สรุปคดีหวยบนดินฟัน แม้ว-ครม.ยกชุด

กองสลาก’ไม่เว้นโดนเชือดด้วยฐานทำให้รัฐเสียหาย 2 หมื่นล้าน

เปิดผลสรุปไต่สวนคดี “หวบนดิน” อนุฯ สั่งเชือด"ทักษิณ" กับครม.ทั้งชุด ยกเว้น "ปองพล-ประมวล" พร้อมบอร์ดกองสลาก ฐานทำรัฐเสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท พร้อมไล่บี้ชดใช้เงินคืนเต็มเม็ดเต็มหน่วย ชงเสนอที่ประชุมคตส.ชุดใหญ่พิจารณาลงมติ ก่อนเสนออัยการสูงสุดส่งฟ้องศาล
 
เมื่อวันที่ 22  พ.ย. มีรายงานจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)


แจ้งถึงผลสรุปการไต่สวนคดีการออกสลากพิเศษ 3 ตัว 2 ตัว หรือ "หวยบนดิน" ว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนได้สรุปสำนวนการไต่สวน 20 ประเด็นที่อนุกรรมการตั้งข้อสังเกต เป็นเอกสารลับหนากว่า 50 หน้า  แจกจ่ายให้กรรมการ คตส.เพื่ออ่านรายละเอียดเบื้องต้นแล้ว ก่อนเสนอที่ประชุมใหญ่คตส. พิจารณาเร็ว ๆ นี้ เพื่อลงมติส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด ก่อนส่งฟ้องต่อศาลต่อไป ทั้งนี้ สาระสำคัญของสำนวนระบุว่าอยู่ที่ 20 ประเด็นหลัก เช่น การพิจารณาว่าการออกหวยบนดินถือเป็นการออกสลากแบบ  กินรวบ ไม่ใช่แบบกินแบ่ง  
  
รายงานข่าวยังระบุว่า การเชิญผู้เกี่ยวข้องมาสอบปากคำ

พบว่าก่อนครม.จะมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการหวยบนดิน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้เรียกบอร์ดกองสลากเข้าไปหารือ และเร่งรัดให้เสนอ โครงการโดยเร็ว ต่อมานายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง จึงเสนอเรื่องผ่านไปยังเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าที่ประชุม ครม. โดยไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองก่อน ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมครม.    
 

สำหรับประเด็นข้อกฎหมาย คณะอนุกรรมการไต่สวนพิจารณาแล้วเห็นว่า

การที่คณะกรรมการกองสลากเสนอให้กระทรวงการคลัง เพื่อเสนอให้ ครม. ยกเว้นและลดหย่อนการ เรียกเก็บภาษีอากรในโครงการหวยบนดิน เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้กระทรวงการคลัง กระทรวง มหาดไทย กทม. ขาดรายได้จากการเก็บภาษีอากร ซึ่งจากการเชิญ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีเข้าให้ปากคำ ได้ยืนยันว่า ครม.ไม่สามารถออกมติ ที่ขัดแย้งกับกฎหมาย ระเบียบ และมติที่ยังไม่ได้ยกเลิกได้ ถือเป็นการกระทำที่ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ส่งผลให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาด ไทย และกรุงเทพมหานคร ขาดรายได้ 

ทั้งนี้ เนื่องจากการออกหวยบนดินมีรายได้รวมทั้งสิ้นกว่า 1.3 แสนล้านบาท

ซึ่งต้องเสีย ภาษีอากร 7%  ทำให้กระทรวงการคลังขาดรายได้ในส่วนนี้ไปเกือบ 9 พันล้านบาท กระทรวงมหาดไทยขาดรายได้ที่ต้องหักภาษีการพนันอีก 10% คิดเป็นมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท เพราะมีการหักจริงแค่ 0.5% และกทม.ขาดรายได้จากภาษีท้องถิ่นที่ต้องหักอีก 2% เป็นเงินกว่า 3 ร้อยล้านบาท รวมความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการยกเว้นภาษีตลอดโครงการมีมูลค่าสูงถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาท และยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท
  
มีรายงานว่า สำหรับผู้ที่จะตั้งข้อกล่าวหาที่จะต้องรับผิดชอบกับการดำเนินการครั้งนี้ แยกเป็น 2 กลุ่มหลัก

คือ 1.คณะรัฐมนตรี (ครม.)  ที่เข้าร่วมประชุมในวันที่ 8 ก.ค. 2546 และมีมติให้ดำเนินการโครงการดังกล่าว ซึ่งมีทั้งสิ้น 47 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 86, 91, 147, 154, 157 และความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดของพนัก งาน ในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 8, 9, 10 และ 11 ยกเว้นนายปองพล อดิเรกสาร และนายประมวล รุจนเสรี ที่คณะอนุฯ ไม่เสนอตั้งข้อหา เพราะคำชี้แจ้งฟังขึ้น และไม่ได้เข้าร่วมประชุมครม.วันดังกล่าว นอกจากนี้ พ.ต.ท. ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ อดีต รมว.คลัง และนายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ซึ่งตามกฎหมายถือเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จะถูกตั้งข้อกล่าวหาในมาตรา 152 ตามประมวลกฎหมายอาญาอีกหนึ่งกระทง
  
2.คณะกรรมการกองสลาก เฉพาะที่เข้าร่วมประชุม ครั้งที่ 9/46 วันที่ 18 มิ.ย. 2546 และมีมติให้ดำเนินการโครงการหวยบนดิน ถือว่าเป็นตัวการและสนับสนุนร่วมกับ ครม. ให้กระทำความผิด จะถูกตั้งข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 86, 91, 147, 152, 153, 154, 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วย ความผิดของพนักงานฯ มาตรา 8, 9, 10 และ 11 ส่วนคณะกรรมการฯ ที่เข้าร่วมประชุม เฉพาะส่วนที่มีการอนุมัติเงินรายได้ในโครงการนี้ จะต้องรับผิดเฉพาะส่วนที่อนุมัติเงินรายได้ไปใช้ประโยชน์ด้วย โดยจะถูกตั้งข้อกล่าวหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84, 86, 91, 147, 153, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงาน 8, 9, 10 และ 11 สำหรับความรับผิดทางแพ่งนั้น ในส่วนของพ.ต.ท.ทักษิณ และรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุม ครม.บางส่วน รวมถึงบอร์ดกองสลากที่ร่วมประชุมอนุมัติครั้งแรก จะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายเต็มจำนวน ส่วนคณะกรรมการกองสลากที่เข้าร่วมประชุม และมติอนุมัติในแต่ละเรื่องจะต้องรับผิดชอบตามจำนวนเงินที่ตนเองอนุมัติไป   
  
นอกจากนี้ อนุกรรมการไต่สวนยังเสนอความเห็นให้ คตส.ได้พิจารณาร่วมกัน

โดยมีการตั้งข้อสังเกตในช่วงสุดท้ายของสรุปรายงานเรื่องขั้นตอนและกระบวนการดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากคดีนี้เกี่ยวข้องกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงต้องส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้พิจารณา แต่ที่ผ่านมาติดปัญหาเรื่องผู้ถูกกล่าวหาอยู่ใน ต่างประเทศ ดังนั้นในชั้นที่ศาลนัดพิจารณารับคำร้องหรือไม่นั้น ไม่ต้องนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาปรากฏตัวต่อหน้าศาล เพียงแต่ให้ระบุชื่อที่อยู่จริงตามทะเบียนราษฎร เพื่อไม่ให้กระบวนการต้องหยุดชะงักงันเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะได้มีการหารือกับอัยการสูงสุดต่อไป.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์