สธ.เร่งพิสูจน์เด็ก7เดือนติดหวัด2009 จากแม่ คาดถุงน้ำคร่ำอาจแตกถูกตัว หมอหวั่นติดเชื้อผ่านเลือดได้


รมช.สธ.สั่งหมอเจาะเลือดทารก7เดือนเป็น"หวัด2009"พิสูจน์ป็นกรณีศึกษา หมอคาดถุงน้ำคร่ำแม่แตกถูกตัวเด็ก ขัดหลักวิชาการถ่ายทอดเชื้อผ่านเลือดได้ อภ.ทุ่มงบ750ล้านสั่งวัตถุดิบทำยาต้านจากอินเดียคาดถึงไทย27ก.ค.

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ใน จ.ราชบุรี ซึ่งมีจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 7 ราย รองจากกรุงเทพฯ ที่มีผู้เสียชีวิต 15 ราย ว่าจากการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ จ.ราชบุรี มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับยาต้านไวรัสช้า มีผู้ป่วยหลายรายที่ได้รับยาหลังจากที่อาการหนัก ปอดอักเสบแล้ว จึงทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง ประกอบกับ ประชาชนส่วนใหญ่เมื่อมีอาการป่วย มักจะไปหาแพทย์ที่คลีนิคมากกว่าไปโรงพยาบาล ซึ่งตามคลีนิคจะไม่มียาต้านไวรัส เพราะ สธ.เป็นห่วงเรื่องผลข้างเคียงของยา จึงไม่มีการสำรองยาต้านไวรัสตามคลีนิค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ จ.ราชบุรี เป็นจังหวัดนำร่องแห่งแรกที่ สธ.จะจ่ายยาต้านไวรัสให้กับคลีนิคต่างๆ

นายมานิตกล่าวว่า สำหรับกรณีหญิงอายุ 24 ปี ตั้งครรภ์ 7 เดือน ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีอาการรุนแรง และคลอดก่อนกำหนด ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเด็กทารกรอดชีวิต โดยผลตรวจเชื้อจากห้องปฏิบัติการยืนยันว่า เด็กติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ด้วย ดังนั้น จึงสั่งการให้แพทย์เจาะเลือดเด็กเพื่อตรวจหาเชื้อซ้ำ เพื่อวิเคราะห์ว่าเด็กติดเชื้อจากทางใด หายป่วยหรือยัง โดยจะทราบในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้

นพ.บุญเรือง ชูชัยแสงรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ราชบุรี กล่าวว่า หญิงอายุ 24 ปี ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แล้ว ส่วนเด็กทารกยังอยู่ที่ จ.ราชบุรี โดยผลตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการระบุว่า ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 แต่อาการล่าสุดอยู่ในขั้นปลอดภัย ไม่น่าห่วง ซึ่งแพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสกับเด็กแล้ว โดยจะครบชุดการรักษาในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้

"ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของ สธ. ต้องศึกษากรณีเด็กทารกคนนี้ ว่าติดเชื้อจากมารดาได้อย่างไร ติดจากเลือด น้ำคร่ำ หรือเข้าสู่ปอดโดยตรง ซึ่งปกติมีความเป็นไปได้ยากที่จะติดเชื้อจากเลือดโดยตรง เพราะเลือดของแม่ และเลือดของเด็กแยกกันอย่างชัดเจน ไม่ปะปนกัน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะติดจากน้ำคร่ำ เพราะขณะคลอดถุงน้ำคร่ำฉีกขาด อาจไปสัมผัสถูกตัวเด็กได้" นพ.บุญเรืองกล่าว

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 กรมการแพทย์ สธ. กล่าวว่า ถือเป็นรายแรกของไทยที่เด็กติดเชื้อจากครรภ์มารดาและรอดชีวิตได้ ที่สำคัญถือเป็นข้อมูลวิชาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะตามหลักวิชาการที่มีอยู่ในปัจจุบัน พบว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไม่ได้อยู่ในกระแสเลือด จึงไม่สามารถติดเชื้อผ่านทางเลือดได้ เพราะเชื้อไวรัสจะอยู่ในสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เป็นต้น

รศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ทีมแพทย์อยู่ระหว่างการประเมินอาการของผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์อายุ 24 ปี ที่คลอดเด็กก่อนกำหนดที่ จ.ราชบุรี รวมทั้งวางแผนการรักษา โดยล่าสุด อาการของผู้ป่วยดีขึ้น รู้สึกตัวดี หายใจได้เอง ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่อาการยังโคม่า ปอดยังอักเสบรุนแรงอยู่ ยังไม่พ้นขีดอันตราย ทั้งนี้ คาดว่าในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ ทางโรงพยาบาลจะมีการแถลงข่าวความคืบหน้าอาการของผู้ป่วยให้ทราบ 

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า อภ. ได้เพิ่มการผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์อีก 30 ล้านเม็ด จากเดิมที่กำหนดจะผลิตเพิ่มอีกเพียง 10 ล้านเม็ดเท่านั้น รวมเป็น 40 ล้านเม็ด ขณะนี้ อภ.สั่งซื้อวัตถุดิบในการผลิตยาต้านไวรัสจากประเทศอินเดียแล้ว คาดว่าวัตถุดิบจะมาถึงประเทศไทยในวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ และจะเริ่มการผลิตยาได้ทันที โดยยาต้านไวรัสล็อตใหม่ จะมีราคาต้นทุนอยู่ที่เม็ดละ 25 บาท รวมงบประมาณ 750 ล้านบาท

ด้านนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย นพ.ศุภผล เอี่ยมเมธาวี เลขาธิการสมัชชาประชาชน ภาคอีสาน 19 จังหวัด ร่วมกันแถลงการณ์ที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ประณามการทำงานของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ไร้ประสิทธิภาพ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งป้องกันและเพิ่มมาตรการการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างจริงจัง รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารอย่างเปิดเผยโดยไม่มีการปิดบัง

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์