สัมภาษณ์พิเศษ นันทวัฒน์ บรมานันท์ จากทหารแตงโมถึงศาลรธน.

คลิปตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้

ทั้งกรณีคลิปบทสนทนาเกี่ยวกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ และคลิปฝากเด็กสอบเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ล่าสุดซึ่งถูกปล่อยออกมาว่อนเว็บไซต์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เห็นว่าถึงเวลาต้องสังคายนาระบบภายในของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 

มองอย่างไรที่มีคลิปออกมาต่อเนื่อง 

ผมไม่ได้ดูคลิปเลย เพราะไม่ต้องการรับรู้รับฟังเนื้อหาในคลิป แต่รู้ว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม

ประเด็นของผมคือการคัดเลือกคนเข้าสู่องค์กรต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผ่านกระบวนการคัดเลือกมา แต่ภายในศาลไม่รู้กระบวนการคัดเลือกเป็นอย่างไร

ตัวอย่างคือเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ เอาใครมาไม่ทราบ ไม่มีเกณฑ์การแต่งตั้ง ใครเป็นผู้รับผิดชอบ อย่างผมเอาแมวมาเลี้ยงในบ้าน แล้วบ้านมีสิบห้องให้เขาเช่า แมวผมไม่ทำลายข้าวของคนเช่าหมด ผมก็ต้องรับผิดชอบ 

เหมือนกัน คนที่แต่งตั้งใครมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบ หากปฏิบัติไม่ได้ก็เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้

การนำคนของตัวเองเข้ามาในตำแหน่งที่ปรึกษา ถามว่าการนำคนของตัวเองเข้ามาควรจะคุมคนของตัวเองให้ได้ด้วยหรือไม่ 

มองอีกมุมหนึ่งหน่วยงานธุรการของศาลมีอยู่แล้ว คือ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลยุติธรรม หน่วยงานพวกนี้มีสำนักงานอยู่แล้ว ทำไมไม่ให้สำนักงานคัดเลือกบุคคลที่ไว้ใจได้ที่สุด และเป็นกลางที่สุดเข้ามาทำหน้าที่ เข้ามาเป็นเลขานุการของตุลาการ ของผู้พิพากษา 

การคัดเลือกควรมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของสำนักงาน จะได้ตัดตอนว่าตุลาการมาคนเดียวพร้อมความเก่งในสมองในตัวท่านเอง แล้วใช้ความเก่งในการพิจารณาวินิจฉัย ส่วนงานธุรการก็ให้สำนักงานรับผิดชอบไป 

หากตุลาการต้องการค้นคว้าเพิ่มเติมไม่ต้องให้ที่ปรึกษา แต่มอบหมายให้สำนักงานทำแทน เพราะสำนักงานมีหน่วยงานทางวิชาการอยู่แล้ว เช่น สำนักงานศาลปกครองมีหน่วยงานทางวิชาการซึ่งแข็งมาก มีการแปล มีการจัดสัมมนา การทำงานกับต่างประเทศ บางคนเก่งกว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคน 

ฉะนั้นการคัดเลือกตำแหน่งต่างๆ น่าจะให้ไปอยู่ในหน่วยธุรการศาลมากกว่า ตุลาการมาคนเดียวดีกว่า เพื่อให้ความรับผิดชอบอยู่เฉพาะตัว

ตุลาการชี้แจงเป็นการแอบถ่ายคลิปแบล็กเมล์ 

ไม่ว่าจัดฉากหรือแอบถ่าย กระบวนการตรวจสอบเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง อย่าหลงทาง

แต่ปัญหาอย่างแรกคือคนรับผิดชอบ ความจำเป็นต้องมีหรือไม่ตำแหน่งเลขานุการ คนที่จะมาดำรงตำแหน่งตรงนี้ต้องมีความรู้ ความสามารถสูง ไม่ใช่คนเดินถนนทั่วไป หรือไม่ต้องมีเลขาฯ ก็ได้ ก็ใช้คนของสำนักงานได้ 

เท่าที่อ่านข่าวมีการฝากคนเข้ามาด้วย ก่อนหน้านี้อาจมีนักการเมืองฝากเข้ามาหรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีมาเป็นสิบปี ผ่านตุลาการมาไม่รู้กี่สิบคน

เหมือนทหารก็ยังมีทหารแตงโม ศาลรัฐธรรมนูญก็อาจมีคนแบบนี้หรือไม่ เป็นเรื่องต้องสังคายนาองค์กรนี้ หรือองค์กรคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเป็นองค์กรที่เป็นกลาง ไม่ควรมีเหตุการณ์แบบนี้ 

เป็นความรับผิดชอบต่อตัวสำนักงานที่ปล่อยให้มีเหตุการณ์แบบนี้ ไม่รู้ว่าใครจะรับผิดชอบ เลขาธิการศาลก็เพิ่งมา คนเก่าไม่อยู่แล้ว ไม่รู้จะไปดำเนินการอย่างไร

ตัวสำนักงานจึงต้องถูกสังคายนา การรับคนต้องตรวจสอบให้ละเอียดเหมือนผู้พิพากษา ต้องรื้อใหม่เลย 

ประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องรับผิดชอบที่ตั้งเลขานุการ


เวลาแต่งตั้งคนมาช่วย ไม่มีหลักเกณฑ์ดำเนินการ ต้องสร้างความรับผิดชอบ ใครแต่งตั้งต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่ตั้งคณะกรรมการมาดูว่าใครเผยแพร่คลิป ใครเป็นต้นเหตุ แต่ใครเอาคนมีปัญหาเข้ามาต้องรับผิดชอบ 

สำนักงานก็ต้องรับผิดชอบไม่ว่าการถ่ายคลิป หรือการฝากคนเข้ามา ตำแหน่งเจ้าหน้าที่สำนักงานฝากเข้ามาได้อย่างไร หากสาวไปไกลๆ ก็อาจมีนักการเมืองฝากมา ไว้ใจได้อย่างไร

เรื่องยุบพรรคเป็นความลับ เกี่ยวข้องกับคนระดับสูงทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ทำงานไม่เป็นกลางไม่ได้ 

ตุลาการที่อยู่ในคลิป ต้องแสดงความรับผิดชอบถึงขั้นลาออกหรือไม่

ผมไม่อยากใช้ถ้อยคำรุนแรงว่าอยากถามหาจริยธรรมเหมือนกัน คนที่พูดหรือไม่พูด ทำหรือไม่ทำ หรือถูกพาดพิง ย่อมรู้ตัวเองว่าตัวเองไม่ได้ทำก็สู้ต่อไป หรือหากรู้ว่าตัวเองทำ ตัวเองมีจริยธรรมหรือไม่ เป็นเรื่องที่อยู่ที่ใจ สำนึก หากอยากอยู่ต่อจนเกษียณก็อยู่ต่อไป

ผลสะท้อนจากคลิปบั่นทอนความเชื่อมั่นในการตัดสินคดีของศาลรัฐธรรมนูญต่อไปหรือไม่ 

มันเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจะคิด อย่างช่วงทักษิณซุกหุ้น มีข่าวเอาคนรถ แม่บ้านมาถือหุ้น ช่วงนั้นความน่าเชื่อถือถูกทำลายไปเยอะ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ทำงานมาจนถึงวันนี้ ดังนั้น มันคงเป็นเรื่องๆ ไป ตอนซุกหุ้นภาค 2 ก็มีการเอาระเบิดไปลง เผาศาล มันก็มีทั้งคนไม่ชอบ คนชื่นชม 

ตุลาการก็ต้องทำให้เด็ดขาด เป็นเรื่องของความสำนึกของบุคคล หากทำผิดพลาดไปก็ต้องรับผิดชอบ 

ในฐานะเคยเป็นที่ปรึกษาศาลรัฐธรรมนูญทราบปัญหาภายในองค์กรเป็นอย่างไร


หลายองค์กรที่ตั้งตามรัฐธรรมนูญปีཤ คนรักษาการประธานไม่ว่า ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ วัฒนธรรมองค์กรกลัวตุลาการ ตุลาการก้าวล่วงมาดูเรื่องบริหารด้วยเป็นเรื่องปกติ แต่ทางวิชาการพูดว่าไม่ต้องการให้รัฐมนตรีรักษาการ เพราะกลัวเข้ามาแทรกแซง แต่ตุลาการก็มีรักษาการ 

ก็มีที่เห็นเป็นอาณาจักรของคนเดียวมานาน ไม่มีใครกล้าทำอะไร เพราะมีคนรักษาการ 

การฝากคนเข้าทำงานจะจริงหรือไม่ แล้วจะต้องทำอย่างไร การฝากเป็นวัฒนธรรมเพราะระบบอุปถัมภ์มีทุกที่ ฝากคนไม่ดีก็มีปัญหา ฝากคนเก่งมาความจริงก็อาจสอบเข้ามาเองได้ แต่ปัญหาคือเรื่องคนไม่มีความรู้ความสามารถ คนไม่ดี 

อย่างที่ปรึกษาตุลาการ จะเอานักการเมืองเข้ามาหรือ ก็ต้องเอาเกรดเอของประเทศ นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์เข้ามาต้องเกรดเอ ไม่ใช่เอาคนประกอบอาชีพอื่นมา 

เรื่องนี้เป็นปัญหาทางการเมืองหรือกระบวนการยุติธรรม

ผมไม่มองว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือกระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งที่ควรเปิดเผยกับสังคมปัจจุบัน ต้องเน้นความเสมอภาค ความเป็นกลาง หลักนิติรัฐที่นายกฯ หรือใครพูด แต่ไม่ยอมปล่อยให้เกิดขึ้น 

เรื่องนี้คนข้างในองค์กรที่ถูกโดดข้ามก็จะรู้สึกดีใจที่เปิดเผยเรื่องนี้ออกมา เพื่อเป็นชนวนที่นำไปสู่การแก้ปัญหา

ผลสอบกรณีคลิปแรกพรรคประชาธิปัตย์แค่ตักเตือนนายวิรัช ร่มเย็น 

เป็นเรื่องปกติ ดูอย่างโครงการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งก็ย้ายนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ไปเป็นเลขาธิการนายกฯ เป็นเรื่องการเมือง การตัดสินไม่ได้ดูผลทางอาญา แต่มองว่าหากคนนั้นยังทำประโยชน์ให้พรรคก็ยังเอาไว้อยู่

คลิปจะส่งผลต่อการตัดสินคดียุบพรรคอย่างไร

อาจไม่มีผลโดยตรงแต่ทางอ้อมมีอยู่แล้ว เราคิดว่าหากฝากคนได้ ก็ฝากเรื่องอื่นได้ แล้วแต่ตุลาการแต่ละท่านจะมีสำนึกต่อการตัดสินคดีอย่างไร ผมก็ตอบแทนไม่ได้ จะช่วยพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ แต่แง่ประชาชนมีส่วนหนึ่งที่ผิดหวัง คิดว่าเชื่อไม่ได้ไม่ว่าผลออกมาบวกหรือลบ 

ผมแยกออกไม่ว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรค ผมจะดูเหตุผลคำวินิจฉัยว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่  ผมมองว่าไม่เกี่ยวกัน แต่ที่เกี่ยวแน่ๆ คือทำให้ภาพลักษณ์ศาลออกมาไม่ดีเลย



เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์