อภิสิทธิ์ ชี้ การเมืองหลังรัฐประหาร ปัญหารุมเร้า คมช.

"อภิสิทธิ์" เปิดตัวหนังสือ


"การเมืองหลังรัฐประหาร" แสดงความเห็นและแสดงท่าทีทางการเมืองต่อการรัฐประหาร รวมทั้งมองแนวโน้มทางการเมืองและสถานการณ์ข้างหน้าที่ต้องเผชิญของคณะทหารที่ยึดอำนาจ

วันนี้ (17 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดตัวหนังสือชื่อ

"การเมืองไทยหลังรัฐประหาร : ทางออกจากวิกฤต ก่อนจะกลับไม่ได้ไปไม่ถึง"

จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ขอคิดด้วยคน ราคาเล่มละ 99 บาท พิมพ์จำนวน 5,000 เล่ม โดยเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ตอน คือ บทความที่เขียนขึ้นใหม่ บทความที่เคยเผยแพร่ในเว็บไซต์ส่วนตัว www.abhitsit.org

และบทสัมภาษณ์พิเศษ โดย นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง โดยมีทั้งหมด 16 บท ซึ่งมีบทที่น่าสนใจ อาทิ คมช.ทำอย่างไรจะไม่เป็นเยี่ยง รสช.สภาพการณ์และจุดจบของรัฐบาลสุรยุทธ์ บทเรียนจากกรณีทุจริตในระบอบทักษิณ ปฏิเสธทักษิณอย่าปฏิเสธประชาธิปไตย เป็นต้น


นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า


หนังสือเล่มนี้ถือเป็นหนังสือเกี่ยวกับข้อเขียนทางการเมืองชิ้นแรก หลังตนถูกมองว่า มักจะนำเสนอแนวคิดต่างๆ ผ่านการอภิปราย และให้สัมภาษณ์ ดังนั้น จึงหวังแสดงบทบาท ความเห็น และความรับผิดชอบของผู้ที่หวงแหนประชาธิปไตย และห่วงในอนาคตในหนังสือเล่มนี้ เพราะหลังเหตุการณ์ 19 ก.ย.2549 มีหลากหลายความคิดเห็นในเรื่องการทำรัฐประหาร บางคนโล่งใจหลังจากอึดอัดกับสภาวะวิกฤตทางการเมืองในเวลาค่อนปี


ประเทศไทยกลับมาสู่จุดนี้ได้อย่างไร


ขณะที่บางส่วนไม่พอใจว่า ประเทศไทยกลับมาสู่จุดนี้ได้อย่างไร ซึ่งตนเป็นนักการเมืองอาชีพมานาน 15 ปี และต่อสู้เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยมาโดยตลอด ต้องมาเผชิญกับการเมืองหลังรัฐประหารเป็นครั้งแรก จึงไม่อยากให้สังคมกลับมาจุดนี้ อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่นักการเมืองมาจากการเลือกตั้ง แต่มาทำลายประชาธิปไตย กระทั่งมีการหาวิธีรักษาประชาธิปไตยไม่ให้ถูกบิดเบือนครอบงำ สุดท้ายสังคมจึงนำไปสู่การทำปฏิวัติรัฐประหาร ส่งผลให้มีรัฐบาลที่มาจากการปฏิบัติ ตนจึงหวังให้มีประชาธิปไตยที่ดีกว่าเดิมในอีก 1 ปีข้างหน้า


หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า


หนังสือเล่มนี้เป็นการนำเสนอความเห็นและเสนอทางออกให้กับประเทศด้านหนึ่ง เพราะหลังการรัฐประหารแล้วใช่ว่าความรุนแรงจะหมดไป และเชื่อว่ารัฐบาล และ คมช.จะต้องเผชิญเงื่อนไขที่มีอุปสรรคมาก และมีความเสี่ยงสูงว่าจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเกรงว่า จะกลายเป็นเขาวงกต

หลังรัฐประหารทุกครั้งมักมีคนเกลียดนักการเมืองเพิ่มขึ้น


ทั้งนี้ หลังรัฐประหารทุกครั้งกระแสเกลียดนักการเมืองจะสูงขึ้น โดยไม่แยกแยะว่าใครเป็นใคร ซึ่งตนคิดว่าต้องระวังว่าจะเกิดอคติกับนักการเมือง และจะทำให้มีผลกระทบต่อการวางระบบการเมือง แม้นักการเมืองจะมีส่วนในการสร้างปัญหาให้ประเทศ แต่อาชีพนักการเมืองไม่ใช่อาชีพที่เลวทั้งหมด นักการเมืองจำเป็นต้องได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมกับบ้านเมืองในวันข้างหน้า

ขอขอบคุณ


ข้อมูลที่มีคุณภาพ
จาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์