“องคมนตรี” ชี้นายกฯมาถูกทาง ไปดูต้นน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเอง

“องคมนตรี” ชี้นายกฯมาถูกทาง ไปดูต้นน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเอง

วานนี้ (21 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมชั้น 7 อาคารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาเรื่อง “การฟื้นฟูป่าตามแนวพระราชดำริฝ่ าวิกฤตสิ่งแวดล้อม” โดยมีนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่ง ว่า สถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทย ถูกบุกรุกทำลายอย่างรวดเร็วจนมีสภาพเสื่อมโทรม โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ ทำให้ขาดความสมดุลทางธรรมชาติ โดยจะเห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมประเทศไทยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554หรือภาวะฝนแล้งที่เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ในขณะเดียวกันก็มีความต้องการไม้เพื่อใช้สอยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น แต่ทรัพยากรป่าไม้กลับลดลง ก่อให้เกิดความขาดแคลนไม้ใช้สอยในประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ทรงตระหนักถึงปัญหาป่าไม้เป็นอย่างยิ่ง จึงทรงพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับป่า ไม้ไว้ 3 ด้าน

คือ 1.การอนุรักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม เช่น การรักษาป่าต้นน้ำ การจัดการเรื่องน้ำและสร้างความชุมชื้นในพื้นที่อนุรักษ์ เป็นต้น 2.การฟื้นฟูสภาพป่าและการปลูกป่า และ3.การพัฒนาเพื่อให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน โดยต้องพยายามเปลี่ยนราษฎรจากสถานภาพผู้บุกรุกทำลายป่าให้กลายมาเป็นผู้อนุรักษ์ทรัพยากรป่าให้ได้
 

นายอำพล กล่าวต่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ทรงสนพระทัยในเรื่องของป่า น้ำ และดิน
 
ทรงเดินทางไปทั่วประเทศกว่า 70 จังหวัดตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์ เพื่อดูสภาพป่า ดิน น้ำ และทรัพยากรของชาติ ขณะที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี ประมาณ 40 คน แต่มีนายกรัฐมนตรี เพียงไม่กี่คนที่ได้เดินทางไปทั่วประเทศ ส่วนใหญ่นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส.ก็จะดูแต่จังหวัดของตนเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ทรงมีพระราชดำรัสถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและเรื่องภาวะเรือนกระจกหรือโลกร้อนตั้งแต่ปี 2532 ก่อนที่นายอัล กอร์ นักการเมืองของประเทศสหรัฐฯ จะพูดเรื่องโลกร้อนอย่างน้อย 10 ปี

และพระองค์ทรงสรุปหัวใจของการพัฒนาประเทศว่ามี 2 ประการที่จะทำให้ชาติรอด

คือ 1.เศรษฐกิจพอเพียง และ2.เกษตรยั่งยืนหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ และทรงมีวิธีการให้หัวใจของการพัฒนาทั้ง 2 เรื่องสามารถไปสู่ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นนโยบายของประเทศไทยควรยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรยั่งยืนหรือเกษตรทฤษฎีใหม่ และควรมีการแบ่งโซนพื้นที่การเกษตรของประเทศใหม่ ให้ประกอบด้วย 1.ควรมีพื้นที่เก็บน้ำ เช่น แก้มลิง คลอง บ่อ เป็นต้น ประมาณ  30 %   2. พื้นที่ปลูกข้าว 30  %    3.พื้นที่สำหรับทำการเกษตรแบบผสมผสาน 30  %   และพื้นที่ป่าไม้ ประมาณ 10%  จะช่วยแก้ปัญหาของประเทศได้ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมได้


จากนั้นนายอำพล ให้สัมภาษณ์ว่า การฟื้นฟูป่าและปลูกป่า เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะป่าต้นน้ำ ที่ถูกทำลายเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง
 
ทั้งการปลูกไม้เนื้ออ่อนและไม้เนื้อแข็ง ไม้โตเร็วและไม้โตช้า ผสมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ รวมทั้งการฟื้นฟูลุ่มน้ำทั้ง 25 สายหลัก  และที่สำคัญสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ทรงเน้นย้ำในเรื่องการทำงานของข้าราชการ คือต้องทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ข้าราชการต้องไม่โลภและอยากได้เงินจึงจะรักษาทรัพยากรป่าไม้ให้คงอยู่ได้
 

“ส่วนมาตรการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล ขณะนี้ถือว่าเดินมาถูกทาง เพราะนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนที่แก้ปัญหาและสั่งการจะต้องลงพื้นที่เพื่อดูสภาพปัญหาทั้งพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่แก้มลิง เพื่อรับน้ำ เขื่อน เรียกว่าต้องเห็นของจริง หากไม่ลงพื้นที่ก็จะไม่สามารถสั่งการและแก้ปัญหาได้ ที่สำคัญนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นคนสั่งการด้วยตนเอง เพราะในช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาการทำงานของรัฐบาลมีปัญหาคือมีคนสั่งการหลายคนเกินไป  นอกจากนี้สิ่งที่อยากจะแนะนำคือการนำพืชตระกูลเฟิร์นมาใช้ประโยชน์แบบเดียวกับการนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์เพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำและปรับปรุสภาพแวดล้อม และ ป้องกันดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลันได้ในระดับหนึ่งด้วย” องคมนตรีกล่าว


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์