สนช.รับหลักการพ.ร.บ.มั่นคงประสงค์เทียบเซ็นเช็คเปล่าผู้อื่นกรอก

สนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ101 ต่อ 20 เสียง

ด้าน "ประสงค์" ตำหนิครม.ขิงแก่ไม่ให้ความสำคัญการอภิปรายทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่ เปรียบเซ็นเช็คเปล่าให้ผู้อื่นกรอก "นายกรัฐมนตรี-ผบ.ทบ."ประสานเสียง ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ.มั่นคง

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 

มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร 101 ต่อ 20 เสียง งดออกเสียง  2 เสียง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว 24 คน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิก สนช.ทั้งสิ้น โดยใช้เวลาพิจารณา 7 วัน

ก่อนหน้านี้นายธีรภัทร์เสรีรังสรรค์ 

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรีนำเสนอร่างกฎหมาย โดยย้ำถึงหลักการและเหตุผลที่จะจัดระบบการบริหารจัดการปัญหาความไม่สงบของบ้านเมือง โดยระบุว่ารัฐบาลได้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หลายครั้ง ก่อนส่งให้ สนช.พิจารณาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและ ครม.แล้ว และคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ปนช.) ก็เสนอให้แก้ไขหลายประเด็น หากกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้สามารถยกเลิกกฎอัยการศึกที่ยังมีอยู่ในบางพื้นที่ บางอำเภอได้ทันที 

ขณะที่น.ต.ประสงค์สุ่นศิริ สมาชิก สนช.อภิปรายตำหนิรมว.มหาดไทย 

กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหม ที่ไม่มารับฟังความเห็นของ สนช. ทั้งๆ ที่มาขออำนาจจากสภาแห่งนี้ไปใช้  ถ้าสภาออกกฎหมายฉบับนี้ จะร้ายแรงไม่แพ้กฎอัยการศึก และ พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีอยู่แล้ว ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเนื้อหาใกล้เคียงกับ พ.ร.บ.ปราบปรามการกระทำอันป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2542 ทั้งนี้เห็นด้วยที่จะให้หน่วยงาน กอ.รมน.มีกฎหมายรองรับชัดเจน  แต่ไม่ใช่เอาอำนาจบังคับคนอื่นผิดกฎหมายอาญา แพ่งหรือละเมิดกติกาของศาล 


"อ่าน พ.ร.บ.นี้ทั้งหมดแล้วเหมือนเซ็นเช็คเปล่าให้ผู้อื่นไปกรอกจำนวนตามใจชอบ วันนี้สังคมมีปัญหาหลายอย่าง แต่รัฐบาลกลับขออำนาจเข้ามาอีก เห็นด้วยที่จะทำบ้านเมืองมั่นคง แต่ต้องเป็นความมั่นคงแห่งรัฐ และประชาชนที่สามารถมีชีวิตอย่างสงบ ปลอดภัยภายใต้กฎหมายที่เป็นธรรม ไม่ใช่เพื่อความมั่นคงของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง" น.ต.ประสงค์ กล่าว
 

พล.อ.โชคชัยหงษ์ทอง และนายเชนทร์ วิพัฒน์บวรวงศ์ 

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร โดยเห็นว่า ควรจะมีกฎหมายที่เหมาะสมนำมาใช้กับสถานการณ์บ้านเมืองต่อไป หากยกเลิกกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแม้จะกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนบ้าง แต่ก็เป็นบางส่วนเท่านั้น ขณะเดียวกันผู้มีอำนาจ คือนายกรัฐมนตรี มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จึงเชื่อว่าจะมีดุลพินิจอย่างเหมาะสมได้


ขณะที่พล.อ.สุรยุทธ์จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน 

เพื่อแสดงความยินดีแก่เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ และผู้มีผลงานดีเด่น โดยตอบคำถามถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเสนอร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ ไม่ต้องการใช้เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ แต่เตรียมไว้สำหรับอนาคต เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาเรื่องการลักลอบเข้าเมือง ปัญหาการค้ายาเสพติด ปัญหาตามแนวชายแดน ปัญหาการค้ามนุษย์ ทั้งนี้รัฐบาลไม่ต้องการใช้กฎอัยการศึก เพราะรุนแรง ล้าหลัง จึงเห็นความจำเป็นต้องมี พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อมอบอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่ ไว้ป้องกัน และแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น โดยมีกฎหมายรองรับ ทั้งนี้ไม่ต้องการใช้กฎอัยการศึก จึงควรมี พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน 


ผมเป็นคนที่เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วยตัวเอง 

เพราะมีประสบการณ์ตรง กรณีเหตุการณ์ที่ราชบุรี มีกองกำลังจากต่างชาติเข้ามายึดโรงพยาบาล แต่ผมถูกดำเนินคดีในศาลถึง 4 ปี สุดท้ายศาลก็ตัดสินว่าไม่ผิด เราไม่ได้ออกกฎหมายฉบับนี้มาเพื่อบังคับใช้กับคนไทย และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองในอนาคต นายกรัฐมนตรี กล่าว


ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก 

และในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เป็นประธานสรุปผลปฏิบัติงานประจำปี 2550 และแผนการปฏิบัติงานปี 2551 ว่า ในปี 2551 ไม่ว่ากฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในจะเกิดขึ้นหรือไม่ กอ.รมน.จะเปลี่ยนการทำงานเล็กน้อย เพื่อตอบสนองกับการแก้ปัญหาภัยคุกคามต่างๆ และระลึกเสมอว่า ภัยคุกคามมีจริง และควรมีกฎหมายเฉพาะ

เมื่อถามว่าขณะนี้มีเสียงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคง 

เพราะไปกระทบต่อสิทธิประชาชน พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ในเจตนาของตนอยากให้มีกฎหมายแค่เพียงพอให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์