สนธิลั่นไม่กลัวตาย-ถูกฟ้องเล็งยื่นศาลฎีกาสู้คดีหมิ่นภูมิธรรม เตมูจินเจอคุก6เดือนหมิ่นนพดล

"สนธิ"ลั่นไม่กลัวตาย-ถูกฟ้องเล็งยื่นศาลฎีกาสู้คดีหมิ่น"ภูมิธรรม" "เตมูจิน"เจอคุก6เดือนหมิ่น"นพดล"

ศาลฯพิพากษาจำคุก"เตมูจิน" 6 เดือนไม่รอลงอาญา คดีหมิ่น"นพดล ปัทมะ" ส่วน"สนธิ"เตรียมยื่นศาลฎีกาสู้คดีหมิ่น"ภูมิธรรม" แม้ศาลอุทธรณ์ลดโทษเหลือคุก6เดือน หลังเจอคุก2ปีคดีหมิ่น"หม่อมอุ๋ย"

ศาลฯพิพากษาจำคุก"เตมูจิน" 6 เดือนไม่รอลงอาญา คดีหมิ่น"นพดล"


ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 11 กันยายน ศาลพิพากษาจำคุก นายชนาพัทธ์ ณ นคร หรือ เตมูจิน ประธานเครือข่ายเตมูจิน จำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณาเป็นเวลา 1 ปี แต่คำรับสารภาพเป็นประโยชน์ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน


คดีนี้ นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีต รมว.ต่างประเทศ เป็นโจทก์ ฟ้องเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2550 สรุปว่า เมื่อวันที่ 9  พฤษภาคม 2550 จำเลยที่ 1 ได้กล่าวถ้อยคำใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ว่า ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนขบวนการตัดไม้เขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีการบันทึกเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต ของเว็บไซต์  หนังสือพิมพ์แนวหน้า และหนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่พิมพ์จำหน่ายทั่วประเทศ  การกระทำของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง


ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่า ข้อความดังกล่าวทำให้โจทก์ ได้รับความเสียหาย และทำให้บุคคลทั่วไป เข้าใจว่าโจทก์เป็นคนไม่ดีใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ฝ่าฝืนกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ลงโทษดังกล่าว และให้นับโทษต่อจากคดีหมายเลขดำ ที่ อ.2023/2550 ที่ศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2552  ที่ให้จำคุก 2 เดือน จำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท นายนพดล มูลเหตุเรื่องเดียวกันนี้อีกคดีด้วย 


ภายหลังศาลมีคำพิพากษาแล้ว นายชนาพัทธ์ จำเลย ยื่นคำร้อง พร้อมหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ มูลค่า 100,000 บาท ขอประกันตัว


"สนธิ"ลั่นไม่กลัวตาย เล็งยื่นศาลฎีกาสู้คดีหมิ่น"ภูมิธรรม"


วันเดียว ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลดโทษจำคุกนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ จำเลยที่ 5 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 ปี เหลือจำคุก 6 เดือน และพิพากษายืนให้ปรับบริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด ผู้ผลิตรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 200,000 บาท และให้ยกฟ้อง นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล กรรมการ บจก.ไทยเดย์ฯ นายพชร สมุทวณิช กรรมการ บจก.ไทยเดย์ฯ นายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน บริษัท แมแนเจอร์ มีเดียร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ผู้จัดการ นายสุวัฒน์ ทองธนากุล กรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ นายมรุชัช รัตนปรารมย์ กรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ, นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ กรรมการ บมจ.แมเนเจอร์ฯ และนายวิรัตน์ แสงทองคำ ผู้ดูแลเว็บไซต์ จำเลยที่ 2-4 และ 6-10


คดีนี้นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย เป็นโจทก์ฟ้อง สรุปว่าเมื่อที่ 25 พฤศจิกายน 2548 นายสนธิ จำเลยที่ 5 และ น.ส.สโรชา พรอุดมศักดิ์ ร่วมกันจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ครั้งที่ 10 ที่วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี มีเนื้อหาหมิ่นประมาทโจทก์ทำนองว่าเป็นอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่เคารพสถาบันกษัตริย์และระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งเกี่ยวข้องกับการจัดทำเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง โดยถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี ของจำเลยที่ 1 และยังบันทึกเป็นวีซีดี และดีวีดี ออกเผยแพร่ รวมทั้งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับเสาร์-อาทิตย์ 26-27 และ 28 พฤศจิกายน 2548 และในเว็บไซต์ www.manager.co.th 


คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 ให้จำคุกนายสนธิ จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ด้วยการเผยแพร่วีซีดี และดีวีดี รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ พิพากษาให้ปรับเงิน 200,000 บาท และให้ทำลายวีซีดี ดีวีดี รายการเมืองไทยรายสัปดาห์ครั้งที่ 10 และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับวันที่ 26-27 และ 28 พฤศจิกายน 2548 รวมทั้งให้โฆษณาคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเป็นเวลา 3 วัน โดยให้จำเลยที่ 1 และ 5 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด สำหรับจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง  


ต่อมานายภูมิธรรมโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2-4 และ 6-10 ด้วย ส่วนบริษัท ไทยเดย์ฯ จำเลยที่ 1 และนายสนธิ จำเลยที่ 5 ยื่นอุทธรณ์ ว่าการจัดรายการของจำเลยที่ 5 ไม่มีเจตนาใส่ร้ายโจทก์แต่เป็นไปเพื่อให้คำแนะนำและองค์ความรู้ต่อโจทก์ในฐานะที่เป็นคนรุ่นหลังและแก้ไขในสิ่งที่ได้กระทำผิดมาโดยให้ยึดหลัก หิริโอตตัปปะ และมัชฌิมาปฏิปทา และอุทธรณ์ขอให้ศาลลดโทษและค่าปรับด้วย 


ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ที่จำเลยที่ 5 อ้างว่าโจทก์เป็นบุคคลสาธารณะและเคยกล่าวหาจำเลยที่ 5 ทำลายประชาธิปไตย และดึงสถาบันเบื้องสูงมาเกลือกกลั้วกับการเมือง จำเลยที่ 5 จึงมีสิทธิตอบโต้ด้วยการตั้งคำถามถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันเบื้องสูงของโจทก์ ศาลเห็นว่าแม้โจทก์จะเป็นบุคคลสาธารณะและสามารถกล่าวถึงปูมหลังแต่การกล่าวถึงต้องเป็นการนำข้อเท็จจริงมาแสดงความคิดเห็น การกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องในอดีต ที่โจทก์เคยเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อก่อนวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่เมื่อเหตุการณ์สงบโจทก์ก็ได้กลับเข้ามาศึกษาเมื่อปี 2522 ซึ่งหากโจทก์ยังฝักใฝ่พรรคคอมมิวนิสต์ตามที่จำเลยที่ 5 กล่าวอ้าง โจทก์ก็คงไม่ดำเนินกิจกรรมการเมืองที่มีระบบเลือกตั้ง


ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นการติชมด้วยความสุจริตและเป็นธรรม หรือให้คำแนะนำต่อตัวโจทก์ตามที่อุทธรณ์ซึ่งจำเลยที่ 5 รู้อยู่แล้วว่าในฐานะสื่อมวลชน ย่อมทำให้ประชาชนเชื่อในข้อความดังกล่าว จำเลยที่ 5 จึงต้องมีความระมัดระวังตามสมควรเพื่อไม่ให้บุคคลที่ถูกกล่าวถึงได้รับความเสียหาย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 5 มีความผิดนั้นชอบแล้วแต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 5 ตามมาตรา 326 ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วย ทั้งที่พิพากษาโทษ  ตามมาตรา 328 ฐานหมิ่นผู้อื่นโดยการโฆษณาด้วยสิ่งบันทึกเสียง และภาพ และสื่อสิ่งพิมพ์ไปแล้วนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่ารุนแรงเกินไป ไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์ เพราะเมื่อลงโทษจำเลยที่ 5 ตามมาตรา 328 แล้ว ก็ไม่จำต้องพิจารณาโทษ ตามมาตรา 326 อีก จึงพิพากษาแก้โทษจำเลยที่ 5 เป็นจำคุก 6 เดือน ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ให้ลงโทษจำเลยอื่นนั้นฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนให้ปรับบริษัท ไทยเดย์ฯ จำเลยที่ 1 จำนวน 200,000 บาท ส่วนจำเลยอื่นให้ยกฟ้อง ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา  


ภายหลังนายสนธิกล่าวว่า จะขอยื่นฎีกาสู้คดีต่อไป โดยจะยื่นฎีกาในประเด็นข้อเท็จจริง เพราะคดีที่นายภูมิธรรมยื่นฟ้องตนและคดีอื่นๆ อีกหลายคดีนั้น เกิดขึ้นในช่วงที่ทำสงครามกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจะต้องสู้กันทุกรูปแบบ ตนไม่กลัวตายไม่กลัวถูกฟ้อง และจะพิสูจน์ให้เห็นว่าศาลสถิตยุติธรรมของประเทศไทยมีความศักดิ์สิทธิ์ ต่างกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวโจมตีศาล และหากในที่สุดตนถูกลงโทษจำคุกก็เป็นเกียรติอย่างยิ่งใหญ่ ที่ถูกจำคุกเพื่อชาติบ้านเมือง ต่อมานายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความยื่นหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพของบริษัท วิริยะประกันภัย ขอประกันตัวออกไป 


ก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลพิพากษาจำคุก นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จำเลยที่  2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาเป็นเวลา  2 ปี  ส่วนบริษัทไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด จำเลยที่ 1 ลงโทษปรับ 200,000 บาท และลงโทษจำคุกนายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.ผู้จัดการ จำเลยที่  4 เป็นเวลา  1 ปี ปรับ 30,000 บาท ให้ยกฟ้อง บริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 3 ซึ่งภายหลังศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวนายสนธิชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 200,000 บาท


คดีนี้ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นโจทก์ฟ้อง สรุปว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 นายสนธิ จำเลยที่ 2 ใส่ความโจทก์ผ่านรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ออกอากาศทางช่อง New 1 เอเอสทีวี และหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ทำนองว่าโจทก์ล้างมลทินให้กลุ่มอำนาจเก่า ปล่อยให้มีการออกสลากบนดิน 2 ตัวขัดต่อกฎหมาย และโจทก์ช่วยเหลือ นายศิโรตม์ สวัสดิพาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ที่ไม่ตรวจสอบการขายหุ้นแอมเพิลริชให้กลุ่มทุนเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ และปกป้องผู้กระทำผิดกรณีที่ปล่อยให้มีการโอนหุ้นชิน บมจ.ชินคอร์ป โดยไม่เสียภาษี รวมทั้งมีผลประโยชน์ทับซ้อนธนาคารกสิกรไทย


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์