
นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า ข้อเสนอเรื่องการตัดสิทธิประชาชน และระบบตรวจสอบ ด้วยการห้ามไม่ให้มีการพิจารณาคดีใหม่ แต่คนในตระกูลชินวัตร


กลับใช้ประโยชน์จากคำพิพากษา ที่กำลังจะถูกล้มล้างไปแล้ว ทั้งกรณีที่ดินรัชดาฯ ซึ่งคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ นำไปฟ้องต่อศาลแพ่ง จนมีคำพิพากษาจากการยึดบรรทัดฐานคำตัดสินของศาลฎีกาฯ ว่าการซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ จึงให้กองทุนฟื้นฟูให้คืนเงินให้คุณหญิงพจมาน และกรณีนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร นำคำพิพากษาคดียึดทรัพย์ที่ระบุว่า บุคคลทั้งคู่ไม่ใช่เจ้าของหุ้นตัวจริง แต่เจ้าของหุ้นคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ไปใช้ประโยชน์ เพื่อไม่จ่ายภาษี 12,000 ล้านบาท และศาลภาษีก็ยึดตามแนวพิพากษาของศาลฎีกาฯ ว่าหุ้นไม่ใช่ของบุคคลทั้งคู่ จึงไม่อยู่ในสถานะที่ต้องจ่ายภาษี

“ข้อเท็จจริงข้างต้นเท่ากับว่า ทางเลือกดังกล่าวทำลายระบบตรวจสอบ แต่กลับให้ผู้กระทำความผิดใช้ประโยชน์จากคำพิพากษา ซึ่งทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีถึง 12,000 ล้านบาท คณะผู้วิจัยเคยคำนึงถึงปัญหาเหล่านี้หรือไม่” นายอภิสิทธิ์ ระบุ

นายอภิสิทธิ์ ยังระบุว่า จากข้อเท็จจริงทั้งหมดข้างต้น ทำให้รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง

ต่อผลสรุปที่เป็นทางเลือกในการสร้างความปรองดองของคณะผู้วิจัย ว่านอกจากจะไม่สามารถสร้างความปรองดองได้แล้ว ยังจะสร้างความขัดแย้งเพิ่มเติม ที่อาจลุกลามนำไปสู่ความสูญเสียในสังคม ที่ยากจะประเมินได้ ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่คณะผู้วิจัยปรารถนาจะให้เกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย

เครดิต :

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์