อจ.นิติศาสตร์จุฬาฯชี้ปกติไม่ใช้กฎหมายแปลอังกฤษตีความ

อจ.นิติศาสตร์จุฬาฯชี้ปกติไม่ใช้กฎหมายแปลอังกฤษตีความ

นายณรงค์เดช สรุโฆษิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชากฎหมายการปกครองและกฎหมายทั่วไป คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
ตอบคำถามผู้สื่อข่าว "มติชน" ผ่านอีเมล์จากประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนว่า โดยหลักภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาราชการของไทย และปกติจะไม่ใช้กฎหมายที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วเป็นเครื่องมือในการช่วยตีความรัฐธรรมนูญ จะมียกเว้นบ้างก็คือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ยกร่างขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนจะมาแปลเป็นไทยในภายหลัง แต่จะเป็นสมัยรัชกาลที่ 6 ที่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากระบบซีวิลลอว์ (Civil Law) มาร่าง แต่กรณีรัฐธรรมนูญ 2550 นี้ชัดเจนว่า ร่างขึ้นจากภาษาไทย อีกทั้งเนื้อความตามมาตรา 68 ในภาษาอังกฤษก็คลุมเครือ ซึ่งตนไม่เชี่ยวชาญนัก แต่เข้าใจว่าคำกริยา request นั้น มีโครงสร้างแบบ "request + someone + to do something" ดังนั้น มาตรา 68 ในภาษาอังกฤษ ก็น่าแปลว่า อัยการสูงสุดต้องเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลอยู่ดี


"หากผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญประสงค์จะให้คำร้องไปศาลได้ทั้งสองช่องทางจริง อย่างน้อยก็น่าจะใส่เครื่องหมายคอมม่าหลังคำว่า facts และเพิ่มคำว่า to หน้าคำว่า submit เป็นดังนี้ In the case where a person or a political party has committed the act under paragraph one, the person knowing of such act shall have the right to request the Prosecutor General to investigate its facts, and to submit a motion to the Constitutional Court for ordering cessation of such act without, however, prejudice to the institution of a criminal action against such person. แต่ถ้าจะให้ชัดเจนกว่านั้น เติมคำว่า the right to เข้าไปหลังคำว่า and เลย เป็น “... the right to request the Prosecutor General to investigate its facts, and the right to submit…” คราวนี้ จะเป็นดังที่ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญอธิบายมาแน่ๆ" นายณรงค์เดชกล่าว
 

นายณรงค์เดชกล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญสามารถถอนคำสั่งศาลได้เสมอ แต่ศาลคงจะไม่ทำ เพราะจะหมายความว่าความศักดิ์สิทธิ์ของศาลจะลดลงทันที

อย่างไรก็ตาม หากรัฐสภาจะเดินหน้าพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ต่อไป ทั้งที่ยังมีคำสั่งศาลคาอยู่ ก็ขอให้คิดให้ดี จะมีปัญหาทางกฎหมายตามมามากมาย ซึ่ง ส.ส. และ ส.ว.พร้อมรับความเสี่ยงเหล่านั้นหรือไม่ การตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภาอาจนำประเทศไปสู่ทางตันและการนองเลือดได้ ขณะนี้เป็นรัฐบาลอยู่แล้วประคับประคองเกมไป เพราะเลือกตั้งกี่ทีก็ชนะอยู่แล้ว ไม่ต้องเร่งรีบ แม้ศาลรัฐธรรมนูญล้ำเส้นอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา และคำสั่งศาลไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่การดึงดันเดินหน้าต่อไปนั้น รัฐบาลเองที่จะถูกบีบเข้าสู่มุมอับ เพราะกลไกการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น ป.ป.ช. เห็นได้ชัดว่าจะถือตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของตนแน่ และเมื่อนั้นก็จะมีผู้คนออกมาชุมนุมอย่างปี 2553 และคราวนี้คาดว่าน่าจะรุนแรงยิ่งกว่าเดิมด้วย


"หากที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบในทันทีในวาระที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญจะไต่สวนคำร้องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครองมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญได้หรือไม่นั้น ศาลท่านคงเป็นผู้ตัดสินใจ ผมไม่บังอาจไปตอบแทนท่าน แต่ด้วยความเคารพอย่างสูง ผมเห็นว่า การรับคำร้องคดีนี้มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบธรรมทางการเมือง คราวนี้แหละวิกฤตรัฐธรรมนูญโดยแท้ หนักกว่าสถานการณ์เมื่อปี 2549 เสียอีก เพราะอารมณ์ความเจ็บแค้นมันสั่งสมมาตลอด 5-6 ปีนี้" นายณรงค์เดชกล่าว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์