สุรนันทน์ยันเงินกู้ 2 ล้านล้านไม่ใช่เป็นงบแผ่นดิน

สุรนันทน์ยันเงินกู้ 2 ล้านล้านไม่ใช่เป็นงบแผ่นดิน

เลขาธิการนายกฯ โต้ คปก. แจงยิบ ยันเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ไม่ใช่เป็นเงินแผ่นดิน เพราะไม่ได้ถูกส่งเข้าบัญชีคลัง จึงไม่ขัดรธน.มาตรา 169


นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ระบุว่าการออกร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท)มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ มาตรา 169 ที่ว่าการจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังนั้น ใช้มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2492

ซึ่งระหว่างใช้รัฐธรรมนูญเหล่านี้ ได้มีการตรา พ.ร.บ.กู้เงินตามวัตถุประสงค์เฉพาะเรื่องหลายฉบับ ควบคู่กับพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ

โดยในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 (ไทยเข้มแข็ง) ซึ่งมีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนไร้ฝุ่น เป็นต้น
นายสุรนันทน์ กล่าวอีกว่า แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ว่ารายจ่ายที่จะจ่ายจากเงินแผ่นดิน คือเงินที่อยู่ในบัญชีคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

ส่วนเงินกู้ไม่ใช่เป็นเงินแผ่นดิน เพราะไม่ได้ถูกส่งเข้าบัญชีคลัง แต่เป็นเงินกู้จากแหล่งเงินอื่น และต้องใช้จ่ายได้เฉพาะตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงินเท่านั้น

จึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 169 ส่วนการระบุว่าร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ให้มีโอกาสตรวจสอบการใช้จ่ายเงินเป็นเวลา 7 ปีนั้น การใช้จ่ายเงินกู้จะกำหนดวัตถุประสงค์การใช้จ่ายที่ชัดเจน และมาตรการควบคุม โดยมีบัญชีแนบท้ายที่แสดงยุทธศาสตร์ และวงเงินอย่างชัดเจน ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงการควบคุมการใช้จ่ายตามระบบงบประมาณ นอกจากนี้กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนให้ครบถ้วนและขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)

โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานกลางก่อนการดำเนินการ
นายสุรนันทน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ โครงการส่วนใหญ่ เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และโครงการทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) ได้มีการศึกษาความคุ้มค่าทางการเงินและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์แล้ว

อีกทั้ง ในการดำเนินการจะเป็นการทยอยกู้ ทำให้ภาระหนี้ไม่สูง และเป็นการรักษาวินัยการเงินการคลัง สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง จะต้องมีการศึกษาความคุ้มค่า

ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน จึงจะเริ่มดำเนินการได้ ซึ่งคาดว่าจะไม่สามารถลงทุนได้ในปี 2556 ส่วนการที่นายคณิต ระบุว่าควรมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และควรให้ข้อมูลการดำเนินการ ผลกระทบ

ตลอดจนรายละเอียดของโครงการต่อประชาชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรอบด้านนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)และ รัฐบาลจะต้องดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 อย่างเคร่งครัด


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์