สัมผัสวันเศร้าๆ ของกัญจนา ศิลปอาชายังไม่ลาการเมือง

ภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบ 3 พรรคการเมืองทำให้นักการเมืองหลายคนหล่นจากเก้าอี้อย่างไม่ได้ตั้งตัว

โดยเฉพาะ "บิ๊กเติ้ง-บรรหาร ศิลปอาชา" หัวเรือใหญ่พรรคชาติไทยที่หอบหิ้วลูกหลานออกจากแวดวงการเมืองถึง 5 ปีไปพร้อมกัน

ถึงวินาทีนี้หลายคนอาจมองว่าคงถึงกาลอวสานนักการเมือง "ตระกูลศิลปอาชา"

"มติชน" ได้จับเข่าคุย "กัญจนา ศิลปอาชา" หรือ "หนูนา" ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนของมังกรการเมือง ถึงทิศทางทางการเมืองของตระกูลศิลปอาชา มีประเด็นให้พิเคราะห์หลายประเด็นทีเดียว

@ หลังจากนี้ 5 ปีจะวางบทบาทตัวเองอย่างไร

ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะกลับมาเป็นนักการเมืองอีกหรือไม่ ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องอนาคต แต่สิ่งที่ได้วางแผนไว้ในอนาคตคงคล้ายกับแผนที่เคยวางไว้ภายหลังเหตุรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพราะตอนนั้นคิดว่าว่างงาน จึงจะทำในสิ่งที่ชอบ คือเรียนดนตรี แต่ต้องพับไปเพราะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นอกจากนี้ ยังจะเรียนคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นปมด้อยของตัวเอง ทั้งๆ ที่เรียนทางด้านสถิติที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลัก นอกจากนี้ อาจจะช่วยงานที่คุณพ่อทำสังคมและท่องเที่ยว

@ ชีวิตนักการเมืองที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ทำให้รู้สึกเจ็บปวดหรือไม่

ตอนที่เข้ามาเป็นการใหม่ๆ ตั้งแต่ปี 2538 เวลาเจอเหตุการณ์อะไรก็รู้สึกเจ็บปวดเป็นธรรมดา เพราะยังใหม่อยู่ อีกทั้งช่วงนั้นคุณพ่อก็เป็นนายกฯด้วย ความใหม่ที่ต้องเจอจึงดูเหมือนแรงหมด ถ้าจะมองในแง่ไม่ดีก็มองว่าเจอคลื่นลมแรงทันทีที่ก้าวเข้ามาเป็นนักการเมือง ถ้าแง่ดีถือว่าเป็นบททดสอบทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เข้มแข็งขึ้น ตอนนี้ความเข้มแข็งพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ถึงวันนี้ก็ทำใจได้แล้ว เพราะผ่านคลื่นลมมาหลายระลอกแล้ว แม้ถูกยุบพรรคและถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก็ทำใจได้ แม้วันแรกที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรคก็เซไปบ้าง แต่มาถึงวันนี้ตั้งตัวได้

@ ยอมรับคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคชาติไทยหรือไม่

ไม่เห็นด้วยแต่ต้องยอมรับ เพราะเคารพในกฎกติกาบ้านเมือง และหวังให้คนอื่นคิดเหมือนเรา

@ ประเด็นใดบ้างที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

เอ่อ (นิ่งคิด) เรื่องที่ไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรก คือกรณีที่ กกต.มีมติให้ใบแดงนายมณเฑียร สงฆ์ประชา และนางนันทนา สงฆ์ประชา ซึ่งได้แย้งว่า ทั้งอัยการและเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ส่งฟ้องยืนยันว่าอยากให้ตรวจสอบใหม่ นอกจากนี้ หากเราจำต้องยอมรับกับการให้ใบแดงก็ไม่เห็นด้วยที่ต้องมาเอาผิดถึงขั้นยุบพรรค โดยก็มีข้อสังเกตต่อคำตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าการพิจารณาครั้งนี้ใช้เวลาพิจารณาเร็วมาก ทั้งที่ควรมีโอกาสนำพยานทั้ง 19 ปากไปให้ถ้อยคำต่อศาล ดูทุกอย่างเร็วเหลือเกินและตรงกับสิ่งที่แกนนำพันธมิตรบอก ทำให้มีข้อกังขาต่อกระบวนการพิจารณาและคำตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

@ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตั้งธงมายุบพรรคหรือไม่

ถือเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งข้อครหาและเหตุการณ์ก็ชวนให้คิดไปว่ามีการตั้งธงมาหรือเปล่าคงเป็นเหตุผลหนึ่งที่พรรคพลังประชาชน (พปช.) บอกว่าหัวหน้า พปช.ไม่จำเป็นต้องแถลงปิดคดี เพราะจะแถลงปิดคดีหรือไม่ก็ไม่มีประโยชน์ เมื่อธงมาอย่างไรก็คงต้องเป็นอย่างนั้น แต่ก็ยังดีใจที่ตุลาการ 1 ท่านใจกว้างเปิดรับฟังความคิดเห็น และมีมติว่าพรรคชาติไทยไม่ควรถูกยุบ อยากจะกราบเรียนไปถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า หากพิจารณาอยู่บนพื้นฐานวิจารณญาณอันเที่ยงธรรมแห่งวิชาชีพของท่าน ดิฉันก็เคารพ แต่ถ้าท่านตัดสินโดยไม่ได้เกิดจากวิจารณญาณอันเที่ยงธรรม ขอให้จิตสำนึกของการกระทำของท่านในวันนี้เป็นตราบาปหลอนจนวันตาย ถ้าไม่จริงก็ขออภัย

@ การยุบทั้ง3พรรคคลี่คลายวิกฤตชาติหรือไม่ เพราะกลุ่มพันธมิตรก็ประกาศยุติการชุมนุม

ตอบไม่ถูกว่าใช่หรือไม่ ดูเหมือนว่าเหตุการณ์ในที่เกิดขึ้นเหมือนมันใช่ แต่จะเป็นชั่วคราวหรือระยะยาวก็คงต้องดูอีกครั้ง ตุลาศาลรัฐธรรมนูญอาจจะคิดว่าคำตัดสินในวันที่ 2 ธันวาคม จะปลดล็อคให้กับประเทศชาติ แต่ถ้าดูตามเหตุการณ์ทางการร่วมรัฐบาลเดิมก็ยังเกาะกลุ่มกันอยู่ ถ้ามีการเลือกนายกฯคนใหม่แล้วยังเป็นคนที่พันธมิตรไม่พอใจก็จะออกมาทำเยี่ยงเดิมอีก ฉะนั้น ต้องดูว่าจะแก้ปัญหาได้ถาวรหรือไม่

@ บ้านเมืองจะโกลาหลอีกหรือไม่

ตอนนี้ยังตอบไม่ได้คงต้องดูสถานการณ์อีก 1-2 เดือน คาดว่าจะเริ่มชัดเจน เพราะจะมีการเลือกตั้งและมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่สิ่งที่จะยังยืนยันคือพรรคชาติไทยไม่เปลี่ยนขั้ว (เน้นเสียง)

@ มองบทบาทพันธมิตรหลังจากประกาศเคลื่อนตัวจนถึงประกาศยุติการชุมนุมอย่างไรบ้าง

ก่อนที่พูดถึงบทบาทของพันธมิตรขอตั้งคำถามเป็นคำถามต่อสังคม สามประการ คือ 1.สังคมมักจะมองนักการเมืองว่าจะเข้ามาโกงกินจึงมีมาตรการตรวจสอบมากมาย รวมทั้งประณามพฤติกรรมนักการเมืองต่างๆ นานา โดยเฉพาะคำเปิดคดีก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินใจยุบทั้ง 3 พรรค เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ค่อนข้างจะรุนแรง หลายคนก็บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะมาเอ่ยถ้อยคำรุนแรงเหล่านั้นต่อนักการเมือง แต่ท่านก็เอ่ย เหตุที่ยกคำพูดเหล่านี้ต้องการจะบอกสังคมว่า การตั้งหน้าตั้งตาตรวจสอบนักการเมืองด้วยการประท้วงปิดสนามบิน ยึดทำเนียบทำให้เกิดความเสียหายนับแสนล้านกับประเทศชาติแล้ว อันนี้ยังไม่รวมความเสียหายในอนาคตที่จะตามมา ซึ่งตีค่าเป็นเงินไม่ได้ นั่นก็คือความเชื่อมั่นในประเทศจากสายตาชาวต่างชาติที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ อยากจะถามว่าสิ่งเหล่านี้ใครจะรับผิดชอบ มันเกิดขึ้นแล้วและเห็นชัดแล้วว่าใครเป็นคนทำ

ประเด็นที่ 2 ไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมาอย่างไรเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็พร้อมจะปฏิบัติตาม แต่คนบางกลุ่มสามารถละเมิดศาลได้ ทำผิดอะไรก็ได้ กล่าวจาบจ้วงใครก็ได้ ไปยึดไอ้โน่นไอ้นี่ก็ได้แต่ไม่ผิด อย่างนี้กรอบกติกาสังคมอยู่ตรงไหน เพราะการจะยึดโยงเป็นประเทศชาติได้ต้องเคารพกฎกติกาของประเทศนั้น การที่บอกว่ารักชาติคงต้องรักแบบนี้ไม่ใช่เหรอ

ส่วนประเด็นที่ 3 รูปแบบการประท้วงช่วงหลังๆ ค่อนข้างรุนแรง มีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย เวลาอยากได้อะไรแล้วไม่ได้ก็จะไปปิดล้อม รวมทั้งมีการขว้างปาข้าวของใส่คนนั้นคนนี้ใครจะรับผิดชอบ เพราะอาจเป็นมรดกทางพฤติกรรมของสังคมที่เลวร้ายที่ทิ้งไว้ให้กับเด็กและเยาวชน จึงอยากเรียกร้องทุกฝ่ายว่าต่อจากนี้หากจะมีการประท้วงก็อยากให้ทำด้วยสุภาพและมีอารยะ อย่าใช้ถ้อยคำรุนแรง หยาบคาย และจาบจ้วง เพราะจะเป็นมรดกที่ชั่วร้ายของสังคมที่จะได้รับการสืบทอด เพราะคนรุ่นคุณก็จะตายไป

@ หลังจากนี้นักการเมืองควรปรับตัวเพื่อทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนอย่างไร

นักการเมืองเองก็ต้องปรับตัว โดยต้องทำให้กระบวนการเข้าสู่การเมือง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติให้โปร่งใส ซึ่งก็ยอมรับผลดีในการตรวจสอบจากภาคประชาชนที่จะทำให้นักการเมืองรู้จักระมัดระวังตัวไม่ทำอะไรที่ทำให้สังคมเคลือบแคลงใจ ตอนนี้นักการเมืองทุกคนคงสำเหนียกแล้วว่าการจะทำอะไรมันตรวจสอบได้ในทุกมิติ

@ รู้สึกอย่างไรที่วันนี้พรรคชาติไทยต้องปิดฉากลงในปีที่ 34

พรรคชาติไทยผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก เป็นทั้งฝ่ายค้าน ทั้งรัฐบาล ถือว่าทำประโยชน์ให้กับบ้านเมืองมาก เมื่อพรรคชาติไทยดับไปก็จะมีพรรคใหม่กำเนิดขึ้นมาเป็นธรรมดา

@ ดูเหมือนว่าตระกูลศิลปอาชาจะหายไปจากวงการเมืองภายหลังการยุบพรรค

ไม่หายไป เพราะตอนนี้คงจะเห็นแล้วว่าผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นศิลปอาชาเพิ่มขึ้นมาอีกคนหนึ่ง คือ คุณอาชุมพล ศิลปอาชา อีกทั้งจะมีน้องสาว คือปาริชาติ ศิลปอาชา เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ส่วนวราวุธเองก็ยังถือว่าอายุน้อย 5 ปีที่ถูกเพิกถอนสิทธิไม่ถือว่านานเกินกว่าจะกลับเข้าสู่วงการการเมืองอีก

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์