อ.จุฬาฯชี้ถ้ายังตะแบง16เสียงอีกพลังต้านจะสูงขึ้นในวันที่7เม.ย.

อ.จุฬาฯชี้ถ้ายังตะแบง16เสียงอีกพลังต้านจะสูงขึ้นในวันที่7เม.ย.

อาจารย์นิติจุฬาฯชี้อย่างไรต้องเปิดสภาใน 30 วัน อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เชื่อ หากยังตะแบง 16 ล้านเสียงเป็นอารยะดื้อด้าน พลังต้านจะหนักขึ้นในวันที่ 7 เม.ย. หวั่นประชาชนลุกฮือเลิกจ่ายภาษี เพราะคลังถังแตกแล้ว คณบดีนิติจุฬา ท้า ทักษิณสั่งสรรพากรประเมินภาษีหุ้นชิน เปิดทางส่งศาลตรวจสอบ

(4เมษายน) เครือข่ายนักวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันเสนอบทวิเคราะห์ทางวิชาการ หลังการเลือกตั้ง 2 เม.ย.เพื่อผ่าวิกฤติและสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองของสังคมไทย โดยนายณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การวิเคราะห์ในมุมมองของกฎหมายถึงขัดต่ออารมณ์ แต่ก็ต้องยอมรับว่า รัฐบาลทักษิณมีความชอบ ทางกฎหมาย ในการเป็นรัฐบาล

ดังนั้น ต้องตีความตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม. 159 คือ หลังการเลือกตั้ง 30 วัน ต้องเปิดประชุมสภาฯ ไม่ว่าการเลือกตั้งซ่อมจะได้ผู้แทนที่มีคะแนน 5% ก็ต้องประกาศรับรอง เพราะตัวเลข 20% ถูกเขียนไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่สามารถตีความให้ขัดกับกฎหมายแม่ และไม่สามารถตีความให้รัฐบาลเป็นสุญญากาศได้ แต่ปัญหาคือ ความชอบธรรมทางการเมือง สภาพรรคเดียว จะนำไปสู่กรรมาธิการพรรคเดียว ซึ่งทำหน้าที่ตกลงผลประโยชน์ การตรวจสอบเป็นหมัน แม้จะฝากความหวังไว้กับส.ว.โดยเฉพาะส.ว.กทม.ก็ทำได้เพียงกดดันทางอ้อม

ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การออกเสียงโนโหวตและการไม่ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนน แสดงถึงความไม่เชื่อถือของพลเมืองที่มีต่อรัฐบาล การแสดงออก สามารถทำได้หลายวิธี แต่มาตรการหนักที่สุด คือการไม่เสียภาษี ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการคลังวิตกกังวลมาก เพราะในหลายประเทศ การประท้วงไม่เสียภาษี ทำให้รัฐบาลบริหารประเทศไม่ได้ ตนมองว่า หลังการเลือกตั้ง พลเมืองจะต้องทำการอารยะขัดขืนต่อไป จนกว่ารัฐบาลจะมีความน่าไว้วางใจมากขึ้น เพราะ 10 ล้านเสียง ได้ประกาศชัดเจนแล้วว่า ไม่ขอมอบอำนาจอธิปไตยให้ผู้ใดมาบริหารประเทศ รัฐบาลหลังจากนี้ ควรถอยมาทำหน้าที่แค่รักษาการณ์ และต้องไม่ทำความเสียหายให้ประเทศมากเท่าขณะนี้ นโยบายที่ประกาศไว้ในการหาเสียง ไม่ควรนำมาใช้บริหารประเทศ รวมทั้งไม่ควรสร้างหนี้ผูกพัน เช่นจากโครงการเมกะโปรเจคส์

ผมไม่อยากชี้นำเรื่องการประท้วงไม่เสียภาษี เพราะจะทำให้เกิดความเสียหาย จนกว่ารัฐบาลจะแสดงให้เห็นถึงการดื้อด้าน ตะแบง 16 ล้านเสียง แม้ขณะนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มจะถูกหัก ณ ที่จ่าย แต่บริษัทผู้ขาย ก็สามารถไม่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นภาษีหลักในการบริหารประเทศ เฉลี่ยวันละ 20,000 ล้านบาท ขณะนี้รัฐบาลไม่มีเงิน จนต้องยืมจากบัญชีเงินกู้เพื่อการศึกษา 7,000 ล้านบาท มาเป็นเงินคงคลัง และหลังวันที่ 7 เม.ย.หากรัฐบาลยังอารยะดื้อด้าน ก็จะเจอคลื่นที่แรงกว่าเก่า ซึ่งจะขยับไปสู่การต่อต้านด้วยการไม่เสียภาษี และจากนั้น อาจนำไปสู่การนัดหยุดงานของข้าราชการ เนื่องจากรัฐบาลไม่มีเงินภาษีไปจ้าง ศ.ดร.จรัส กล่าว

ผศ.ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลและกรมสรรพากร ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการไม่เสียภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ปฯ เป็นการชี้แจงกับประชาชนที่ไม่มีความรู้เรื่องเทคนิคทางภาษี แต่ขณะนี้เกิดปัญหาความชอบธรรม ถึงการคำนวณภาษีส่วนต่าง

นอกจากนี้การคำนวณภาษี ยังต้องพิจารณาตามหลักสุจริต ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 5 คือ การซื้อขายระหว่างประเทศ เป็นที่รู้กันดีว่า ต้องตกลงราคาโดยสุจริต ซึ่งพื้นฐานคือใช้ราคาซื้อขายในตลาดจริง ๆ หากไม่ยึดหลักนี้ จะกระทบต่อระบบภาษีของทั้งประเทศ บริษัทโบรกเกอร์ ผู้ทำหน้าที่ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ก็คงต้องภาวนาให้รัฐบาลนี้ อยู่ยาวเกิน 10 ปี เพื่อไม่ให้มีการประเมินภาษี เพราะหากมีการประเมินภาษีขึ้นมาเมื่อไร บริษัทโบรกเกอร์ คือผู้ต้องรับผิดชอบจ่ายแทนภาษีทั้งหมด พร้อมค่าปรับ 1.5% ต่อเดือน ตนจึงขอร้องให้นายกฯ โปรดสั่งการไปยังกระทรวงการคลัง และกรมสรรพากร ให้ประเมินภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ เพื่อเปิดทางให้คดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรม หากนายกฯ มั่นใจในความเห็นของที่ปรึกษาและกรมสรรพากร ก็ต้องกล้าเปิดทางให้ศาลเข้ามาพิจารณาหลักฐานทั้งหมด และตัดสินคดี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์