สรรพากรเรียกเฉ่งภาษีแล้วโอ๊ค-เอม

"ออกหมายเรียกตัว"


เมื่อวันที่ 7 พ.ย. นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ได้ออกหมายเรียกนายพานทองแท้ หรือโอ๊ค ชินวัตร และนางสาวพิณทองทา หรือเอม ชินวัตร กรณีที่ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น ในราคาหุ้นละ 1 บาท จำนวน 329 ล้านหุ้น จากบริษัท แอมเพิลริช แล้วขายต่อให้กลุ่มเทมาเสก จาก ประเทศสิงคโปร์ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในราคา 49.25 บาทต่อหุ้นนั้น จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรพบว่า การซื้อขายหุ้นในลักษณะดังกล่าวต้องเสียภาษี เพราะเข้าข่ายที่ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี

หรือ ภ.ง.ด.94 ภายในสิ้นเดือน ก.ย.2549 แต่จนถึงขณะนี้ นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทายังไม่ได้ยื่นภาษีแบบแสดงรายได้ จึงจำเป็นต้องการออกหมายเรียกให้มาพบภายใน 30 วัน นับจากวันที่ออกหมายเรียก ขณะนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจำนวนภาษีที่แท้จริงที่ต้องจ่ายให้กรมสรรพากรมีจำนวนเท่าใด เพราะต้องให้ผู้เสียภาษีแสดงหลักฐานต่างๆ ว่า ดำเนินการตามลักษณะไหนและมีภาระภาษีเกิดขึ้นตรงจุดไหน ซึ่งตนได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง รับทราบแล้ว

"ไม่มีข่าวเพราะไม่ได้รายงานให้สื่อรู้"


นายศิโรตม์กล่าวอีกว่า กรมสรรพากรไม่ได้นิ่งเฉยในการตรวจสอบการเสียภาษีดังกล่าว แต่ที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว เพราะไม่ได้รายงานให้สื่อมวลชนทราบ เนื่องจากไม่สามารถเปิดเผยชื่อผู้เสียภาษีได้ แต่ได้รายงานให้ ผู้ใหญ่ของกระทรวงการคลังรับทราบตลอดเวลาอยู่แล้ว เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบก็ต้องประเมินภาษีไปตามความเป็นจริง เป็นคนละเรื่องกับการตรวจสอบของ สตง. และ คตส. เพราะทั้ง 2 หน่วยงานนี้ มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของกรมสรรพากรว่าละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ถ้าละเว้นก็ต้องถูกลงโทษซึ่งถือเป็นปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสรรพากรพิจารณาแล้ว พบว่า การซื้อขายหุ้นในลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายมาตรา 8 (40) คือ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว ต้องเสียภาษี ซึ่งกรณีนี้ กรมสรรพากรตรวจพบว่านางสาวพิณทองทาและนายพานทองแท้ได้ซื้อหุ้น จากบริษัท แอมเพิลริช แล้วขายต่อให้กลุ่มเทมาเสก ภายในวัน 3 นับจากวันที่ซื้อ โดยขายให้เทมาเสกในวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งเข้าข่ายกลวิธีที่แยบยลในการไม่เสียภาษี

"ประชุมติดตามความคืบหน้า"


วันเดียวกัน ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ชุดตรวจสอบการทุจริต โครงการแอร์พอร์ตลิงค์ โครงการทุจริตกล้ายาง 90 ล้านต้น และโครงการการซื้อที่ดินย่านรัชดาฯของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้มีการประชุมติดตามความคืบหน้า โดยในบางโครงการมีการเชิญพยานบุคคลมาให้ข้อมูลรวมถึงการสอบปากคำประกอบสำนวนการพิจารณา หลังการประชุม นายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการ คตส. ในฐานะรับผิดชอบตรวจสอบโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยได้ส่งข้อมูลที่เกี่ยวกับการให้เงินกู้ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวให้กับ คตส.แล้ว ถือว่าเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ คตส. ส่วนใหญ่เกี่ยวกับข้อมูลความลับของลูกค้าและสัญญาเงินกู้ ซึ่งต้องขอขอบคุณธนาคารกสิกรไทยด้วย

เมื่อถามว่า การที่หน่วยงานของรัฐจ่ายค่าธรรมเนียมเงินกู้แทนบริษัทเอกชน ถือว่าหน่วยงานรัฐค้ำประกันบริษัทเอกชนหรือไม่ นายแก้วสรรตอบว่า ปัญหาซ่อนอยู่หลายเรื่อง แต่ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ติดใจตั้งแต่แรกคือ เงินค่าธรรมเนียมเงินกู้ที่สูงผิดปกติ เป็นการจ่ายค่าบริหารเงินกู้ ถึงการวางเงินค่าดำเนินการของวิศวกร, สถาปนิก แต่ปรากฏว่า การจ่ายค่าธรรมเนียมโครงการนี้เพิ่มขึ้นมาก จึงต้องถามว่าค่าธรรมเนียมโดดขึ้นมาได้อย่างไร และมีเหตุผลอะไร เพราะปกติค่า ธรรมเนียมจะอยู่ที่ 2.5% ของวงเงินกู้ แต่โดดขึ้นมาเป็น 6-7% เท่ากับ 1.6 พันล้าน บวกขึ้นมากอย่างนี้ต้องตอบคำถามให้ได้ ถ้าตอบได้ก็เกม

"มีผู้มายื่นพร้อมข้อมูลการตรวจสอบทุจริตเพิ่มเติม"


ขณะเดียวกันได้มีผู้มายื่นและข้อมูลการตรวจสอบทุจริตเพิ่มเติม โดยเมื่อเวลา 10.00 น. นายเชียรช่วง กัลยาณมิตร กรรมการบริหารบริษัทสเติร์น สจ๊วต (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ โดยอ้างตัวว่าเป็นผู้ที่ติดตามการเสียประโยชน์ของรัฐในการทำสัญญากับเอกชน ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนพร้อมข้อมูลหลักฐานต่อนายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการ คตส. กรณีที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่กับ บริษัทแอ๊ดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส หรือเอไอเอส ในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชน เป็นเหตุให้รัฐสูญเสียรายได้ ไปกว่า 8 หมื่นล้านบาท

นายเชียรช่วงกล่าวว่า สัญญาเดิมที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร กรรมการผู้จัดการบริษัทเอไอเอสทำกับนายไพบูลย์ ลิมปพยอม ผอ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เซ็นกันในปี 2533-2559 มีการกำหนดการแบ่งรายได้ ชัดเจน แต่ต่อมามีการแก้ไขสัญญาในวันที่ 15 พ.ค. 2544 ลงนามระหว่างนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และนายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทเอไอเอสกับนายไพบูลย์ โดยให้ลดผลประโยชน์ตอบแทนสำหรับ การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า (พรีเพด) ให้กับ ทศท ร้อยละ 20 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 25-30 สัญญานี้จะสิ้นสุดในปี 2559 ทำให้รัฐเสียหายกว่า 83,500 ล้านบาท เรียกได้ว่าเป็นค่าโง่ นอก จากนี้ การแก้ไขสัญญาดังกล่าวยังเป็นเหตุให้หุ้นของเอไอเอสมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่าหุ้นตัวอื่นในตลาดหลักทรัพย์

"ให้ผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวโทษ จนท.ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"


ต่อมาเวลา 17.00 น. นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอรัปชัน (คปต.) กล่าวหลังเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ต่อคณะอนุฯตรวจสอบการซื้อที่ดินย่านรัชดาว่า ทาง คตส.มีหนังสือเชิญตนมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งนายอุดม เฟืองฟุ้ง ประธานอนุกรรมการฯได้ลงนามบรรจุข้อมูลที่ตนนำมายื่นเอาไว้ในสำนวน และให้ตนเป็นพยานร่วมกับนายคมสันต์ โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และนางกัลยาณี รุจทลกาล ประธานชมรมลูกหนี้ ซึ่งที่ประชุมได้หารือถึง พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 66 ที่ระบุว่า ให้ผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีที่มีการกระทำให้เกิดความเสียหาย โดยที่ประชุมประเมินว่า ทีมทนายของคุณหญิงพจมานเตรียมใช้ช่องทางนี้ในการต่อสู้ เพราะเมื่อการสอบสวนสิ้นสุด แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐมาร้อง ทุกข์กล่าวโทษ ก็ไม่สามารถเอาผิดถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ซึ่งหากรัฐบาลมีความจริงใจ ที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชัน พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ต้องส่งสัญญาณไปถึงหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีเอาผิดเจ้าหน้าที่ ของรัฐที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุม คตส.เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.ชี้ได้แจ้งกับคณะกรรมการ คตส.ทั้งหมด โดยขอร้องให้ทุกคนแจ้งกับทางอนุกรรมการตรวจสอบทั้ง 12 ชุด เรื่องการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน กรณีที่มีการพาดพิงถึงบุคคลที่สาม และการระบุชื่อบุคคลที่จะเชิญมาให้ข้อมูลและชี้แจง ซึ่งขณะนี้ คตส.ประสบปัญหา เพราะพยานหลายปากหลังมีชื่อปรากฏเป็นข่าว ต่างปฏิเสธที่จะมาให้ข้อมูล โดยเกรงว่าจะถูกคุกคามต่อครอบครัวภายหลังจากกลุ่มอำนาจเก่าทางการเมือง รวมถึงนักการเมืองที่ถูก คตส.ตรวจสอบ เบื้องต้นมีการปฏิเสธแล้วกว่า 10 ราย

"ปปง.ไม่เคยได้รับการประสานงานจาก คตส.เลย"


ส่วนกรณีที่นายสัก กอแสงเรือง โฆษกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกมาระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ไม่ยอมส่งข้อมูลการตรวจสอบ 12 โครงการ ที่ไม่โปร่งใสให้กับ คตส.นั้น นายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ ผอ.สำนักตรวจสอบและคดี ปปง.เปิดเผยว่า ปปง.ไม่เคยได้รับการประสานข้อมูลจาก คตส. แต่ได้รับประสานขอข้อมูลจาก คมช. โดยหนังสือดังกล่าว ส่งถึง ปปง.เย็นวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในวันดังกล่าว ปปง. ไม่สามารถส่งข้อมูลให้ทัน จึงได้ส่งข้อมูลทางโทรสารไปให้ คมช.ในช่วงเช้าวันนี้แล้ว เป็นข้อมูลรายละเอียดคดีทุจริตลำไย ซึ่ง ปปง.ยึดอายัดทรัพย์ และส่งฟ้องคดีให้ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดกรณีการปล่อยเงินกู้ของธนาคารกรุงไทย ส่วนในเรื่องอื่นๆ เช่น กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดส่งข้อมูลให้กับ ปปง. จึงยังไม่มีข้อมูลในฐานข้อมูล ปปง.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่บางหน่วยงานไม่ให้ความร่วมมือในการส่งข้อมูลให้ คตส.ว่า หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานควร ให้ความร่วมมือกับ คตส. เนื่องจากการตรวจสอบการทุจริตคือการรักษาผลประโยชน์ของประเทศและส่วนรวม หากมีหน่วยงานไหนไม่ให้ความร่วมมือก็น่าจะมีการลงโทษเหมือนกัน เพราะเท่ากับเป็นการขัดขวางกระบวนการของการตรวจสอบ ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่เคยทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลมาก่อน จะมีข้อมูลอะไรที่จะเสนอต่อ คตส.บ้าง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หลายเรื่องที่ตรวจสอบอยู่ในขณะนี้พรรคได้เคยนำเสนอไปแล้วทั้งสิ้น และสามารถตรวจค้นเอกสารทั้งในเรื่องของการอภิปรายในสภาฯ และหนังสือที่พรรคส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ ถ้ามีประเด็นหรือข้อมูลเพิ่มเติมพรรคก็พร้อมที่จะส่งให้

"สามารถชี้แจงได้ทั้งหมด"


ด้านนางธาริษา วัฒนเกส รักษาการผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กรณีนี้เชื่อว่ากองทุนฟื้นฟูฯ สามารถที่จะชี้แจงรายละเอียดในช่วงที่ดำเนินการได้ทั้งหมด รวมทั้งเรื่องการหารือกับคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย โดยทั้งกองทุนฟื้นฟูและธนาคารแห่งประเทศไทยยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) อย่างเต็มที่ แต่ในฐานะผู้ว่าแบงก์ชาติยังไม่ได้เรียกรายละเอียดเรื่องนี้ขึ้นมาดูหรือให้ใครมารายงานให้ฟัง เพราะเห็นว่าเป็นการดำเนินการของกองทุนฟื้นฟู ซึ่งมีพยานหลักฐานในการดำเนินการขายที่ดินอยู่แล้ว เชื่อว่าหากมีการขอความร่วมมือหรือขอให้มีการชี้แจง กองทุนฟื้นฟูก็สามารถที่จะชี้แจงได้ โดยเฉพาะในส่วนของ ธปท.ให้ชี้แจงไปตามข้อเท็จจริง ไม่มีเรื่องที่ต้องปิดบังหรือต้องเตี๊ยมอะไรกัน

วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายศราวุธ เมนะเศวต เลขาธิการ ป.ป.ช.ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการผลักดันเรื่องการป้องกันการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติตามที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอเป็นเรื่องเร่งด่วนต่อ ครม. ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะมีการปรับกระบวนการทำงานให้รวดเร็วขึ้น เพราะขณะนี้มีคดีค้างอยู่ 10,000 คดี

"วาระพิเศษ สัปดาห์ล่ะ 2 วัน"


ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีความเห็นว่า จะจัดวาระพิเศษให้กรรมการ ป.ป.ช.ประชุมกันทุกวันเพื่อชี้มูลคดีที่ค้างอยู่ จากเดิมที่ประชุมกันสัปดาห์ละ 2 วัน คือวันอังคาร และวันพฤหัสฯ ซึ่งจะเร่งดำเนินการประชุมให้ได้โดยเร็วที่สุด ตนในฐานะเลขาธิการ ป.ป.ช.จะรีบกลับไปกำหนดแนวทางเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ป.ป.ช. ต่อไป คาดว่า หากมีการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทุกวัน ภายใน 2 สัปดาห์จะสามารถชี้มูลคดีต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ชงเรื่องขึ้นมาแล้วได้ถึง 3,000 คดี

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงาน ป.ป.ช.ด้วยว่า เมื่อเวลา 08.00 น. ได้มีบุคคลลึกลับโทรศัพท์ไปที่หน้าห้องของนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. โดยข่มขู่ว่า ได้มีการวางระเบิดไว้ที่หน้าห้องของนายภักดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็รีบวางสายไปทันที ทำให้ทุกคนเกิดความตื่นตระหนก จนต้องเรียกเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบทั่วบริเวณห้องประชุมและห้องทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทุกคน แต่ไม่พบมีการวางระเบิดตามที่ขู่ อย่างไรก็ตาม ภายหลังเกิดเหตุ ทาง ป.ป.ช.ได้เพิ่มความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยมากขึ้น โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้มงวดตรวจบุคคลภายนอกและรถที่เข้าออกสำนักงาน ป.ป.ช.อย่างละเอียด ขณะที่ช่วงเย็นวันเดียวกัน ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ก็ได้มีนายทหารจำนวนหนึ่งได้เดินเข้าหารือกับคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าฯ สตง. เพื่อหารือเรื่องการเพิ่มมาตรการในการรักษาความปลอดภัยภายในบริเวณสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ด้วย


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์