“สุเทพ” ยันสัมพันธ์ทหารไทย-กัมพูชาไม่เปลี่ยน

เมื่อเวลา 08.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) ตั้งแต่วันที่วันที่ 26-27 พ.ย.เกี่ยวกับการกำหนดท่าทีและการพิจารณาบันทึกข้อตกลงร่วม ว่า รัฐบาลตอบโต้กัมพูชาถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศหรือการทูต แต่ความสัมพันธ์ของฝ่ายความมั่นคงเกี่ยวกับทหารยังคงไว้ เพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลายทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชายังให้ทหารของทั้ง 2 ฝ่าย ติดต่อพูดคุยกันตลอดเวลา โดยระมัดระวังไม่ให้เกิดความตึงเครียดขึ้นบริเวณชายแดน เราเป็นเพื่อนบ้านมีโอกาสผิดใจกันได้ แต่ไม่ต้องถึงกับสู้รบกัน ต้องช่วยกันรักษาสันติภาพและความสงบ

เมื่อถามว่า การประชุมจีบีซีจะยังคงเดินหน้าต่อไปหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ยังเดินหน้า มีการพูดคุยและปรึกษาหารือกันอยู่

ส่วนที่มีข่าวลือการปิดด่านชายแดนนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่มี ตนเคยบอกหลายครั้งแล้วว่าเราไม่ทำ เพราะต้องระมัดระวังไม่ให้ไปกระทบกับวิถีชีวิตของประชาชนบริเวณชายแดน คนไทยและคนกัมพูชาตามแนวชายแดน มีความเป็นญาติพี่น้อง และไปมาหาสู่กัน จึงไม่ควรไปสกัดกั้น เมื่อถามว่าในเรื่องความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกันจะทำอย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า อีกสักพักคงจะแก้ไขสถานการณ์ได้ ต้องขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและความพร้อมของทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.การต่างประเทศ เสนอให้รัฐบาลขอเปิดเจรจากับทางกัมพูชาก่อนเพื่อแก้ปัญหา

โดยระบุว่าไม่ใช่เรื่องการเสียหน้า พร้อมกับให้ดึงปัญหาเรื่องนี้ให้ยกระดับเป็นปัญหาของอาเซียน นายสุเทพ กล่าวว่า อาจคิดไม่เหมือนกัน นายสุรเกียรติ์อาจจะคิดอย่างนั้น แต่รัฐบาลคิดว่าเป็นเรื่องของ 2 ประเทศ ไม่จำเป็นต้องยกระดับให้เป็นปัญหาของอาเซียนหรือสูงกว่านั้น ซึ่งทางกัมพูชาและไทยต้องหาเวลาที่เหมาะสมปรับความเข้าใจกันเพื่อแก้ปัญหา รัฐบาลไม่ได้คิดเรื่องการเสียหน้าอะไร แต่ตราบใดที่เงื่อนไขไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็ถือว่าลำบากที่จะเจรจา แต่คิดว่าอีกสักพักทางกัมพูชาจะเข้าใจในข้อเท็จจริง

ต่อข้อถามว่าเราได้ยื่นเงื่อนไขไปถึงรัฐบาลกัมพูชาโดยขอให้ปลด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากการเป็นที่ปรึกษาแล้วใช่หรือไม่ 

นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าทางกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการอย่างไรไปบ้างแล้ว แต่ขณะที่เกิดเรื่องนั้นทางรัฐบาลกัมพูชาตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษา โดยปฏิเสธที่จะส่งตัวกลับมาให้ไทยดำเนินการตามกฎหมาย อีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์การเมือง และระบบยุติธรรมของไทย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นจึงต้องให้ถึงช่วงจังหวะเหมาะ ก็คงจะมีการพูดคุยเจรจากัน


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์