ส.ว.เสียงแตก กร้าวลาออก ให้กก.สมานฉันท์ยกร่างแก้รธน. มาร์ค กั๊กยุบสภา ย้ำไม่ยื้อเวลา ยันทำประชามติ

ส.ว.มีความเห็นไม่ตรงกันให้กก.สมานฉันท์ฯยกร่างแก้ไขรธน. "ตวง" ประกาศลั่นลาออก เหตุไม่มีกฎหมายรองรับ "มาร์ค" ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธยุบสภา ยันไม่ยื้อเวลา ย้ำต้องทำประชามมติ

"มาร์ค"ยืนกรานต้องประชามติ


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านเว็บคอนเฟอร์เรนซ์จากสหรัฐอเมริกา มายังศูนย์แถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 กันยายน ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นนั้นไม่เป็นปัญหา เพียงเเต่ต้องกลับไปแลกเปลี่ยนความเห็นถึงหลักการที่พูดไว้ในสภาว่า  หากกระทำโดยไม่มีสภาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และใช้สมาชิกรัฐสภาดำเนินการนั้น มันเป็นคำถามที่ต้องตอบว่า ไม่ใช่เรื่องที่นักการเมืองต้องการแต่ประชาชนต้องการ "ใจของผมคือ ไม่ตั้ง ส.ส.ร.ก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้มีการทำประชามติหลังจากที่รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว"


เมื่อถามว่า หากแก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้วจะยุบสภาเลยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า "อยู่ที่การแก้ หากแก้แล้วต้องยุบมันก็ต้องยุบ หากแก้แล้วมีการระบุว่าไม่ต้องยุบก็เป็นดุลพินิจของผม และผมไม่ขัดข้องทางหนึ่งทางใด แต่คนที่จะกระทำเรื่องนี้ต้องกำหนดเองโดยหลักคือ หากแก้แล้วเกี่ยวข้องกับสถานภาพของ ส.ส. และไม่มีบทเฉพาะกาลก็ต้องยุบสภา"


ยันไม่ยื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญ


เมื่อถามถึงกรณีพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่ควรยื้อเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าว พร้อมแซวนายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษก ชทพ. ที่นั่งอยู่หน้าจอทีวีเว็บคอนเฟอร์เรนซ์ว่า "ไม่ยื้อหรอกครับ ก็เห็นนั่งยิ้มอยู่ข้างหน้า ก็ไม่มีอะไรที่ขัดกันเลย ยิ้มใหญ่เลย" ทำให้นายวัชระต้องยกมือไหว้เป็นเชิงขอโทษไปที่หน้าจอทีวี


ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช ปชป. ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า หากการแก้รัฐธรรมนูญผ่านความเห็นของคณะกรรมการยกร่าง และผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วม ก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องจะถูกถอดถอนตามมาตรา 122 ที่กำหนดห้าม ส.ส. และ ส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือไม่


ปชป.ไม่ล็อคว่าต้องรื้อครบ6ปม


นพ.บุรณัชย์ สมุทรรักษ์ โฆษก ปชป. แถลงว่า พรรคสนับสนุนแนวทางให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ สานต่อแนวทางการปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ข้อ คือ 1.ถือเป็นภารกิจในการอธิบายสังคมเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น เพราะมีผลต่อการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมวงกว้างได้อย่างไร 2.ต้องขยายผลจากความเห็นพ้องในสภาผ่านวิป 3 ฝ่าย ไปสู่การยอมรับและการมีส่วนร่วมในสังคม โดยคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนจากการทำประชาพิจารณ์เฉพาะเรื่อง เฉพาะส่วน ที่ทุกฝ่ายอยากนำเสนอความเห็นในส่วนของตนเอง เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภา และ 3.ตัวแทนทุกพรรคการเมืองและวุฒิสมาชิกต้องร่วมดำเนินการควบคู่ในการรับฟังความเห็นจากประชาชนผ่านการทำประชามติ


"พรรคไม่มีข้อกำหนดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องครบทั้ง 6 ประเด็น  เพราะถือเป็นกระบวนการที่ต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนเป็นหลัก เพราะตระหนักถึงความต้องการของประชาชน เพื่อที่จะตอบโจทย์ความต้องการนั้นได้ โดยยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก ดังนั้น ทุกขั้นตอนต้องสร้างความมั่นใจให้ทุกภาคส่วนของสังคมว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนใหญ่ของชาติ" นพ.บุรณัชย์กล่าว


ส.ว."สมานฉันท์"เสียงแตก


พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า ถ้าจะให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯไปยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะใช้คณะกรรมการชุดเดิมจะได้ไม่มีปัญหา เนื่องจากได้ศึกษาประเด็นต่างๆ ไว้เรียบร้อย


นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานอนุกรรมการศึกษาหาแนวทางการสมานฉันท์ ในคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า ถ้าตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯชุดเดิมมายกร่าง จะขอลาออก เพราะกรรมการสมานฉันท์ฯไม่มีหน้าที่ยกร่าง แม้จะตั้งเดิมขึ้นมาและมอบอำนาจใหม่ให้ เนื่องจากมีปัญหาว่า กรรมการสมานฉันท์ฯจะใช้อำนาจทางกฎหมายใดเป็นฐานในการยกร่างฯ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้อำนาจรัฐบาล ส.ส. ร่วมกับ ส.ว.ยกร่างและเสนอร่าง ควรปล่อยให้รัฐบาลและฝ่ายค้านดำเนินการกันเองในขั้นตอนต่อจากนี้ ส่วน ส.ว.ควรทำหน้าที่ตรวจสอบและกลั่นกรอง


ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา อดีตกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวว่า ถ้าจะให้กรรมการสมานฉันท์ฯยกร่าง ก็ควรเปลี่ยนองค์ประกอบ โดยควรนำภาคประชาชนเข้ามาร่วมงานด้วย เพราะหลักการในการร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรให้ผู้มีส่วนได้เสียมายกร่าง เพราะถือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ในประวัติศาสตร์การร่างรัฐธรรมนูญของไทยก็ใช้แต่กรรมการอิสระหรือ ส.ส.ร. ซึ่งทำให้วิธีการร่างที่ดีกว่าและปลอดส่วนได้เสียมากกว่า


"นิคม"ลั่นแก้เสร็จต้องยุบสภา


นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง กล่าวว่า การต่ออายุคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เพื่อยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะดีกว่าการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เนื่องจากคณะกรรมการชุดเก่าได้ศึกษาและมีรายงานข้อสรุปออกมาชัดเจนแล้ว น่าจะเข้าใจในประเด็นมากกว่า และหากตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ก็อาจจะมีประเด็นเพิ่มขึ้นมาและอาจทำให้เสียเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก รวมทั้งยิ่งจะถูกข้อครหาว่ามีการเตะถ่วง ซื้อเวลา


นายนิคมกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม อาจจะทำประชามติหรือประชาพิจารณ์ และในการยกร่างหากจะสอบถามประชาชนทีละประเด็นจะทำให้ยุ่งยาก ดังนั้น จึงควรนำทั้ง 6 ประเด็น รวมเป็นร่างเดียว เมื่อถามว่าจะถูกมองว่าเป็นการเหมาเข่งแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ นายนิคมกล่าวว่า ตอนที่ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ทำแบบเหมาเข่งเช่นกัน ดังนั้น เมื่อทุกคนยอมรับใน 6 ประเด็นว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกแยกของบ้านเมืองก็ต้องยอมรับเสียงข้างมาก ไม่เช่นนั้นจะเกิดประชาธิปไตยข้างถนนอยู่เรื่อยๆ และเห็นว่าหากแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นก็ควรคืนอำนาจให้กับประชาชน


ภท.หวั่นเสียเวลาให้แก้ยกพวง


นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) แกนนำกลุ่มเพื่อนเนวิน กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าพรรคย้ำจุดยืนเดิมมาตลอดว่า ส่วนที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ มาตรา 190 เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารงานได้และเรื่องระบบเลือกตั้ง ที่จะต้องเปลี่ยนมาใช้เขตเล็กคือ เป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว โดยมี ส.ส.บัญชีรายชื่อเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งไม่ว่าใครจะเห็นว่าควรแก้ไขกี่ประเด็นกี่มาตรา ภท.ก็ขอให้มีการดำเนินการแก้ไขใน 2 จุดนี้ให้เรียบร้อยก่อน


"พรรคเห็นควรให้มีการดำเนินการแก้ไขตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 291 คือให้ ฝ่ายบริหาร ส.ส.หรือ ส.ว.หรือ ส.ส. บวก ส.ว. เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขไป ไม่จำเป็นจะต้องให้ ส.ส.ร. มาเป็นผู้แก้ไข เพราะจะทำให้เสียเวลาไปโดยใช่เหตุ สำหรับประเด็นเรื่องการทำประชามตินั้น พรรคเห็นว่าเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วก็ควรจะให้ประชาชนเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ" นายบุญจงกล่าว และว่า เมื่อจะแก้รัฐธรรมนูญและจะทำประชามติแล้ว พรรคก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้แก้ทีละประเด็น ควรแก้ไขไปเลยทีละหลายประเด็น เพื่อไม่ให้เสียเวลาและเสียงบประมาณ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์