สปท.ชงประหารนักการเมืองโกงเกินพันล้าน ส่วนโกงกิน?

สปท.ชงประหารนักการเมืองโกงเกินพันล้าน ส่วนโกงกิน?

เวลา 09.30 น. วันที่ 9 มกราคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยมี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เรื่อง การควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ด้านการเมือง นำเสนอรายงานว่า มาตรการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายการเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะบังคับใช้กับข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจรัฐ ควรลดการผูกขาดการใช้อำนาจรัฐ โดยการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งการโยกย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการ และข้าราชการส่วนท้องถิ่นทุกระดับ เพื่อป้องกันการผูกขาดไปสร้างอิทธิพล สำหรับการตรวจสอบภายในหน่วยงานของรัฐ ผู้ตรวจราชการของรัฐ และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง จะต้องทำหน้าที่อย่างจริงจัง เพื่อไม่ละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หากข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ ละเลยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หรือแสวงหาผลประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ให้มีโทษตามกฎหมายในอัตราสูงสุด

"ควรเสนอให้แก้ไขกฎหมายและอัตราโทษในความผิดทุจริตคอร์รัปชั่น โดยผู้ใดกระทำผิดทุจริตคอร์รัปชั่นให้ลงโทษตามเกณฑ์ตัวอย่าง ดังนี้ 1.มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่นจำนวนเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี 2. มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น จำนวนเงินเกินกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุก 10 ปี 3.มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น จำนวนเงินเกินกว่า 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุก 20 ปี 4.มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น จำนวนเงินเกินกว่า 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1 พันล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และ 5.มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่น จำนวนเงินเกินกว่า 1 พันล้านบาทขึ้นไปต้องระวางโทษประหารชีวิต" นายเสรีกล่าว

นายเสรีกล่าวอีกว่า ในรายงานที่เสนอเพื่อให้เกิดความชัดเจน และป้องกันให้คนที่ปฏิบัติหน้าที่ที่คิดจะทุจริตให้ระวังว่ามีโทษอย่างไร จึงกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง ในหลายๆประเทศก็กำหนดบทลงโทษไว้รุนแรงเช่นกัน เราได้ศึกษาในเรื่องเหล่านี้ เป็นส่วนการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น เพื่อจะแก้ไขปัญหาได้สัมฤทธิผล กมธ.จึงได้เสนอแนะ การควบคุมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐควบคู่ไปด้วย อาทิ การแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ควรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนับแต่วันเริ่มบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ โดยให้จัดเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ที่หน่วยงานต้นสังกัดที่บุคคลนั้นบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบกรณีที่มีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อหน้าที่หรือไม่

ขณะที่นายกษิตกล่าวแย้งว่า รับไม่ได้กับข้อเสนอแนะที่ให้ประหารชีวิต เนื่องด้วยนับถือพระพุทธศาสนา จึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการลงโทษเพื่อนมนุษย์อย่างรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต

ด้านนายเสรีกล่าวชี้แจงว่า การเสนออัตราโทษเป็นการเสนอตามประมวลกฎหมายอาญา ในมาตรา 18 เราไม่ได้คิดเอง ส่วนอนาคตจะยกเลิกหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ถ้าจะแก้ไขตรงนี้อาจต้องไปแก้ไขกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ รวมทั้งกฎหมายอาญาด้วย เพราะเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาร้ายแรง กัดกร่อนประเทศมานาน ที่เสนอไม่ได้หมายความว่าจะไปลงโทษใคร เพียงแต่เสนอให้โทษแรง ให้คนเกรงกลัว ไม่กระทำความผิด เกิดความยับยั้งชั่งใจ ไม่ได้มีเจตนาร้ายไปฆ่าหรือให้ใครต้องเสียชีวิต แต่เป็นการป้องกันปัญหาใหญ่คอร์รัปชั่น ซึ่งคนที่จะเกินพันล้าน หมื่นล้าน แสนล้าน ก็มีอยู่ไม่กี่คน

นายวันชัย สอนศิริ สปท. ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการการควบคุมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐนำเสนอรายงานว่า เพื่อให้การควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหาร การตั้งกระทู้ถามมีประสิทธิภาพและเห็นผลในทางปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำมาทำลายชื่อเสียงหรือทำลายทางการเมือง จึงต้องมีการปฏิรูปการตั้งกระทู้ถาม โดยมีคณะกรรมการกลั่นกรองกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา มีการกำหนดระยะเวลาอย่างชัดเจนให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี มาตอบตามกรอบระยะเวลา หากไม่มาให้มีมาตรการลงโทษ นอกจากนี้ควรมีการตั้งคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินการของรัฐบาลตามกระทู้ถามว่ามีการดำเนินการคืบหน้ามากน้อยเพียงใดเช่นเดียวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ข้อมูลหลักฐานที่นำมาอภิปรายต้องเป็นข้อมูลผูกมัดนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และเมื่อข้อมูลที่ส่งต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้นายกฯ รัฐมนตรี ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ มากกว่าเน้นโจมตี ทำลายกันทางการเมือง

จากนั้น สมาชิก สปท.ได้ลงมติเห็นชอบรายงานดังกล่าวด้วยคะแนน 155 ต่อ 0 และงดออกเสียง 7 โดย กมธ.ด้านการเมืองจะมีการนำความคิดเห็นของสมาชิกไปปรับปรุงแก้ไขก่อนส่งไปยังคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่อไป

 


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์