สมชาย โทรคุย ฮุน เซน กล่อมใช้ทวิภาคีแก้พิพาท เขมร ร่อนแฟ็กซ์ยันเจ้าของตาควาย

บัวแก้วเผย "สมชาย" โทรคุย "ฮุน เซน" กล่อมใช้ทวิภาคีแก้ปัญหาชายแดน รวมทั้ง "ปราสาทตาควาย" เตรียมหารืออีกรอบที่นิวยอร์ก "บัวแก้ว" ชี้ต้องรอตั้ง รมช.การต่างประเทศก่อนถก "เจบีซี" หวัง ต.ค.นี้ เรียกประชุมได้ ด้านทหาร 2 ฝ่ายเตรียมถก ก.ย.นี้ ขณะที่สถานทูตเขมรร่อนแฟ็กซ์ยันเจ้าของ "ปราสาทตาควาย"

นายกฯ คุย "ฮุน เซน" ใช้ทวิภาคีแก้พิพาท

เมื่อวันที่ 20 กันยายน นายธานี ทองภักดี รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์หารือกับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อคืนวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ในเบื้องต้นทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่าไม่ว่าจะมีปัญหาเขตแดนหรือปัญหาอื่นใด ไทยและกัมพูชาน่าจะใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่เพื่อแก้ไขปัญหา ในปราสาทตาควายนั้น ไทยถือว่าเป็นปราสาทที่อยู่ในพื้นที่ของไทย แต่โดยที่ฝ่ายกัมพูชาอาจมีความเห็นเป็นอื่น ก็น่าจะมีการหารือกันในกรอบคณะกรรมาธิการการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้หารือกัน นอกจากนี้ คาดว่ารัฐมนตรีต่างประเทศไทยและกัมพูชาจะได้หารือกันในเบื้องต้นในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่นครนิวยอร์ก ในปลายเดือนกันยายนนี้อีกครั้ง

อนึ่ง นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เคยมีกำหนดขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีสมัชชาใหญ่ยูเอ็นวันที่ 25 กันยายนนี้

รอตั้งรมช.บัวแก้วก่อนถกเจบีซี

นายธานี กล่าวอีกว่า ส่วนการประชุมเจบีซี ต้องรอดูองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ว่าจะมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือไม่ เนื่องจากรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศถือเป็นประธานเจบีซีฝ่ายไทยโดยตำแหน่ง หากไม่มีรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ ก็ต้องให้ ครม.แต่งตั้งผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว จากนั้นจึงค่อยมาหารือกันว่าจะจัดประชุมเมื่อไหร่ ซึ่งหากเป็นไปตามที่รัฐมนตรีต่างประเทศไทย-กัมพูชาหารือกันไว้ก่อนหน้านี้ การประชุมเจบีซีจะมีขึ้นในเดือนตุลาคม เชื่อว่ารัฐบาลจะพยายามเร่งให้เกิดการประชุมให้ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีได้ย้ำไว้ตั้งแต่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ จึงหวังว่าจะมีการจัดประชุมได้ภายในเดือนตุลาคม

ทหาร 2 ฝ่ายถก "ตาควาย" ก.ย.นี้

พล.ต.กนก เนตระคเวสนะ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี กล่าวว่า ได้เจรจากับ พ.อ.เนี้ยะ วงศ์ รองเสนาธิการทหารชายแดนที่ 402 ประเทศกัมพูชา โดยมีข้อตกลงเพื่อลดการเผชิญหน้าร่วมกัน โดยทั้ง 2 ฝ่าย จะถอนกำลังออกจากตัวปราสาทตาควาย และให้วางกำลังทหารได้จำนวนเท่ากัน ห่างจากตัวปราสาทตาควายระยะเท่ากันฝั่งละไม่ต่ำกว่า 300 เมตร และจะนำเข้าหารือในที่ประชุมแม่ทัพ ระดับภูมิภาคทั้ง 2 ประเทศ คือ แม่ทัพภาคที่ 2 ของไทย กับผู้บัญชาการทหารภูมิภาคทหารที่ 4 กัมพูชา ในปลายเดือนกันยายนนี้

เขมรร่อนแฟ็กซ์ยันเจ้าของ "ตาควาย"

ทั้งนี้ ทหารไทยและทหารกัมพูชา ต่างตรึงกำลังที่บริเวณปราสาทตาควาย ชายแดนไทย-กัมพูชา บ้านไทยนิยม ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ซึ่งปราสาทตาควาย ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกห่างจากปราสาทตาเมือนธม ประมาณ 12 กิโลเมตร

วันเดียวกัน สถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ได้ส่งโทรสารไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ โดยแนบสำเนาหนังสือที่สถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยได้หนังสือมีถึงกระทรวงการต่างประเทศ เลขที่ 0759/08/REC/BKK แสดงความกังวลต่อที่ตั้งของปราสาทตาควาย โดยหนังสือที่มีถึงกระทรวงการต่างประเทศ อ้างถึงบันทึกช่วยจำลงวันที่ 16 กันยายน ที่นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้มอบให้เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยเพื่อประท้วงกรณีทหารกัมพูชารุกล้ำดินแดนไทยบริเวณปราสาทตาควาย อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ โดยในหนังสือดังกล่าวนั้นกัมพูชาชี้แจงว่า ตามแผนที่ที่กัมพูชามีอยู่และยึดถือ ปราสาทตากระเบย หรือที่ไทยเรียกว่าตาควายนั้น ตั้งอยู่ในดินแดนของราชอาณาจักรกัมพูชา

นอกจากนี้ยังระบุว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา เวลาประมาณ 18.00 น. ทหารไทยจำนวนราว 100 นาย ได้รุกล้ำเข้ามาและยึดครองปราสาทตาควายก่อนที่จะถอนกำลังออกไปตามคำร้องขอของเจ้าหน้าที่ทางการกัมพูชาในพื้นที่ โดยกัมพูชาระบุว่าพฤติการณ์ดังกล่าวซึ่งเป็นการล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของกัมพูชานั้น ควรจะมีการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ในขณะที่ทั้ง 2 ประเทศพยายามที่จะยุติข้อพิพาทเรื่องปัญหาชายแดนอย่างสันติและโดยชอบด้วยกฏหมายเพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นมิตรประเทศและเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน

"ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชาได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการจัดการเจรจาขึ้นในกรอบความร่วมมือของคณะกรรมาธิการการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา (เจบีซี) โดยเร็วที่สุดบนพื้นฐานของเอกสารที่มีอยู่และตามหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ" หนังสือดังกล่าวระบุ

"นพดล" มั่นใจ "สมชาย" แก้ไขได้
 
ขณะที่นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศระบุว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 18 เป็นโมฆะสิ้นผลแล้วนั้นว่า รู้สึกแปลกใจ เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศได้ยื่นหนังสือดังกล่าวให้แก่กัมพูชาตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม แต่เพิ่งมีการออกข่าวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทั้งที่ ควรเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ เพราะเห็นได้ว่า กัมพูชาเองยืนยันตรงกันว่าหนังสือดังกล่าวไม่ใช่สนธิสัญญา และมั่นใจว่านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี จะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาในขณะนี้ได้ เพราะมีความคุ้นเคยกับนายฮุน เซน ดี เนื่องจากเคยพบกันมาแล้วในระหว่างการเปิดถนนเส้น 48 ที่เกาะกง ซึ่งขณะนั้นนายสมชายในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี

"ส่วนปัญหาเกี่ยวกับปราสาทต่างๆ ตามแนวชายแดนก็จะแก้ไขได้ในไม่ช้า เพราะมีแนวทางที่ชัดเจน ที่ผ่านมา ผมก็คุยกับนายซก อัน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา อยู่เป็นระยะ เพราะรู้จักคุ้นเคยกันดี จึงเชื่อว่าปัญหาไทย-กัมพูชาจะคลี่คลายในเร็วๆ นี้ และเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะดียิ่งๆ ขึ้นไป" นายนพดล กล่าว

แนะพท.มีปัญหาให้พัฒนาร่วม

วันเดียวกัน มูลนิธิศักยภาพชุมชนร่วมกับคณะทำงานเพื่อสันติภาพกัมพูชา ฝ่ายละ 40 คน ได้ประชุมภาคประชาสังคมไทย-กัมพูชา ที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว เกี่ยวกับเขาพระวิหาร โดยกัมพูชาส่งตัวแทนที่มาจากทั่วทุกจังหวัดของกัมพูชา ส่วนฝ่ายไทยมาจากกรุงเทพมหานคร และจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ได้เสนอให้ตลอดแนวชายแดนเป็นเขตสันติภาพ เขตพัฒนาร่วมกัน ให้ถือเอาเขตแดนที่ชัดเจนฝั่งกัมพูชาเป็นของกัมพูชา เขตแดนที่ชัดเจนฝั่งไทยเป็นของไทย พื้นที่ที่ไม่ชัดเจนให้เป็นพื้นที่พัฒนาและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ต้องทะเลาะกันเรื่องเขตแดนให้บาดหมางกัน เพราะเขตแดนจริงๆ ไม่มี ไม่รู้อยู่ตรงไหน อยู่ในใจของแต่ละคน ประชาชนไปมาหาสู่กันร่วมวัฒนธรรมกันเป็นพี่น้องกัน

ตัวแทนกัมพูชาแนะ 3 ทางแก้

ด้านนายเซ็ง ฮุย หัวหน้าคณะทำงานเพื่อสันติภาพกัมพูชา กล่าวว่า กรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหารนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคประชาชน ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค จนถึงระดับนานาชาติ ข้อพิพาทดังกล่าวได้ก่อความรุนแรงมากขึ้น มีการเผชิญหน้าระหว่างกองทัพไทยและกัมพูชา หากเกิดการปะทะกัน ผลกระทบจะสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลกับทั้งสองประเทศ ระยะเวลาที่ผ่านมาประชาชนทั้ง 2 ประเทศ มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ความขัดแย้งที่เกิดกรณีปราสาทพระวิหาร ไม่ได้เกิดจากภาคประชาชน แต่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง มีการปลุกกระแสชาตินิยมสุดขั้ว กลุ่มการเมืองเข้ามามีบทบาท ครอบงำเหนือจิตสำนึกที่ถูกต้อง

"ด้วยเหตุนี้องค์กรภาคประชาสังคมจึงตัดสินใจร่วมมือกัน หาทางคลี่คลายปัญหาข้อขัดแย้ง ตามแนวทางสันติวิธี  มี 3 แนวทาง คือการป้องกัน และหลีกเลี่ยงความรุนแรง นำหลักสิทธิมนุษยชนเข้ามาแทรกแซง เพื่อลดระดับข้อพิพาท และส่งเสริมสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างถาวร" นายเซ็ง ฮุย กล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์