สปช.จัดสัมมนาสานพลังสปช.ออกแบบอนาคตประเทศไทย-ระดมความเห็นแนวทางปฏิรูป

สปช.จัดสัมมนาสานพลังสปช.ออกแบบอนาคตประเทศไทย-ระดมความเห็นแนวทางปฏิรูป


เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 พ.ย. ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสถาบันพระปกเกล้า จัดสัมนาเรื่อง “สานพลังสปช.ออกแบบอนาคตประเทศไทย” เพื่อให้สมาชิกสปช. 250 ระดมความเห็นต่อแนวทางการปฏิรูป โดยมี นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. กล่าวเปิดงานว่า จากนี้ไปสปช.จะเดินอย่างมั่นคง โดยมีเจตนา 4 เรื่อง คือ 1.เสริมสร้างสานสัมพันธ์สมาชิกสปช. ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อ การทำงานข้างหน้าเพราะโอกาสที่จะมีความขัดแย้งความคิดมีอยู่สูง แต่การไม่ลงรอยจะไม่เป็นอุปสรรคการทำงาน 2.กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อเป็นหนึ่งเดียวในการปฏิรูปประเทศ 3.เส้นทางจะไปสู่อนาคตที่ความคาดหวังได้อย่างไร และ 4.จะนำผลภาพวาดอนาคตไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร ตนคิดว่าใน 4 ข้อนี้เราทำได้แน่ในสองวันนี้ โดยจะชวนให้สมาชิกคิดพร้อมๆ กัน และจูนความคิดให้ตรงกันด้วยการเดินหน้าคิกอ๊อฟ การปฏิรูปจะพบว่ามีทั้งประเด็นหลักและประเด็นย่อยต่างๆ มากกว่า 18 เรื่องที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนปลงให้ดีขึ้น แต่บางอย่างแค่แก้ไขประกาศหรือคำสั่งก็แก้ปัญหาได้ โดยไม่ต้องมีการปฏิรูปเพียงแต่ เราอาจจะช่วยกระตุ้น แค่ปรับแนวคิดองคาพยพถึงจะแก้ปัญหาได้ 

นายเทียนฉาย กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าเป้าหมายที่ทำให้การปฏิรูปมีผลสำเร็จ คือปฏิรูปแล้วต้องได้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีความเหมาะสมต่อสภาพสังคมไทย มีระบบเลือกตั้งสุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริต คอร์รัปชัน ขจัดความเลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมและพัฒนาที่ยั่งยืน กลไกรัฐสามารถให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง สะดวกรวดเร็ว และต้องมีการบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดเป็นธรรม ส่วนกระบวนการปฏิรูปน่าจะมีหลายวิธี คือสร้างการมีส่วนร่วมรับฟังความเห็นของสาธารณะและประชาชน โดยจะมีคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมประชาชน ซึ่งกมธ.วิสามัญดังกล่าวต้องมีความรอบคอบ ในเรื่องประสานสัมพันธ์ให้ดี มีเอกภาพ ทั้งรูปแบบและวิธีการ การจัดให้มีการเข้าไปร่วมรับฟังกรณีที่มีผู้จัด บทบาทของสปช. กรรมาธิการ และอนุกรรมาธิการ ต้องวางกันให้ดี เพราะต้องไม่สะดุดขาตัวเราเอง ต้องทำให้ถูกต้องและยอมรับได้ในระเบียบวิธี ให้มีส่วนร่วมของการให้มีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นอย่างไม่มีอคติ ไม่ใช่สักแต่ให้มีเท่านั้น เพราะการฟังความเห็นประชาชน ไม่สามารถฟัง 64 ล้านคน บางคนบางเวลาต้องจำแนกให้ดีด้วยวิธีที่ถูกต้อง 
 
 “ระวังเรื่องอ๊อฟไชด์กรอบอำนาจต้องทำให้ดี กรรมาธิการต้องเร่งรัดและเร่งมือ สมาชิกอาจจะต้องชะลอสักนิด เพื่อรอทีม เรากำลังเร่งมืออยู่แล้วและไปด้วยกันแต่ การฟังและให้มีส่วนรวมไม่ใช่คำมั่นสัญญาแต่เป็นการเอาข้อมูลมาประกอบร้อยเรียงเพื่ออนาคตประเทศไทย” ประธานสปช. กล่าว

 ประธานสปช. กล่าวอีกว่า ภารกิจเราทุกคนอยู่ที่กรรมาธิการ 18 คณะ แม้จะไปร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องไม่ลืมว่ายังอยู่ใน 18 คณะด้วย และถือเป็นความสำคัญที่เร่งด่วนแรก ส่วนการให้มีฟังความเห็นให้เป็นลำดับรอง ดังนั้น กรรมาธิการจะต้องไม่ขาดองค์ประชุมต้องแบ่งเวลาให้ดี นอกจากนี้ ต้องช่วยกันระวังป้องกันเรื่องข้อมูลที่ประชาชนอาจจะเข้าใจผิด เพราะที่ผ่านมามีบางช่วงหากติดตามจากสื่อโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ที่มีการรายงานข้อมูลอย่างรวดเร็ว คนนอกอาจไม่เข้าใจว่าสปช.ทำอะไรกัน บางครั้งออกอาการเป๋ จึงต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจและรีบให้คณะกรรมาธิการแต่ละชุดทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งอยากให้ทุกคนพูดผ่านโฆษกเท่านั้น บางคนอาจไปสัมภาษณ์เอง ต้องทำความเข้าใจว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ขอให้ระวังเรื่องนี้ หากเกิดปัญหาจะใช้เวลาแก้ไขนาน นอกจากนี้ อาจจำเป็นต้องมีคณะทำงานประชาสัมพันธ์มาช่วยและวางแผน ให้ข้อมูลทั้งกับสมาชิกและสาธารณะ โดยตนจะเรียกประชุมสปช.ในวันที่ 11 พ.ย. เพื่อให้มีการรับทราบการตั้งกรรมาธิการทั้ง 18 คณะ และขอมติให้มีกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปด้วย เพื่อเร่งจัดให้มีกรรมาธิการวิสามัญอีก 5 คณะ เพื่อให้การทำงานเดินหน้าอย่างสมบูรณ์

 จากนั้นนายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สปช. ได้ขึ้นมาเป่าขลุ่ยพร้อมอ่านบทกวี เกี่ยวกับจุดประสงค์ในการในการปฏิรูประเทศเพื่อมวลมหาประชาชน  ก่อนที่สมาชิกสปช.จะแยกไปสัมนาย่อยจำนวน 10 กลุ่ม เพื่อแสดงความเห็นหัวข้อ “ความทรงจำการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในรอบ 50 ปี” และหัวข้อ “อนาคตใน 20 ที่อยากเห็น ฝันว่าอยากจะเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไรใน 20 ปีข้างหน้า” ก่อนที่ตัวแทนแต่ละกลุ่มจะกลับมาสรุปข้อเสนออีกครั้งในเวลา 13.30 น.  

 ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร สปช.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสปช. กล่าวก่อนการสัมนาว่า การสัมนาครั้งนี้ สมาชิกสปช.แต่ละคนจะประกาศเจตนารมณ์ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการยกเครื่องประเทศภายใต้การขับเคลื่อนของสปช.และยืนยันว่าการทำงานของสปช.จะเร่งดำเนินการภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นไปตามความหวังของประชาชน ส่วนข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าที่มีการเสนอให้มีอภิรัฐมนตรีเหนือรัฐมนตรีนั้น สมาชิกสปช. ยังไม่มีการพิจารณา แต่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ทุกฝ่ายร่วมกันเสนอความเห็นการปฏิรูปประเทศ ซึ่งสปช.จะนำข้อเสนอต่างๆ มาประมวลความเห็น โดยผ่านคณะกมธ.วิสามัญประจำสภา ทั้ง 18 คณะ สำหรับข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอให้มีการทำประชามติ สอบถามประชาชนเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้ร่างฉบับนี้ เป็นที่ยอมรับของประชาชนและผ่านการเห็นชอบจากประชาชน เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญ 

 “อนาคตหากมีการจัดทำประชามติ ทุกฝ่ายต้องหารือกัน ทั้งสปช. สมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และกมธ.ยกร่างฯ ร่วมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปเข้ามา ซึ่งตรงนี้สปช.ต้องไปพิจารณาร่วมกันว่า จะนำความเห็นดังกล่าวเข้ามาในพิมพ์เขียวการเมืองหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สปช.จะมีการตั้งกมธ.วิสามัญอีก 5 คณะ เพื่อกำหนดทิศทางในการทำงานก่อนเสนอให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 19 ธ.ค. นี้” นายอลงกรณ์ กล่าว




ภาพจาก :: มติชนออนไลน์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์