หมดเวลาเหล้าเก่า ถึงเวลา ประชาธิปัตย์ ถ่ายเลือด !!


อาจจะเป็นธรรมชาติ ที่ความเคลื่อนไหวของ "ผู้ชนะ" จะได้รับความสนใจมากกว่า "ผู้แพ้"

ข่าวสารการจัดตั้ง "ครม.ปู 1" จึงเบียดบี้กระบวนการจัดทัพใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จนแทบไม่เห็นความเคลื่อนไหว

ทั้งที่จะว่าไปแล้ว การขยับตัวดังกล่าวมีนัยลึกไปถึงการขยับขุมอำนาจภายใน ที่จะนำไปสู่การปรับทิศทางการทำงานของพรรคเก่าแก่นี้

1.การที่ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ประกาศไม่รับตำแหน่งเลขาธิการ ปชป. จะส่งผลกระเทือนอย่างไร ??

แม้ด้านหนึ่งเท่ากับพรรคสีฟ้าจะได้ "ขุนพลฝีปากกล้า" กลับมา 1 คน เพราะจากนี้ไป "สุเทพ" จะเดินเกมการเมืองได้สะดวกยิ่งขึ้น ไม่ต้องถูกรัดรึงด้วยภาระหน้าที่อันหนักหนาสาหัสในฐานะแม่บ้านพรรคอีก

ทว่าสิ่งที่ตามมา คือการขยับขุมอำนาจครั้งใหญ่ จากเดิมที่มีชื่อคนใกล้ชิดสุเทพอยู่ถึง 9 จาก 19 คน

ทั้งรองหัวหน้าพรรค 3 คน ได้แก่ นิพนธ์ พร้อมพันธุ์, ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ และวิทยา แก้วภราดัย รองเลขาธิการพรรค 2 คน ทั้งชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และศิริวรรณ ปราศจากศัตรู รวมถึงอัญชลี วานิช เทพบุตร เหรัญญิก ชินวรณ์ บุณยเกียรติ นายทะเบียนพรรค สาธิต ปิตุเตชะ กรรมการบริหารพรรค และ สุเทพ

จากนี้ไป บารมี-อำนาจของ "เทพเทือก" จะลดลง เห็นได้จากการคัดเลือกเลขาฯ ปชป.คนใหม่ ที่เริ่มเกิดภาวะต่อรองจากขั้วตรงข้ามว่าที่อดีตเลขาธิการ ปชป. ซึ่งส่งเสียงสะท้อน "ไม่เอาอำนาจเก่า" ออกมาอย่างต่อเนื่อง

เป็นที่มาของความร้อนแรงของชื่อ "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" ที่มีภาพไม่ใกล้ชิดกับแม่บ้านคนเก่าเท่า "วิทยา แก้วภราดัย" และได้รับการยอมรับจากคนภายในพรรคมากกว่า "กรณ์ จาติกวณิช"

ทั้งที่ "อภิรักษ์" มีคดีทุจริตจัดซื้อรถเรือดับเพลิง ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพิ่งส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา

แสดงให้เห็นว่าอำนาจเบ็ดเสร็จในการนำ ปชป.ไม่ได้อยู่ที่คนใน "สายสุเทพ" อีกต่อไป

2.การช่วงชิงตำแหน่งรองหัวหน้า ปชป.ดูแลพื้นที่ภาคต่างๆ จะทำให้ "สะตอแตก"??

ภาคใต้ เริ่มมีการล็อบบี้ขอคะแนนชิงเก้าอี้จาก "วิทยา แก้วภราดัย" โดย "วิรัช ร่มเย็น" คนใกล้ชิด "นายหัวชวน" ชวน หลีกภัย และ "ถาวร เสนเนียม" คนใกล้ชิด พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ หรือ "เสธ.หนั่น" อดีตเลขาธิการ ปชป.แห่งบ้านสนามบินน้ำ

ภาคเหนือ ที่ "ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์" คนใกล้ชิด "สุเทพ" อีกราย มีคู่แข่งที่เบียดขึ้นมาหายใจรดต้นคออย่าง "จุติ ไกรฤกษ์"

ภาคกลาง ที่ "อลงกรณ์ พลบุตร" ขอชิงตำแหน่งคืนจาก "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" หลังจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วถูกสั่งสอนไปเพราะคิดการใหญ่จะชิงตำแหน่งเบอร์ 2 ของพรรค

ส่วนภาคอีสาน จะเปลี่ยนมือจาก "ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ" ซึ่งมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ส่งต่อไปให้ "อิสสระ สมชัย"

มีเพียงภาค กทม.เท่านั้น ที่น่าจะยืนตามเดิมคือ "กรณ์ จาติกวณิช" .. การขยับเขยื้อน-เดินเกมเหล่านี้ เป็นสัญญาณบอกว่า "ดุลอำนาจ" ภายใน ปชป.จะไม่เหมือนเดิม !!

3.เมื่อ "โครงสร้างพรรค" เปลี่ยน ก็เชื่อว่าจะทำให้ "แนวทางทำงาน" ของ ปชป.เปลี่ยนไปด้วย

การใช้วิวาทะโจมตีฝ่ายตรงข้าม จนถูกล้อเลียนว่า "ดีแต่พูด" อาจลดระดับลงไปอยู่ระดับที่พอเหมาะพอดีขึ้น

แต่ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า ปชป.เป็นสถาบันทางการเมือง มีประเพณี วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ จึงยากที่จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคนในเวลาชั่วข้ามคืน

การจัดสรรคน จึงต้องคำนึงถึงความใกล้ชิด พื้นที่ สายสัมพันธ์ ไม่แปลกที่ขั้วอำนาจเดิม จะประกาศจองรองหัวหน้าพรรคไว้ 2 เก้าอี้ และรองเลขาธิการ 1 เก้าอี้ เป็นอย่างน้อย

แต่การผลักดันให้ "คนรุ่นใหม่" ขึ้นมามีบทบาทมากขึ้น ก็จะทำให้แนวทางขยับไปจากทิศเดิม ไม่ใช่แนวทางที่เคยทำให้แพ้พรรคการเมืองของชายชื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" ไม่ว่าจะชื่อไทยรักไทย พลังประชาชน หรือเพื่อไทย ถึง 4 ครั้งรวดใน 10 ปีที่ผ่านมา

เช่นความเห็นของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ที่ว่า การเป็นฝ่ายค้านถือเป็นโอกาส ซึ่งทุกคนต้องมาช่วยกันคิดว่าทำไมคนถึงไม่เลือก ปชป.

"สำคัญที่สุดคือพรรคต้องกระฉับกระเฉงมากกว่านี้ ทันสมัยกว่านี้ คนหนุ่มสาวที่เข้ามา ก็ตองดูว่าจะไปวางตรงไหน ให้ทำงานอะไรถึงจะเหมาะสม"

ผลการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีของ ปชป.ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ จึงไม่ใช่แค่เปลี่ยน "หน้าตา" ผู้บริหารพรรค แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีเนื้อหา-ที่มา-ที่ไป เบื้องลึก-เบื้องหลัง ซึ่งจะส่งผลต่อการเมืองไทยในระยะใกล้นี้อย่างแน่นอน !!!


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์