สุเมธค้านตั้งศาลพิเศษ พิจารณาคดีเลือกตั้ง

"สุเมธ"ค้านตั้งศาลพิเศษ พิจารณาคดีเลือกตั้ง

นายสุเมธ อุปนิสากร กกต.

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 มกราคม 2550 14:23 น.

กกต.ด้านการมีส่วนร่วม ค้านแนวคิดตั้งศาลพิเศษพิจารณาคดีเลือกตั้ง ชี้เป็นโยนภาระให้องค์คณะผู้พิพากษาและระบบการพิจารณาแตกต่างกัน เพราะกกต.ใช้ระบบไต่สวน ระบุกฏหมายดีอยู่แล้วหากอำนาจรัฐไม่แทรกแซง ความเสียหายก็คงไม่เกิดขึ้น

วันนี้ (2 ม.ค.) นายสุเมธ อุปนิสากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านการมีส่วนร่วม ในฐานะอดีตผู้พิพากษาอาวุโส กล่าวถึงแนวคิดที่จะให้ตั้งศาลพิเศษหรือศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับศาลยุติธรรมเกินความจำเป็น เพราะระบบการพิจารณาคดีแตกต่างกัน เนื่องจากการพิจารณาของศาลเป็นระบบกล่าวหา แต่การพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ กกต.เป็นระบบไต่สวน หากจะส่งเรื่องนี้กลับไปอยู่ในการดูแลของศาลยุติธรรมก็ต้องเพิ่มบุคลากรของศาล ออกระเบียบข้อบังคับของศาลใหม่ รวมทั้งต้องเตรียมความพร้อมผู้พิพากษาที่มาพิจารณาคดีเลือกตั้ง ให้ปรับแนวทางการตัดสินคดีใหม่ เนื่องจากฐานการตัดสินว่าจะให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งที่เรียกกันว่าใบเหลืองใบแดงนั้นเป็นเพียงมีพฤติการณ์ว่า การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมก็ตัดสินได้ ในขณะที่การตัดสินคดีของผู้พิพากษานั้นจะต้องเชื่อโดยไม่ข้อสงสัยแล้วว่าผู้ต้องหากระทำผิดจริง

ขณะนี้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกานัดพิจารณาล่วงหน้า 2-3 ปี ซึ่งทำให้เห็นว่าคดีตอนนี้ล้นศาลอยู่แล้ว

ถ้าจะให้มาพิจารณาคดีเลือกตั้งอีกจะเป็นการย้อนกลับไปสู่ปัญหาเดิม ๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นดึงเรื่องออกจากศาลมาให้ กกต.เป็นผู้ชี้ขาดหรือการตั้ง กกต.ให้มาจัดการเลือกตั้งและมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการเลือกตั้งทุกอย่างนั้นก็เป็นไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ ผมถามว่าทำไมต้องกลับไปที่เดิมอีก เหมือนกับว่าวันหนึ่งขับรถเก๋งอยู่แล้วบอกว่าไม่พอนั่งกัน จึงเปลี่ยนไปเป็นรถตู้ แต่พอคนขับรถตู้ขับไม่ดีแล้วจะกลับไปสู่รถเก๋งเลยนั้นผมว่าไม่ถูกต้อง ระบบปัจจุบันดีอยู่แล้วแต่ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น เป็นเพราะคนที่มาทำให้ระบบพัง เมื่อรู้ว่าจุดไหนบกพร่องก็ควรแก้ไขตรงนั้น ปรับเปลี่ยนวิธีการจะดีกว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เขียนไว้ดีแล้ว ถ้าคนที่มีอำนาจหรือคนที่เป็นนายกฯ ในขณะนั้นมีจิตสำนึก ไม่เข้าไปแทรกแซง ความเสียหายก็คงไม่เกิดขึ้น นายสุเมธ กล่าว

นายสุเมธ ยังกล่าวถึงเหตุผลหลักที่ไม่ต้องการให้ศาลยุติธรรมเข้ามาพิจารณาคดีเลือกตั้ง

เพราะในฐานะที่เคยทำงานเป็นผู้พิพากษามาก่อน อยากให้ผู้พิพากษาอยู่รักษาองค์กรจะดีกว่า ตนไม่ได้กลัวว่าศาลจะทำงานนี้ล้มเหลว แต่ไม่อยากให้ออกมาเกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองมากเกินไป สุดท้ายจะไปสู่การทำให้สถาบันศาลยุติธรรมเสื่อม เพราะต้องยอมรับว่านิสัยของศาลนั้นจะสมถะ เก็บเนื้อเก็บตัว ผู้พิพากษาก็ยังมีความรัก โลภ โกรธ หลง หากต้องมาสัมผัสกับคนที่ทำอะไรก็ได้เพื่อชัยชนะของตัวเอง อาจจะทำให้ศาลไขว้เขว เสียนิสัยเพราะมีคนไปเอาอกเอาใจมาก อีกทั้งผู้พิพากษาส่วนใหญ่ก็ไม่อยากจะมาพิจารณาคดีเลือกตั้งเช่นกัน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์