สั่งกรมประชาฯ ปรับผังช่อง11 ลุคใหม่เน้นข้อมูลมากกว่าสีสัน

"สาทิตย์" มอบนโยบายกรมประชาฯ สั่งปรับผังรายการทั้งหมด ระบุลุคใหม่ต้องเน้นข้อมูล ปชช. มากกว่าเน้นสีสัน เล็งแยก วิทยุ-โทรทัศน์ช่อง 11 บริหารต่างหาก

(18ก.พ.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า

จะไปมอบนโยบายกรมประชาสัมพันธ์วันนี้ ซึ่งหลักๆ ก็เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ในการปรับปรุงกลไกประชาสัมพันธ์ภาครัฐ ที่สำคัญคือ จะให้นโยบายกรมประชาฯว่าจะปรับบทบาท ทิศทางการทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐมากขึ้น และเป้าหมายของประเทศคืออะไร รวมถึงนโยบายด้านต่างๆ ต่อสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และวิทยุ ในต่างจังหวัด ซึ่งกรมประชาฯมีทั้งสถานีโทรทัศน์และวิทยุ ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือของรัฐ และประชาสัมพันธ์จังหวัด ในหลายจังหวัดที่ไม่ประชาสัมพันธ์จังหวัดออกสู่สาธารณชนเต็มที่


ส่วนจะให้เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งชาติหรือไม่นั้น นายสาทิตย์ กล่าวว่า

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงวิกฤติ โทรทัศน์ของรัฐควรวางตัวเป็นสถานีของชาติ หรือรัฐบาล แต่กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ดังนั้นต้องกลับมาเป็นสถานีของชาติ และให้ข้อมูลต่อประชาชนมากขึ้นมากกว่าโฆษณาชวนเชื่อและไม่เน้นสีสัน ซึ่งแนวทางแตกต่างจากโทรทัศน์สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทดิจิตอลมีเดียร์ ได้ทำหนังสือยกเลิกสัญญาและมีผลวันที่ 1 มี.ค. ดังนั้น 1 มี.ค.ต้องใช้คนในกรมประชาฯทำข่าวไปก่อน และ 1 เม.ย. จะปรับเปลี่ยนทั้งหมด โดยตนได้ให้นโยบายนายสุริยงค์ หุณฑสาร อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ว่าจะมีการปรับผังใหม่ทั้งหมดโดยให้บอกเลิกสัญญากับรายการอื่นๆ ของช่อง 11 ยกเว้นรายการที่สำคัญเกี่ยวกับสถาบันที่ยังคงไว้ เพื่อกลับสู่สถานะเริ่มต้นใหม่

โดยจะมี 2 ส่วน

คือ 1.ข่าว ต้องเป็นข่าวทางการ ไม่ใส่สีสัน และเน้นข้อมูลที่เกิดประโยชน์รอบด้าน และ

2.รายการอื่นๆ อยากเห็นบรรยากาศสื่อเสรีที่ถกเถียงกันที่ทำให้เกิดปัญญา เช่น เรื่องสุขภาพ ส่วนรูปแบบรายการจะเป็นอย่างไร ทางช่อง 11 จะไปพิจารณาโดยจะหาผู้ผลิตรายการใหม่ที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือรายการเด็กที่ดีๆ และในส่วนราชการเองก็น่าจะปรับเวลาให้ทันสมัยมากขึ้น บุคลิกช่อง 11 ใหม่จะเป็นลุคที่จริงจัง ซีเรียส ไม่เน้นสีสัน

นายสาทิตย์ กล่าวต่อไปว่า
 
ทั้งนี้กรรมการที่ตั้งขึ้นมาจะศึกษาดูกรมประชาสัมพันธ์ในระยะยาว ว่าถ้าแยกวิทยุและ โทรทัศน์ ออกมาจากกรมประชาฯ ไปบริหารจะเป็นอย่างไร ส่วน อสมท ยังไม่แตะ แต่เนื่องจากเป็นคลื่นความถี่ของรัฐ และออกสู่ตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องไปศึกษา รวมถึงคลื่นวิทยุทั้งหลายโดยเฉพาะด้านความมั่นคง หลังออกหมายคลื่นจัดสรรความถี่แล้วจะมีผลกระทบอย่างไร

"ช่อง 11 ใหม่จะเป็นรายการที่อิงชาวบ้าน ให้ข้อมูลตรงกับชาวบ้าน เช่น รายการเกี่ยวกับคนตกงาน ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 111 จะทำอย่างไรให้เป็นเหมือนร่วมด้วยช่วยกัน ที่ประสานข้อมูลมาสู่ภาครัฐ ส่วนข่าวการอิงตัวบุคคลนั้น ไม่ใช่แนวทางที่ส่งเสริม" นายสาทิตย์ กล่าว


นายสาทิตย์ กล่าวว่า

ส่วนโลโก้ของช่อง 11 นั้น ก็เป็นปัญหา และช่วงวิกฤติขัดแย้งทางการเมือง ซึ่ง NBT มีมาแต่เดิมและเป็นสากล แต่เมื่อมาเป็นความขัดแย้ง ไหนๆก็จะปรับแล้วจึงเปิดให้มีการออกแบบโลโก้เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าเป็นของเขาด้วย นอกจากนี้ นายสาทิตย์กล่าวยอมรับว่า เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็จะมีการปรับเปลี่ยนสถานีโทรทัศน์ ตนจึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้น โดยได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปสื่อภาครัฐ ซึ่งอธิบดีกรมประชาฯเล่าให้ฟังว่า วิทยุท้องถิ่นเคยให้มีการโฆษณาได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถปรับตัวสู้กับวิทยุชุมชนได้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์