องค์กรสื่อ-รัฐ-เอกชน รณรงค์หยุดทำร้ายปท.ไทย นักวิชาชี้ถ้าสื่อไม่เป็นกลางเท่ากับเร่งเชื้อไฟให้รุนแรง


"องค์กรสื่อ-ภาครัฐ-เอกชน" รณรงค์หยุดทำร้ายประเทศไทย 4 พ.ค. ปธ.วุฒิฯร่วมงานด้วย นายกฯหนุน ย้ำคนไทยมีสีเดียว คือสีธงชาติ นักวิชาการชี้ ถ้าสื่อไม่เป็นกลาง เหมือนเป็นคนเติมเชื้อไฟ ทำให้รุนแรงขึ้น โฆษกเพื่อไทยได้ทีจี้นายกฯจริงใจ อย่า 2 มาตรฐาน

 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย  และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย  เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ว่า อยากเชิญชวนประชาชนมาหลอมรวมจิตใจกัน เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถาบันหลักของชาติในวันที่ 5 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งคือวันฉัตรมงคล รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าสู่ปีที่ 60 แห่งการบรมราชาภิเษก ดังนั้น ปี 2552 นี้ก็ครบ 59 ปี และถือได้ว่าเข้าสู่ปีที่ 60  งานจะมีตั้งแต่เวลา 17.00 น. ของวันที่ 5 พฤษภาคมเป็นต้นไปจนถึงเที่ยงคืน
 
"รัฐบาลจะจัดงานตั้งแต่ลานพระบรมรูปทรงม้า จนถึงสนามหลวง และมีงานสโมสรสันนิบาต ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีอยู่แล้วที่ทำเนียบรัฐบาลในเวลาเดียวกันด้วย อยากจะเชิญชวนพี่น้องประชาชน ในฐานะพสกนิกรชาวไทยร่วมในงานนี้ เป็นการถวายความจงรักภักดี และแสดงออกถึงพลังของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เป็นจุดยึดเหนี่ยวและจุดหลอมรวมจิตใจของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ  แสดงออกถึงความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ”นายกฯกล่าว
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ในช่วงปลายสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป รัฐบาลจัดงานส่งเสริมพระพุทธศาสนา และงานวันวิสาขบูชาโดยในส่วนของประชาชนมีการประกอบพิธีกรรมทางด้านศาสนาเป็นปกติอยู่แล้ว  แต่จะมีงานที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพด้วย  คือ งานวันวิสาขบูชาระดับโลก  โดยการสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ในช่วงปลายสัปดาห์หน้าประชาชนไทยคงจะได้ใช้โอกาสนี้ในการขัดเกลาจิตใจเช่นเดียวกัน   แล้วใช้ความเชื่อทางศาสนาและการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา เพื่อนำความสงบสุข สันติสุข กลับคืนสู่บ้านเมืองและสังคม  เพื่อนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ต่อไป
 
“ผมทราบว่ามีองค์กรเอกชนหลายองค์กรได้ร่วมกันจัดโครงการ"การหยุดทำร้ายประเทศไทย หยุดความรุนแรง"  ขอยืนยันว่าประชาชนไทยมีสีเดียวคือสีธงชาติ ก็ถือเป็นโครงการดีๆ ที่ผมคิดว่าถ้าทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมส่งเสริมค่านิยมเรื่องสันติ และความสงบสุข ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะทำให้บ้านเมืองของเราสามารถเดินไปข้างหน้า ฟันฝ่าวิกฤตต่างๆได้”นายกฯกล่าว
   
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการออกรายการดังกล่าว นายอภิสิทธิ์ได้เดินทางออกจากทำเนียบเพื่อไปทำบุญประจำปี โดยผู้ติดตามนายกฯแจ้งขอความเป็นส่วนตัว เนื่องจากเป็นการทำบุญประจำปีของครอบครัว ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวติดตาม
  
ด้าน พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ได้ประสานงาน พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ขอกำลังสนับสนุนตามแผนรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกการจราจร ในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครบรอบปีที่ 60 แห่งการบรมราชาภิเษก ในวันที่ 5 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 16.00 – 24.00 น. ซึ่งกำหนดตั้งเวทีการแสดง 9 เวที ตั้งแต่ลานพระราชวังดุสิต  ถนนราชดำเนินนอก ราชดำเนินกลาง และราชดำเนินใน จนถึงสนามหลวง  ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้นำมวลชนจากจังหวัดต่างๆเข้าร่วมประมาณ 250,000 – 300,000 คน โดยขอกำลังสนับสนุนทหาร 9 กองร้อยมาปฏิบัติประจำกองอำนวยการร่วม ทั้ง 9 แห่ง ตั้งแต่เวลา 15.00 น.เป็นต้นไปจนกว่าจะเสร็จภารกิจ
 
วันเดียวกัน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน  จัดเสวนาในหัวข้อ " เสรีภาพสื่อมวลชนไทย จะช่วยเติม หรือดับไฟความขัดแย้ง" เนื่องในวันสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนโลก พร้อมกับนำเสนอผลสำรวจการใช้ภาษาที่นำไปสู่ความขัดแย้งของสื่อมวลชนไทย
 
นางพิรงรอง รามสูตร  อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  เสรีภาพของสื่อนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการมีเสรีภาพจากค่านิยม และความคิดของนักข่าวเอง นักข่าวจะมีความเป็นมืออาชีพสูง ต้องสามารถสร้างเสรีภาพ  ค่านิยมทางความคิดของตนเองได้ ทุกวันนี้นักข่าวพูดความจริงได้แค่ครึ่งเดียว หลายสื่อที่พอนักข่าวเอนเอียงไปในทางเสื้อแดง จะไม่ได้รับการยอมรับ แต่ถ้าไปทางเสื้อเหลืองจะยอมรับได้มากกว่า ซึ่งเป็นสภาพที่ลำบากมากในสังคมไทย แม้แต่นักวิชาการเองก็อึดอัด
 
"ในสังคมที่มีความขัดแย้งทางความคิดสูง คงไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรคือความถูกต้องทางการเมือง แต่จรรยาบรรณของนักข่าว จะต้องนำเสนอความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมองว่าสื่อสามารถช่วยดับไฟ หรือทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งดีขึ้นได้บ้าง แต่ถ้าไม่เป็นกลาง ก็เป็นการเติมเชื้อ ไฟ" นางพิรงรองกล่าว
 
นางพวงทอง ภวัครพันธุ์  อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเกิดปัญหา 2 มาตรฐานในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน จากกรณีการชุมนุมของเสื้อแดงและเสื้อเหลือง เพราะเสื้อแดงถูกมองว่าเป็นม็อบรับจ้าง จึงไม่ได้รับความสนใจจากสื่อกระแสหลัก นอกจากนี้ในการนำเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักยังมีแนวโน้มเกรงใจคนเสื้อเหลืองมากกว่า  คนเสื้อแดงจึงหาทางออกด้วยการหันไปเปิดเว็บไซต์ วิทยุชุมชน นำเสนอข่าวสารที่ไม่ปรากฎอยู่ในสื่อกระแสหลัก สร้างสังคมใหม่ที่มีความคิดเห็นเหมือนกันขึ้นมา
 
"เสื้อเหลืองก็อยู่ในสังคมอีกแบบ ซึ่งทำให้เกิดปรากฎการณ์คนคุยกันได้น้อยลง และคุยยากยิ่งขึ้น นำมาสู่แนวโน้ม 3 ประการคือ  การทะเลาะกัน ทำร้ายกัน หรือหลีกเลี่ยงที่จะคุยกันไปเลย  เคยมีสื่อบางคนบอกว่า ทุกวันนี้สื่อไม่ได้แค่ทำหน้าที่เป็นคนพากษ์มวย แต่ยังสวมบทบาทเชียร์มวยด้วย โดยเชื่อว่าตัวเองเลือกข้างถูก ทั้งๆที่การทำหน้าที่ของสื่อต้องไม่เลือกข้าง"นางพวงทองกล่าว
 
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยากจะเสนอว่าสื่อมวลชนควรมีการทบทวนบทบาทการนำเสนอข่าวสารและทบทวนภารกิจการกำกับควบคุมดูแลกันเอง เพราะทุกวันนี้มีสื่อเฉพาะทางเกิดขึ้นจำนวนมาก  ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ต้องมีการทบทวนการกำกับดูแลสื่อให้เป็นธรรม ทั้งเรื่องของดีสเตชั่น และเอเอสทีวี นอกจากนี้จะมีการเพิ่มพื้นที่ให้ประชาชนได้พูดคุยเรื่องประชาธิปไตยที่แท้จริง 
 
"จะเห็นได้ว่าสื่อสำคัญๆของเรานำเสนอเรื่องบันเทิงมากๆ  เพราะสื่อใหญ่ๆหลีกเลี่ยงการนำเสนอเรื่องการเมือง เพราะกลัวถูกมองถูกด่าว่าอยู่ข้างไหน ก็ต้องไปดูให้มีพื่นที่ให้ประชาชนแสดงความเห็นมากขึ้น"นายสาทิตย์กล่าว
 
ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) แถลงในโอกาสวันสิทธิเสรีภาพสื่อโลกว่า พรรคเพื่อไทยมองว่าสื่อเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญในการทำหน้าที่ส่งข่าวสาร สะท้อนปัญหาและข้อเท็จจริงสู่ประชาชน แต่สื่อต้องเป็นอิสระ เป็นกลาง มีสิทธิเสรีภาพ รัฐบาลต้องไม่ปิดกั้นในทุกกรณี ดังนั้นพรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความจริงใจโดยการปลดปล่อยสื่อที่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เช่น ดีสเตชั่น หรือวิทยุชุมชนที่ตรงข้ามกับรัฐบาล เพื่อให้สามารถออกอากาศและดำเนินการได้ในวันนี้  "ร้อยคำพูดไม่เท่าหนึ่งการกระทำที่จริงใจ ไม่อย่างนั้นอาจจะถูกมองว่าเป็นนายกฯ 2 มาตรฐานได้" นายพร้อมพงศ์กล่าว

นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีโครงการรณรงค์หยุดทำร้ายประเทศไทย หยุดใช้ความรุนแรง จะจัดรณรงค์ระดับชาติในเช้าวันที่ 4 พ.ค. ณ บริเวณอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ด้านหน้าสวนลุมพินี)ว่า ขณะนี้ได้รับการตอบรับจากองค์กรต่างๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจำนวนมากที่จะเข้าร่วมในโครงการรณรงค์ เช่น กรุงเทพมหานคร ในเช้าวันดังกล่าวจะให้ข้าราชการร่วมทำกิจกรรมที่ลานคนเมือง และที่บริเวณที่หน้าทำการเขตทุกเขตของกทม.จะมีการร้องเพลงและโบกธงชาติไทย  สำหรับภาคเอกชน เช่น บริษัทไทยเบฟ เวอเรท จำกัด(มหาชน) และบริษัทในเครือซีพี ธนาคารกรุงเทพ และอีกหลายบริษัทในย่านถนนสีลม ก็ได้ตอบรับเข้าร่วมด้วย

 

นายประดิษฐ์ กล่าวว่า นอกจากนั้นยังได้รับเกียรติจาก นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา จะนำรองประธานวุฒิสภาและสมาชิกวุฒิสภา จำนวนหนึ่ง ไปร่วมรณรงค์ในวันดังกล่าว โดยงานจะเริ่มเวลา 08.00 น. มีการร่วมพลขบวนในโครงการที่บริเวณอนุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นพิธีกรจะกล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ก่อนที่จะเชิญตัวแทนกล่าวนำคำปฎิญญา ต่อด้วยเชิญศิลปินชั้นนำจากค่ายเพลงต่างๆ นำโดยแอ๊ด คาราบาว และแกนนำของโครงการ นำร้องเพลง “หยุดทำร้ายประเทศไทย” ซึ่งแต่งขึ้นโดยแอ๊ด คาราบาว สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ ก่อนที่ขบวนจะเดินณรงค์ไปตามถนนสีลมจนถึงธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ในงานดังกล่าวจะมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11

 

นายประดิษฐ์กล่าวอีกว่า สำหรับในวันพุธ 6 พ.ค. โครงการนี้ยังจะมีการเดินหน้ารณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยจะเชิญชวนขอให้สื่อมวลชน ประจำทำเนียบรัฐบาล และประจำรัฐสภา ร่วมกันสวมเสื้อหยุดทำร้ายประเทศไทย หยุดใช้ความรุนแรง

 

1. ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)       
2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
3. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง                                              
4.สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
5. สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย                             
6. สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
7. สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย                     
8. สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
9. สมาคม อบต. แห่งประเทศไทย                                    
10. สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
11.เครือข่ายนักวิชาการไม่เอาความรุนแรง                        
12. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน
13. สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม
14. กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง                     
15. คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35
16. สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย                                              
17. ชมรมแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์เพื่อประชาชน
18. เครือข่ายประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้แต่อย่าใช้ความรุนแรง
19. สถาบันพระปกเกล้า
20. สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
21. เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้า และสันติภาพ



เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์