หายใจรดต้นคอไทย ธรณีไหว

กรณีแผ่นดินไหวระดับรุนแรงมากราว 9 ริคเตอร์ ที่เกิดที่ประเทศญี่ปุ่น จนเป็นวิปโยคใหญ่เขย่าโลก นั่นว่าเป็น ’บทเรียน“ ที่ประเทศไทยควรจะสนใจให้มากแล้ว พอเกิดแผ่นดินไหว 6.7 ริคเตอร์ โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ในประเทศพม่า ประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดติดไทย นี่ยิ่งเป็น บทเรียนที่ ’สำคัญ“ ยิ่งกว่า...

แผ่นดินไหวในพม่าแม้จะไม่เสียหายมากเท่าญี่ปุ่น...
แต่นี่ก็บ่งชี้ได้ชัด ๆ ว่า ’ไทยจะประมาทภัยนี้มิได้ !!“

ทั้งนี้ แม้แผ่นดินไหวล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมาจะมีจุดศูนย์กลางการเกิดอยู่ในประเทศพม่า แต่ “แผ่นดิน” ในประเทศไทยเราก็ ไหว และมิใช่ไหวแค่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนใกล้พม่าเท่านั้น แต่ยังไหวในอีกหลายจังหวัด แม้แต่กรุงเทพฯ ที่อยู่ห่างจุดศูนย์กลางมากก็ยังไหว เพราะกรุงเทพฯ และจังหวัดรายรอบนั้นตั้งอยู่บนพื้นโลกที่เป็น “ดินอ่อน” ซึ่งสามารถ “ขยายความรุนแรงของระดับแผ่นดินไหว” ได้อีกราว 3-4 เท่า

และแม้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวจะอยู่ในพม่า แต่ธรณีพิโรธ-ธรณีไหวครั้งนี้ก็ส่งผลโดยตรงให้คนไทยเสียชีวิต อย่างน้อย
ก็ 1 ราย ที่ กำแพงบ้านพังถล่มทับ ซึ่งในประเทศไทยเราก็มีถึง 13 รอยเลื่อนของแผ่นดินที่ยังมีพลัง-ที่สามารถจะเกิดแผ่นดินไหวได้ หากเกิดแผ่นดินไหวที่มิใช่ระดับเล็กน้อยขึ้น ก็น่าคิดว่า
ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร ??

ไทยจะเสียหายเหมือนที่เกิดในพม่าล่าสุด...หรือไม่ ?

หรือจะยิ่งกว่า...เพราะไทยมีสิ่งปลูกสร้างมากกว่า ??

หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 9 ริคเตอร์ที่ญี่ปุ่น เมื่อ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดแผ่นดินไหวในพม่าซึ่งก็มีคนเสียชีวิตไปไม่น้อย ในประเทศไทยเรามีการพูดถึงความเสี่ยงในการพังทลายของสิ่งปลูกสร้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาคารสูงรุ่นเก่า ๆ ที่โครงสร้างไม่ได้มีการออกแบบเผื่อสำหรับรับแรงแผ่นดินไหว และรวมถึง สิ่งปลูกสร้างที่ไม่สูง เช่น อาคารพาณิชย์หรือตึกแถว ทาวน์เฮาส์ หรือแม้แต่บ้านพักอาศัยทั่ว ๆ ไป ซึ่งผู้สันทัดกรณีก็เริ่มชี้ให้เห็นภัย ชี้ว่าหากเกิดแผ่นดินไหวก็อาจจะเกิดการพังทลายได้เช่นกัน

กับกรณีสิ่งปลูกสร้างที่ไม่สูงนี้ กล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่าทาง “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” เป็นสื่อแรกที่เปิดประเด็นไว้ โดยสะท้อนไว้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2549 และก็มีการนำเรื่องนี้มาสะท้อนซ้ำเป็นระยะ ซึ่งผู้สันทัดกรณีที่เคยชี้ถึงเรื่องนี้ผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ไว้ตั้งแต่ปี 2549 ก็เช่น ชาติชาย สุภัควนิช ประธานบริษัท ทูพลัส ซอฟท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีก่อสร้าง และ กก.ผจก.บริษัท ไทยนาโน เฮ้าส์ (thainanohouse.com) ซึ่งทำวิจัยและผลิตบ้าน-อาคารประหยัดพลังงานที่ต้านพิบัติภัย เช่น แผ่นดินไหว ได้ โดยผู้เชี่ยวชาญรายนี้ชี้ไว้ว่า...

“...กฎที่เมืองไทยเคยออกไว้เมื่อปี 2540 ว่า สิ่งปลูกสร้างต้องออกแบบให้มีการต้านแผ่นดินไหวด้วย ในความเป็นจริงวิศวกรบางส่วนไม่ค่อยคำนึงถึงและนำไปใช้มากนัก เมื่อไม่มีการคิดคำนวณเพื่อการรับแรงสั่นสะเทือน สิ่งปลูกสร้างก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการรับมือกับแผ่นดินไหว หากพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่า ที่ผ่านมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในเมืองไทยอาคารที่เป็นตึกสูง ที่ออกแบบโดยวิศวกรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่จะไม่ค่อยมีปัญหา สิ่งปลูกสร้างในเมืองไทยที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมากที่สุด จะเป็นอาคาร ที่อยู่อาศัย ที่เป็นตึกเตี้ย ๆ มากกว่า ซึ่งสรุปก็คือโครงสร้างอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะรับแรงสั่นสะเทือนของการเกิดแผ่นดินไหว !!” ...ผู้สันทัดกรณีรายนี้ชี้ไว้

ทั้งนี้ มาถึงปัจจุบัน...เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนา ประเทศไทยเราพร้อมรับภัยแผ่นดินไหวและสึนามิอย่างไร ? ก็มีแง่มุมที่น่าสนใจ โดย ศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ระบุไว้บางช่วงบางตอนว่า... ขนาดญี่ปุ่นที่มีสิ่งแวดล้อม มีสภาพแวดล้อม ทั้งในด้านเทคโนโลยี ทั้งเงินงบประมาณ ทั้งสภาพความพร้อมของประชาชนที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจและมีการ ฝึกซ้อมตลอด แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้น การบริหารจัดการก็ยังมีปัญหา ขณะที่เมื่อย้อนมองดูประเทศไทย ณ วันนี้สภาพแวดล้อมดังว่ายังแทบมองเห็นได้ไม่ชัด ซึ่ง ถ้าเกิดเหตุขึ้นจริง ๆ ไทยเราจะทำอย่างไร ?

ศ.ดร.ปณิธานเสนอว่า... ควรมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการอาคารเปิดเผยข้อมูลการต้านทานแผ่นดินไหว เพื่อให้ผู้บริโภคตรวจสอบ ซึ่งขนาดอาหารกระป๋อง หรือขนม ยังต้องแสดงฉลาก แล้วนี่เป็นตึก เป็นอาคารที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก การเปิดเผยข้อมูลด้านนี้ก็น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคเช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ยังบอกไว้อีกว่า...แม้จาก ข้อมูลที่มีจะเชื่อว่าในไทยจะไม่มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เหมือนที่ประเทศอื่น เจอ แต่เรื่องจริง ๆ คือ ภัยธรรมชาตินั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ 100% ดังนั้น คำถามคือ เราจะรอเวลาให้เวลานั้นมาถึงก่อน...ถึงจะเตรียมตัวหรือไม่ ? ถ้าเกิดขึ้น...ความพร้อมของเรามีแค่ไหน ?

...ประเทศไทยควรจะมีปฏิกิริยาในการเตรียมตัว
   
มากกว่าแค่แสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหา...“.



ข้อมูลโดย : เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์