สภาฯวุ่นบุญยอดไล่“นิคม”ลงจากเวทีประธานฯ

สภาฯเริ่มวุ่นอีกรอบ ขณะ “นิคม”ขึ้นทำหน้าที่ประธาน” “บุญยอด”ไล่ลงจากบัลลังก์ ขอร้องให้เสียสละ ด้าน “นิคม” บอกไม่รู้จะเสียสละอะไร ถ้าเสียสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ทำ

สภาฯวุ่นบุญยอดไล่“นิคม”ลงจากเวทีประธานฯ


วันที่ 1 เม.ย. นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ขึ้นทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ถูกส.ส.ฝ่ายค้าน อาทิ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายตำหนิการวางตัวในการทำหน้าที่ เพราะนายนิคมได้ลงชื่อในญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ ไม่มีความเป็นกลางในการทำหน้าดังนั้นขอให้ลงจากบัลลังก์ และขอให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กลับมาทำหน้าที่ประธานที่ประชุม


ทำให้นายนิคม พยายามที่จะเปิดไมค์ชี้แจง แต่ไมค์ใช้งานไม่ได้ จนต้องเอียงตัวไปใช้ไมโครโฟน ด้านซ้ายมือแทน ทำให้นายบุญยอด กล่าวหาว่า ขนาดไมค์ยังไม่ให้ท่านทำหน้าที่ ขอให้นายสมศักดิ์ ที่อยู่ข้างนอกหรือเข้าห้องน้ำอยู่ให้กลับมาทำหน้าที่ หรือไมก็พักการประชุม เมื่อไมค์ ของนายนิคมติด นายนิคมให้นายบุญยอดนั่งลง แต่นายบุญยอดได้แย้งว่า ในข้อบังคับไม่มีข้อบังคับสั่งให้นั่งลง


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า ก่อนหน้านี้ได้เรียกร้องให้นายสมศักดิ์ ไปถามท่านว่าจะเข้าทำหน้าที่หรือไม่

จึงอยากถามว่าท่านจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร
ทำให้นายนิคม ชี้แจงว่าว่า ตนได้คุยกับประธานรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว ว่าถ้าตนทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง หรือมีผลประโยชน์อื่นใด ท่านตำหนิและเรียกร้องให้ตนออกจากการทำหน้าที่ประธานที่ประชุมได้ และการที่ตนลงชื่อในมาตรา190 และ 237 ตนให้เหตุผลตั้งแต่แรกแล้วว่า ทำให้ประชาธิปไตยสั้นลง ดังนั้นก็เป็นสิทธิของตน และเห็นว่าไม่ขัดกับมาตรา 122 และ 125 อีกทั้งในสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอแก้มาตรา 190 ตนก็เคยสนับสนุนช่วยเหลือท่าน


“ท่านโปรดเข้าใจ อายุอย่างผม รู้ว่าสวมหมวกใบไหน ทำหน้าที่อะไร ผมจะไม่ทำอะไรให้ท่านผิดหวัง”นายนิคม กล่าว
นายบุญยอด ลุกขึ้น ขอให้นายนิคมเสียสละ เพราะไม่เช่นนั้นการอภิปราย3 วันก็จะถูกตีความ และขอให้ลงมาอภิปรายข้างล้าง เช่นวุฒิสภาทั่วไป นายนิคม ได้โต้แย้งว่า “ผมไม่รู้จะเสียสละอะไร การที่ผมมาทำหน้าที่ประธานที่ประชุม แล้วทำให้ผมต้องเสียสิทธิขั้นพื้นฐาน ผมไม่ทำ”


นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เป็นสิทธิของนายนิคม ที่จะลงนามในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ เพราะนายนิคมก็เป็นสมาชิกวุฒิสภา เราไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะมาวินิจฉัย และไม่เห็นว่าการทำหน้าที่ของนายนิคม ไม่เป็นกลางตรงไหน เพราะท่านก็ควบคุมการประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังไม่ได้ลงมติอะไร

จากนั้นส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอประท้วงอีกหลายคน แต่นายนิคม ไม่ให้ประท้วง และขอให้การประชุมเดินหน้า พร้อมกล่าวว่า ตนไม่ได้ทำอะไรผิดรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าทำผิดก็ขอให้ไปใช้สิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์