สภาการ นสพ.-ทนายความจี้ แม้วออก แฉทำผิดอาญาไร้ความชอบธรรม

สภาการ นสพ.-ทนายความจี้ แม้วออก แฉทำผิดอาญาไร้ความชอบธรรม

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 มีนาคม 2549 12:36 น.

สภาการหนังสือพิมพ์ฯจับมือสภาทนายความออกแถลงการณ์เรียกร้อง ทักษิณ ลาออกจากรักษาการนายกฯ ระบุหมดความชอบธรรม หลังพบกระทำผิดอาญาร้ายแรงหลายกระทง แต่การร้องทุกข์กล่าวโทษไม่คืบหน้า ขณะองค์กรอิสระไม่อยู่ในสภาพทำการตรวจสอบได้ ซ้ำยังดึงดันจัดการเลือกตั้งฟอกตัวสร้างความแตกแยกปั่นป่วนไปทั่ว ปลุกพลังมหาชนเรียกร้องใช้มาตรา 7 ฝ่าวิกฤติ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (18 มีนาคม) ที่อาคารนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ พร้อมด้วยกรรมการของสภาวิชาชีพทั้งสองแห่ง เปิดแถลงข่าว เพื่อแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังมาถึงจุดวิกฤติในขณะนี้ พร้อมอ่านแถลงการณ์ในนามสมาคมวิชาชีพทั้งสอง เรื่อง วิกฤตศรัทธาในตัวรักษาการนายกรัฐมนตรี

แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุถึงความไม่ชอบธรรมของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะอยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ทั้งกรณีการขายหุ้นชินคอร์ปฯ การให้สิทธิพิเศษต่างๆ แก่บริษัทในครอบครัว การเปิดให้ต่างชาติเข้าถือหุ้นในธุรกิจโทรคมนาคมที่เป็นการทำผิดกฎหมายความมั่นคง การตั้งบริษัทแอมเพิล ริช ที่เกาะบริติชเวอร์จิ้นอย่างมีเงื่อนงำ และการโอนเงินไปซื้อหุ้นในบริษัทดังกล่าวโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งไม่ได้ชี้แจงกรณีการตั้งบริษัทวินมาร์คที่หมู่เกาะดังกล่าวเช่นเดียวกัน

จากการกระทำที่เข้าข่ายความรับผิดทางอาญาเพียงเท่าที่ระบุมาข้างต้น และการขาดความน่าเชื่อถือ ก็เป็นกรณีเพียงพอแล้วที่ทำให้เห็นว่ารักษาการนายกรัฐมนตรีต้องข้อสงสัยในข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยอมให้รักษาการนายกรัฐมนตรีอ้างกฎหมายหรือกติกาเพื่อให้ตนเองทำหน้าที่ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไปแถลงการณ์ระบุ

สภาวิชาชีพทั้งสองสภายังเห็นว่า รักษาการนายกรัฐมนตรีมีผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษในการครอบงำหรือการสั่งราชการ เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงหลายประการ อาทิ การร้องทุกข์กล่าวโทษรักษาการนายกรัฐมนตรี ต่อพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีความคืบหน้าเพราะรักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (กตร.) โดยตำแหน่ง

การดำเนินการไต่สวนความรับผิดของรักษาการนายกรัฐมนตรีโดยคณะกรรมาธิการยุติธรรมของรัฐสภาทั้งสองสภาก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะอยู่ในระหว่างยุบสภาและวุฒิสภาก็ไม่อาจทำอะไรได้ในขณะนี้ การดำเนินการใช้สิทธิทางศาลยุติธรรมก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุที่ต้องมีการสอบสวนของพนักงานตำรวจแห่งชาติและเสนอต่อพนักงานอัยการ

การดำเนินการทางศาลปกครองที่จะดำเนินการกับรักษาการนายกรัฐมนตรีก็ไม่อาจทำได้ เพราะไม่ใช่กรณีที่เป็นคำสั่งทางการปกครอง การดำเนินการทางศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจทำได้เพราะสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้เคยพิจารณาข้อเรียกร้องของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 27 คน และได้ชี้มูลไปแล้วว่ายังไม่มีเหตุที่จะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

การดำเนินการที่จะร้องเรียนให้มีการสอบสวนให้มีการเพิกถอนรักษาการนายกรัฐมนตรีโดยสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 50,000 คน ตามรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจทำได้เพราะเหตุว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ถูกยุบไปแล้วและวุฒิสภาก็ไม่อาจดำเนินการได้ ส่วนการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษผ่านทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะขณะนี้ อยู่ระหว่างการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการฯ

กรณีตามข้อเท็จจริงนี้ จึงเห็นได้ชัดเจนว่ามีภาวการณ์ที่มีผลประโยชน์ขัดกันโดยชัดเจนกับการเป็นผู้นำที่มีอำนาจรักษาการอยู่ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น มีผลทำให้ไม่อาจตรวจสอบความผิดของรักษาการนายกรัฐมนตรีได้เลย กลายเป็นหนทางตีบตันที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ในการบังคับใช้กฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงแถลงการณ์ระบุ

ยิ่งกว่านั้น รักษาการนายกรัฐมนตรียังมุ่งหวังที่จะให้มีการจัดการเลือกตั้งทั้ง ๆ ที่รู้ว่า จะต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินมากถึง 2,500 ล้านบาท ในขณะที่พรรคการเมืองอื่นที่ได้เข้ามาส่งผู้สมัครนั้น พบว่ามีเป็นร้อยกรณีที่มีการทุจริตตั้งแต่เริ่มต้น เป็นที่คาดหมายว่าเมื่อเลือกตั้งแล้วก็ยังไม่ได้รัฐบาล แม้รักษาการนายกรัฐมนตรีเองก็ต้องประสบกับปัญหาหลังจากการเลือกตั้งที่จะมีกรณีพิพาทกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ออกมาเรียกร้องความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการบริหารงานของรักษาการนายกรัฐมนตรี

กรณีจึงฟังเป็นข้อยุติได้ในสาระสำคัญว่ารักษาการนายกรัฐมนตรีขาดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งเป็นผู้รักษาการนายกรัฐมนตรีเพราะเหตุที่มีผลประโยชน์ขัดกันอย่างรุนแรงกับการกระทำที่เข้าข่ายความผิดทางอาญาที่กล่าวข้างต้น

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาทนายความ จึงขอแถลงการณ์มาเพื่อขอให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันนำเสนอข้อเท็จจริงข้างต้นและดำเนินการโดยราชประชาสมาสัยให้เกิดพลังมหาชนเพื่อขอให้ทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยที่จะได้ผ่านวิกฤตการณ์แห่งการเผชิญหน้าและการสร้างความขัดแย้ง

รายละเอียดแถลงการณ์

แถลงการณ์
ของ
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ สภาทนายความ
เรื่อง วิกฤตศรัทธาในตัวรักษาการนายกรัฐมนตรี

----------------------------------------


สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาทนายความมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ในขณะนี้ประเทศไทยประสบกับวิกฤตศรัทธาในตัวรักษาการนายกรัฐมนตรี หนทางแก้ไขทางกฎหมายโดยสงบเพื่อผ่านขบวนการตามปกติ นั้น ยากที่จะทำให้สำเร็จลงได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการควบคุมและครอบงำจากตัวรักษาการนายกรัฐมนตรีเองอย่างมากที่สุด ก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคมในขณะนี้ ซึ่งในที่สุดแล้วจะมีความล่อแหลมต่อการที่จะทำให้เกิดวิกฤตร้ายแรงได้ เพราะสภาพของสังคมไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ประชาชน ขบวนการประชาธิปไตย ผู้เชื่อในตัวรักษาการนายกรัฐมนตรี ต่างก็แตกแยกออกเป็นฝักเป็นฝ่ายจนยากที่จะทำให้ประเทศชาติดำเนินการโดยปกติต่อไปได้

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาทนายความ จึงเห็นสมควรที่จะออกแถลงการณ์เรื่องนี้เพื่อเชิญชวนให้ทุกองค์กร กลุ่มบุคคล คณะบุคคล และประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ร่วมกันสร้างพลังแห่งศรัทธาเป็นมติของประชาสมาสัย เพื่อกราบถวายบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดพิจารณาด้วยพระเดชานุภาพและความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพระองค์ท่านเพื่อให้งานบ้านเมืองได้เป็นไปโดยปกติสุขและรวดเร็วด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริง ดังนี้

1. กรณีรักษาการนายกรัฐมนตรีที่อ้างกติกาความถูกต้องเกี่ยวกับการจัดให้มีการเลือกตั้งโดยการยุบสภาผู้แทนราษฎรและได้มีการชี้แจงเกี่ยวกับการทำธุรกรรมการซื้อขายหุ้นในครอบครัวของรักษาการนายกรัฐมนตรี รวมตลอดถึงการให้ผลประโยชน์ต่าง ๆ เกี่ยวกับสิทธิทางภาษีอากรของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีรักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และการขยายสิทธิพิเศษต่าง ๆ ให้กับบริษัทในเครือของครอบครัวรักษาการนายกรัฐมนตรีที่ปัจจุบันได้ขายให้กับบริษัทที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลต่างชาติไปแล้วนั้น รักษาการนายกรัฐมนตรีได้อ้างว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดกฎหมายใด ๆ ที่ถึงขนาดจะต้องลาออก แม้จะขาดจริยธรรมก็ยังจะคงอยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป สภาวิชาชีพทั้งสองสภาเห็นว่ากรณีตามข้อเท็จจริงที่รักษาการนายกรัฐมนตรีอ้างนั้นยังไม่ถูกต้องเพราะมีการกระทำหลายเรื่องที่รักษาการนายกรัฐมนตรีไม่อาจจะปฏิเสธความรับผิดของตนเองได้ เป็นกรณีที่ชัดแจ้ง

2. กรณีแรกเป็นความผิดที่รักษาการนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติที่ให้ผู้ซื้อหุ้นเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลต่างชาติมาลงทุนในกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทย ทำให้รัฐวิสาหกิจของต่างชาติได้รู้ถึงสถานที่ตั้งสถานีโทรคมนาคมทางภาคพื้นดิน ตลอดจนวงโคจรของอุปกรณ์ดาวเทียมที่เป็นทรัพย์สินของประเทศชาติและเป็นเรื่องที่ถือว่าเป็นความลับของทางราชการตามพระราชบัญญัติความลับทางราชการ พ.ศ. 2483 รักษาการนายกรัฐมนตรีจึงกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 124 ที่เป็นกรณีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี

3. กรณีที่รักษาการนายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงต่อสาธารณชนหลายครั้งในเรื่องของการซื้อขายหุ้นของคนในครอบครัวนั้น โดยเฉพาะกรณีความผิดของบุตรชายคือ นายพานทองแท้ ชินวัตร ที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศลงโทษไปแล้ว แม้จะเป็นการลงโทษสถานเบาคือเป็นแต่เพียงโทษปรับ แต่ตัวรักษาการนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รู้เห็นและพูดกับสาธารณชนโดยเปิดเผยตลอดมาว่าครอบครัวของตนเองไม่ได้กระทำความผิด ไม่ได้คิดหลีกเลี่ยงภาษี กรณีดังกล่าวนี้ มีมูลที่ถือได้ในเบื้องต้นว่ารักษาการนายกรัฐมนตรีได้กระทำความผิดฐานเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนให้นายพานทองแท้ ชินวัตรเข้าข่ายกระทำความผิดด้วย จึงต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน สมควรที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะต้องดำเนินการต่อรักษาการนายกรัฐมนตรีให้เป็นตัวอย่างอันดีแก่ประชาชน

4. รักษาการนายกรัฐมนตรีไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการส่งเงินไปต่างประเทศ และจนถึงขณะนี้ก็ไม่ได้ชี้แจงว่าเมื่อไปลงทุนตั้งบริษัท แอมเพิล ริช ที่เกาะ British Virgins Islands นั้น รักษาการนายกรัฐมนตรีได้ส่งเงินออกไปอย่างไร กรณีมีมูลที่ถือได้ว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ข้อเท็จจริงนี้ความผิดของนายพานทองแท้ ชินวัตร ที่เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ก็มีเช่นเดียวกัน เพราะมีข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งว่าไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงว่านายพานทองแท้ ชินวัตร ได้ขออนุญาตส่งเงินไปซื้อหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปจากบริษัท แอมเพิล ริช ด้วยวิธีใด นายพานทองแท้เองก็ไม่ใช่นักธุรกิจเพราะได้กล่าวกับสาธารณชนว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ตลอดมา รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นบิดาจึงมีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ใช้หรือสนับสนุนทำให้เกิดการกระทำธุรกรรมที่ผิดต่อกฎหมายอาญาในเรื่องของการส่งเงินออกนอกประเทศ

5. รักษาการนากรัฐมนตรี ไม่อาจชี้แจงข้อเท็จจริงให้สาธารณชนหายเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการถือหุ้นของตนและครอบครัวในบริษัทวินมาร์คฯ ที่จดทะเบียนในเกาะบริติช เวอร์จิน ไอแลนด์ จึงเป็นการสร้างความไม่น่าเชื่อถือให้แก่สาธารณชนว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

จากการกระทำที่เข้าข่ายความรับผิดทางอาญาเพียงเท่าที่ระบุมาข้างต้น และการขาดความน่าเชื่อถือ ก็เป็นกรณีเพียงพอแล้วที่ทำให้เห็นว่ารักษาการนายกรัฐมนตรีต้องข้อสงสัยในข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญาหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะยอมให้รักษาการนายกรัฐมนตรีอ้างกฎหมายหรือกติกาเพื่อให้ตนเองทำหน้าที่ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะรักษาการนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในทางการบริหารอย่างมากในกฎหมายฉบับซึ่งจะเรียนชี้แจงต่อไป จึงเป็นกรณีที่มีผลประโยชน์ขัดกันอย่างชัดแจ้ง รักษาการนายกรัฐมนตรีจึงต้องควรลาออกเพื่อให้มีการไต่สวนคดีความอาญาตามที่ปรากฏชัดแจ้งเช่นนี้ต่อไป

สภาวิชาชีพทั้งสองสภาเห็นว่า เหตุผลสำคัญที่รักษาการนายกรัฐมนตรีมีผลประโยชน์หรือสิทธิพิเศษในการครอบงำหรือการสั่งราชการดังนี้

1. การร้องทุกข์กล่าวโทษรักษาการนายกรัฐมนตรี ต่อพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีความคืบหน้าเพราะรักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (กตร.) โดยตำแหน่ง จึงเป็นไปไม่ได้ที่พนักงานสอบสวนคนใดจะดำเนินการกับรักษาการนายกรัฐมนตรี

2. รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษโดยตำแหน่งตามกฎหมาย จึงเป็นไปไม่ได้ที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษคนใดจะดำเนินการกับรักษาการนายกรัฐมนตรี

3. การดำเนินการไต่สวนความรับผิดของรักษาการนายกรัฐมนตรีโดยคณะกรรมาธิการยุติธรรมของรัฐสภาทั้งสองสภาก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะอยู่ในระหว่างยุบสภาและวุฒิสภาก็ไม่อาจทำอะไรได้ในขณะนี้

4. การดำเนินการใช้สิทธิทางศาลยุติธรรมก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุที่ต้องมีการสอบสวนของพนักงานตำรวจแห่งชาติและเสนอต่อพนักงานอัยการ ซึ่งก่อนจะถึงสำนักงานอัยการสูงสุด บุคคลากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรักษาการนายกรัฐมนตรีทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

5. การดำเนินการทางศาลปกครองที่จะดำเนินการกับรักษาการนายกรัฐมนตรีก็ไม่อาจทำได้ เพราะไม่ใช่กรณีที่เป็นคำสั่งทางการปกครอง

6. การดำเนินการทางศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจทำได้เพราะสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้เคยพิจารณาข้อเรียกร้องของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 27 คน และได้ชี้มูลไปแล้วว่ายังไม่มีเหตุที่จะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

7. การดำเนินการที่จะร้องเรียนให้มีการสอบสวนให้มีการเพิกถอนรักษาการนายกรัฐมนตรีโดยสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 50,000 คน ตามรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจทำได้เพราะเหตุว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ถูกยุบไปแล้วและวุฒิสภาก็ไม่อาจดำเนินการได้

8. การดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษผ่านทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะขณะนี้ อยู่ระหว่างการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

9. การดำเนินการทางองค์กรอิสระหรือองค์กรทางกฎหมายอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ก็ดำเนินการไม่ได้ทั้งสิ้น

กรณีตามข้อเท็จจริงนี้ จึงเห็นได้ชัดเจนว่ามีภาวการณ์ที่มีผลประโยชน์ขัดกันโดยชัดเจนกับการเป็นผู้นำที่มีอำนาจรักษาการอยู่ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น มีผลทำให้ไม่อาจตรวจสอบความผิดของรักษาการนายกรัฐมนตรีได้เลย กลายเป็นหนทางตีบตันที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ในการบังคับใช้กฎหมายและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

ยิ่งกว่านั้น รักษาการนายกรัฐมนตรียังมุ่งหวังที่จะให้มีการจัดการเลือกตั้งทั้ง ๆ ที่รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะต้องสูญเสียงบประมาณแผ่นดินมากถึง 2,500 ล้านบาท ในขณะที่ข้อเท็จจริงในปัจจุบันปรากฏว่าพรรคการเมืองอื่นที่ได้เข้ามาส่งผู้สมัครนั้น พบว่ามีเป็นร้อยกรณีที่มีการทุจริตตั้งแต่เริ่มต้น เพราะมีการว่าจ้างผู้สมัครรับเลือกตั้งลงในหลาย ๆ พื้นที่ เพราะการเสนอหลักฐานที่ส่อไปในทางที่ทุจริตและบางพื้นที่ก็ไม่มีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเลย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงไม่อาจทำหน้าที่บริหารการเลือกตั้งโดยสมบูรณ์ และเป็นที่คาดหมายว่าเมื่อเลือกตั้งแล้วก็ยังไม่ได้รัฐบาล แม้รักษาการนายกรัฐมนตรีเองก็ต้องประสบกับปัญหาหลังจากการเลือกตั้งที่จะมีกรณีพิพาทกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ออกมาเรียกร้องความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการบริหารงานของรักษาการนายกรัฐมนตรี กรณีนี้ จึงเป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่าจะไม่มีรัฐบาลในระยะเวลาอันใกล้ และที่สำคัญคือได้สร้างความแตกแยกทางสังคมอย่างเห็นได้ชัด เพราะนโยบายที่ใช้ผลประโยชน์ทางการเงินเป็นเครื่องชี้นำทำให้สังคมทุกระดับเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง เศรษฐกิจของประเทศเริ่มถดถอยลงอย่างมาก กรณีจึงฟังเป็นข้อยุติได้ในสาระสำคัญว่ารักษาการนายกรัฐมนตรีขาดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งเป็นผู้รักษาการนายกรัฐมนตรีเพราะเหตุที่มีผลประโยชน์ขัดกันอย่างรุนแรงกับการกระทำที่เข้าข่ายความผิดทางอาญาที่กล่าวข้างต้น

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาทนายความ จึงขอแถลงการณ์มาเพื่อขอให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมกันนำเสนอข้อเท็จจริงข้างต้นและดำเนินการโดยราชประชาสมาสัยให้เกิดพลังมหาชนเพื่อขอให้ทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทยที่จะได้ผ่านวิกฤตการณ์แห่งการเผชิญหน้าและการสร้างความขัดแย้งในวงผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม นโยบายการแบ่งแยกและปกครองของรักษาการนายกรัฐมนตรีเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ทำให้เกิดความระส่ำระสายไปทั่วทุกหัวระแหง สมควรที่ปวงชนชาวไทยจะได้กราบถวายบังคมทูลเพื่อขอให้ทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ เพื่อก่อให้เกิดความสงบสุข สันติและความมั่นคงทางการเมืองและสังคมกลับมาสู่ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

18 มีนาคม พ.ศ. 2549, กรุงเทพมหานคร

(นางบัญญัติ ทัศนียะเวช )
ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

( นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ )
นายกสภาทนายความ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์