ศิโรตม์พลิกสอบชิน รับลูกสตง.ทวงคืนภาษี5พันล้าน

จับตาเช็กบิล "ทักษิณ ชินวัตร" อธิบดีกรมสรรพากรเปิดใจกรณีภาษีขายหุ้นชินคอร์ป อ้างสถานการณ์บังคับเร่งให้ออกคำวินิจฉัย



ทั้งที่ยังไม่ได้มีการซื้อขายหุ้น ยอมรับมีบางกรณีที่ผู้ขายหุ้นไม่ได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของสรรพากร พร้อมยืนยันไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่-ไม่ได้เลือกปฏิบัติกรณีภาษีหุ้นชินคอร์ป ประกาศพร้อมปฏิบัติตามข้อเสนอ สตง. วงในคาดทวงภาษีคืนกว่า 5,000 ล้าน


นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร

ในกรณีของการซื้อ-ขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับกองทุนเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ ว่าที่ผ่านมาตนและเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรได้ไปชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ของ สตง.แล้ว และได้มอบเอกสารให้กับทาง สตง.ไปจำนวนหนึ่ง

ซึ่งเข้าใจว่าเรื่องนี้คงจะอยู่ในขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลเอกสาร หลักฐานและสอบปากคำ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคงจะต้องรอผลสรุปของ สตง.ว่าจะเป็นอย่างไร


อธิบดีสรรพากรยันไม่เลือกปฏิบัติ



"เราเชื่อว่าทาง สตง.คงจะให้โอกาสเรา ที่ผ่านมาผมไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ได้เลือกปฏิบัติ ผมทำไปตามกรอบกฎหมายที่มีอยู่ ผู้เสียภาษีมีสิทธิที่จะทำเรื่องมาหารือสอบถามว่า ถ้าทำอย่างโน้นอย่างนี้แล้วจะเสียภาษีอย่างไร เราก็ตอบไปตามปกติที่ต้องตอบข้อหารือให้กับผู้เสียภาษี

ซึ่งในกรณีนี้เขายังไม่ได้ลงมือซื้อ-ขายเลย แต่มาเร่งให้ออกคำวินิจฉัย พอเราตอบออกไปเขาก็ทำตาม แต่มีบางกรณีก็ไปทำอีกอย่าง ซึ่งในกรณีหลังนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง"


นายศิโรตม์กล่าวต่ออีกว่า เชื่อว่า สตง.คงจะให้โอกาส ขณะนี้สภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนไปแล้ว ทางกรมสรรพากรยินดีที่จะทำตามข้อเสนอแนะและกระบวนการในการตรวจสอบของ สตง.

เมื่อมีการสรุปผลการสอบส่วนราชการแล้ว มักจะมีข้อเสนอแนะให้ส่วนราชการแก้ไขปรับปรุง เมื่อ สตง.สรุปผลการสอบก็จะต้องส่งให้กับผู้บังคับบัญชาของตน (นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง) เพื่อส่งต่อให้กรมสรรพากรดำเนินการ ขณะนี้ผมต้องรอให้ผลสรุปของ สตง. และเชื่อว่าเขาจะให้โอกาสเรา ตนขอยืนยันว่าไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือละเว้นหน้าที่


ขณะที่แหล่งข่าวจาก สตง.เปิดเผยว่า หากพิจารณาจากเหตุผลของการปฏิรูปการปกครองในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ส่วนราชการและองค์กรอิสระถูกครอบงำ


และมีพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ส่อไปในทางทุจริตอย่างกว้างขวาง
จึงทำให้ต้องมีการล้มล้างอำนาจรัฐบาลทักษิณ ที่พอจะเห็นได้ชัดเป็นกรณีของการปฏิบัติหน้าที่ของกรมสรรพากรที่ไม่เก็บภาษีคนในครอบครัวชินวัตรในการซื้อ-ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป

ซึ่งเรื่องนี้คงจะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกในทางกฎหมายที่มีอยู่ ตั้งแต่กลไกของ สตง., ป.ป.ช., ปปง. และท้ายสุดไปสู้กันที่ศาลแพ่งหรือศาลภาษีอากร เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ



หาก สตง.สรุปการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรมสรรพากร ชี้มูลความผิดส่อไปในทางละเว้นปฏิบัติหน้าที่


ขั้นตอนคือต้องส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อไป และอีกทางหนึ่งจะต้องส่งเรื่องให้ปลัดกระทรวงการคลังดำเนินการตั้งกรรม การสอบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จากนั้นก็ให้กรมสรรพากรไปดำเนินการเรียกเก็บภาษีหรือดำเนินการตามกระบวนการของศาลยุติธรรมต่อไป

ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ถูกตั้งกรรมการสอบจะต้องย้ายไปตำแหน่งอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องหรือพักราชการ กับอีกแนวทางหนึ่งเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ออกหมายเรียกมาประเมินภาษีก่อนสิ้นเดือนกันยายนนี้ เพราะกำไรจากการขายหุ้นไม่ใช่เงินได้ปกติที่จะต้องนำไปคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เดือนมีนาคมปีหน้า


กังขาขายหุ้นละบาท



แต่ประเด็นที่ทาง สตง.และนักวิชาการยังเคลือบแคลงสงสัยเป็นอย่างมาก เป็นกรณีที่คนในครอบครัวชินวัตรซื้อหุ้นชินคอร์ปมาจากบริษัทแอมเพิลริชในราคา 1 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดถึง 48 บาท ทำให้ผู้ซื้อมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร แต่กรมสรรพากรไปตีความว่าไม่มีเงินได้พึงประเมิน และไม่เข้าข่ายประเภทของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ถึง (7)

ในขณะที่มาตรา 40 (8) ได้เขียนเอาไว้ว่า "เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว"

ในหมวดนี้เปิดโอกาสให้กรมสรรพากรประเมินภาษีจากการขายหุ้นครั้งนี้ได้
แต่ที่ผ่านมากลับไม่ใช้ แต่ไปตีความว่ายังไม่มีเงินได้เกิดขึ้น เพราะยังไม่ได้ขายหุ้น เวลาขายก็เอาไปขายในตลาดหลักทรัพย์ฯซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีตามประกาศกระทรวงการคลัง 126 กรณีนี้ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาว่าทำไมสรรพากรตีความเช่นนั้น


ทั้งนี้ตัวเลขภาษีกว่า 5,000 ล้านบาท เป็นการคำนวณจากกรณี นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร ที่ซื้อหุ้นชินคอร์ปจำนวน 329.2 ล้านหุ้น

จากบริษัท แอมเพิลริช ในราคาหุ้นละ 1 บาท เมื่อ 20 มกราคม 2549 ในขณะที่ราคาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ที่ 49 บาท ทำให้บุคคลทั้ง 2 ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาหุ้น 15,802 ล้านบาท โดยไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งหากคำนวณการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎหมาย (ในอัตราร้อยละ 37) นายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร จะต้องเสียภาษีเป็นเงินประมาณ 5,846 ล้านบาท


สตง.สอบเข้ม เจ้าหน้าที่สรรพากร



ด้านนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้อำนวยการสำนักงานตรวจสอบกิจการพิเศษ สตง. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา นางเบญจา หลุยเจริญ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี กระทรวงการคลัง ได้เดินทางมาชี้แจงข้อมูลการเก็บภาษีจากการซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ป โดยขณะนี้ สตง.ได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมสรรพากรครบทั้ง 5 คนแล้ว ได้แก่ นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร, นางไพฑูรย์ พงษ์เกษร รองอธิบดีกรมสรรพากร, น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ

ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย, นางเบญจา หลุยเจริญ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี และนายกริช วิปุลานุสาสน์ นิติกร 9

ทั้งนี้เหลือแต่ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำหนังสือมาหารือกับกรมสรรพากรเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีซื้อ-ขายหุ้น

ชินคอร์ป กำลังอยู่ในระหว่างการนัดหมายเวลาที่จะมาพบกับเจ้าหน้าที่ สตง. หลังจากนั้นเมื่อ สตง.ได้รับข้อมูลเอกสารจากกรมสรรพากรเพิ่มเติมจนครบจะเร่งสรุปผลการตรวจสอบส่งคณะปฏิรูปการปกครองฯดำเนินการต่อไป

ขณะที่นางเบญจา หลุยเจริญ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี กล่าวภายหลังจากที่ได้มาให้ปากคำกับ สตง.ว่า วันนี้ได้ตอบทุกประเด็นตามที่เจ้าหน้าที่ สตง.สอบถาม โดยเฉพาะในประเด็นของการตอบข้อหารือที่ผู้เสียภาษีสอบถามมา ทางกรมสรรพากรก็ตอบไปเป็นปกติ และมีแนวทางในการปฏิบัติเหมือนกันทุกกรณีที่มีลักษณะหรือสภาพแวดล้อมที่เหมือนกัน ส่วนกรณีของการซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปจะต้องเสียภาษีหรือไม่ ประเด็นนี้ต้องไปถามผู้ที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษี ขอยืนยันว่ากรมสรรพากรตอบตามข้อกฎหมายและเหมือนกันทุกกรณี

DSI พร้อมรับลูกต่อ




นายธาริต เพ็งดิษฐ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมสอบสวนคดีพิเศษไม่ได้ถูกการเมืองแทรกแซง อย่างกรณีหุ้นปิคนิคเราก็ได้ดำเนินคดีจนสิ้นสุด และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องพ้นออกจากตำแหน่ง ส่วนกรณีของซีทีเอ็กซ์มีการพูดกันมากแต่ไม่มีใครร้องทุกข์กล่าวโทษกับดีเอสไอ แต่ไปร้องทุกข์กับสำนักงานอัยการสูงสุด ขณะนี้คงต้องรอ สตง.สรุปเรื่องส่งมา ดีเอสไอก็ยินดีเข้าร่วมดำเนินการ

ส่วนเรื่องการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป เจ้าของเรื่องที่เกี่ยวข้องก็มีกรมสรรพากรกับ ก.ล.ต. แต่ผลการสอบที่ผ่านมาไม่พบว่ามีความผิด แต่ถ้าสอบใหม่แล้วพบว่าผิด ดีเอสไอก็ยินดีเข้าไปรับลูกต่อ ส่วนกรณีของบริษัทกุหลาบแก้วก็เช่นกัน ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ผู้รับผิดชอบยังไม่ได้สรุปว่ามีความผิด เสร็จเมื่อไหร่ก็ส่งมาได้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์