อ.รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ฟันธง! เลือกนายกฯโดยตรงไม่ได้ ผิดหลักระบบรัฐบาล

อ.รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ฟันธง! เลือกนายกฯโดยตรงไม่ได้ ผิดหลักระบบรัฐบาล

ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย  อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ วิเคราะห์ กรณีข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง มติชนออนไลน์เห็นว่ามีประโยชน์ในการถกเถียงประเด็นดังกล่าวจึงขออนุญาตนำมาเสนอ ดังนี้

"มีหลายท่านมาถามความคิดเห็นผมว่าเราสามารถเลือกออกแบบให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงได้หรือไม่?ผมเห็นว่าหากจะตอบแบบ"กำปั้นทุบดิน" โดยไม่พิจารณาถึงหลักการทางด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ต้องตอบว่าได้แต่หากจะตอบในเชิงหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยพิจารณาผ่าน "มิติระบบรัฐบาล" (System of Government) ซึ่งมีความสำคัญที่เน้นไปในเชิงโครงสร้างของสถาบันการเมือง แล้วก็ต้องตอบว่า "ไม่ได้" โดยผมขออนุญาตอธิบายสั้นๆ ดังนี้

หากพิจารณาบนพื้นฐานของหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วไป "ระบบการเลือกตั้งฝ่ายบริหารโดยตรง"

นั้นถือเกิดมาจากระบบประธานาธิบดี (Presidential System) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งโดยโครงสร้างของสถาบันการเมือง "ประมุขของรัฐ" (Head of State) และ "ประมุขของรัฐบาล" (Head of Government) เป็นบุคคลๆ เดียวกัน ดังนั้น การแสดงบทบาท หรือการใช้อำนาจจึงมาจากบุคคลๆ เดียวนั่นคือ ประธานาธิบดี

อย่างไรก็ดี มีความแตกต่างจากระบบรัฐสภา (Parliamentary System) ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษโดยมีประมุขของรัฐ (พระมหากษัตริย์) เป็นบุคคลๆ หนึ่ง ส่วนประมุขของรัฐบาล (นายกรัฐมนตรี) ก็เป็นบุคคลอีกบุคคลหนึ่ง

คำถามคือ หากประเทศไทยที่มี "ระบบรัฐสภา" อันมีประมุขของรัฐและประมุขรัฐบาล

ที่เป็นคนละบุคคลกันมีการออกแบบให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงจะส่งผลอย่างไร?คำตอบก็คือจะเกิดสภาวะการเทียบเคียงทางข้อเท็จจริงระหว่าง"บทบาทและอำนาจหน้าที่ระหว่างประมุขของรัฐและประมุขของรัฐบาล"ขึ้นโดยปริยาย (De Facto) (แม้ว่าในทางกฎหมาย (De Jure) จะมีการแบ่งแยกบทบาทหน้าที่ชัดเจนก็ตาม) ในประเด็นต่างๆ มากมาย

ลักษณะการเทียบเคียงข้างต้นจะนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่ทางระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญเรียกว่า "การขัดแย้งของ ๒ ประมุข" หรือ "Dual Conflicts" อุปมาดั่ง "นกอินทรีสองหัว" ซึ่งสภาวะเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นในระบบประธานาธิบดีที่มีประมุขของรัฐและประมุขของรัฐบาลเป็นบุคคลเดียวกัน

ดังนั้นด้วยเหตุผลในเชิงหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ผมอธิบายผ่านกรอบ"ระบบรัฐบาล"

จึงเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่าหากเราจะกำหนดให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงจะส่งผลกระทบเช่นไรบ้าง (ที่ผ่านมาในหลายประเทศทั่วโลก จะไม่มีการออกแบบให้มีการเลือกโดยตรงกับตำแหน่งประมุขของรัฐบาล ยกเว้น อิสราเอล ซึ่งปัจจุบันก็ได้ยกเลิกไปแล้ว)

หากที่ผ่านมาเราคัดค้านระบบการทำประชามติในตัวผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง(Plebiscite)เนื่องมาจากอาจส่งผลต่อการแสดงบทหน้าที่และความรับผิดของตนเองฉันใดระบบการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีก็มิได้ผิดแผกแตกต่างไปจากระบบนี้ด้วยฉันนั้น

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์