ศาลแพ่งชี้ถ้าจำเป็นก็สลายได้

"ศาลแพ่งเห็นว่า หากจำเลยทั้ง 2 จะสลาย หรือขอคืนพื้นที่ให้ทำได้เท่าที่จำเป็น แต่การจะสลาย ให้คำนึงถึงความเหมาะสม วิธีการให้ทำตามหลักสากล"


 อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ชี้คำสั่งศาลแพ่งไม่เคยห้าม ศอฉ.สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. แต่เพื่อเป็นการป้องกันการเสียชีวิตเหมือนวันที่ 10 เมษายน ให้สลายตามหลักสากล ถ้ารัฐบาลจำเป็นก็ขอคืนพื้นที่จาก นปช.ได้ นายชาติชาย อัครวิบูลย์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง เปิดเผยถึงกรณีที่มีผู้นำคำสั่งศาลแพ่งไปสรุปว่า ศาลแพ่งห้ามรัฐบาล โดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ราชประสงค์ว่า ไม่ทราบว่ามีเจตนาให้ข่าวผิดพลาดโดยเจตนาหรือไม่ ไม่ทราบได้

คดีนี้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. เป็นโจทก์ฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

เป็นจำเลยที่ 1 กรณีที่ประกาศตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เป็น ผอ.ศอฉ.
เป็นจำเลยที่ 2 ต่อมามีการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เมษายน จนมีผู้บาดเจ็บล้มตาย นายจตุพรระบุว่า นปช.ใช้สิทธิเรียกร้องโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่มีการสลายด้วยการใช้กำลังและอาวุธ จึงเกรงว่าจะถูกสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ ด้วยวิธีการรุนแรงเช่นเดียวกัน

 ดังนั้น จึงขอศาลแพ่งมีคำสั่งใน 2 ประเด็น คือ 1.ขอศาลแพ่งมีคำสั่งว่าการสลายการชุมนุมวันที่ 10 เมษายน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ และ 2.ห้ามสลายการชุมนุมที่เวทีราชประสงค์โดยเด็ดขาด

เมื่อนายจตุพรยื่นขอไต่สวนฉุกเฉินเพราะอ้างว่าจะมีการใช้กำลัง ขอให้ศาลแพ่งห้ามสลายการชุมนุมโดยเด็ดขาด หรือถ้าจะสลายให้ใช้ทหารที่ผ่านการฝึกสลายการชุมนุมเป็นผู้สลายตามขั้นตอนตามหลักสากล

ศาลแพ่งมีคำสั่งดังนี้ ส่วนแรก การชุมนุมของกลุ่ม นปช. เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้เขียนในคำสั่งให้ชัดเจน เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลก็จะมาดูว่า มีเหตุที่จะสั่งตามคำขอหรือไม่ เพราะการชุมนุมได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อเสรีภาพของประชาชนคนอื่น ย่อมมีความจำเป็นที่จำเลย ต้องขอคืนพื้นที่ ประเด็นนี้ ศาลแพ่งจึงเห็นว่าไม่มีเหตุผลที่จะห้ามสลายการชุมนุมโดยเด็ดขาด

คำร้องที่ 2 การขอคุ้มครองชั่วคราวโดยขอให้ใช้ทหารที่ผ่านการฝึกเข้าสลายการชุมนุม ควรสั่งตามหรือไม่ ประเด็นมีว่า เรื่องมีเหตุหรือไม่ ศาลแพ่งเห็นว่า เนื่องจากการชุมนุมพื้นที่ราชประสงค์ และเคยเกิดเหตุที่มีการล้มตายเมื่อวันที่ 10 เมษายน เกรงว่าจำเลยทั้งสองอาจจะสลายการชุมนุมก่อให้เกิดการตาย และบาดเจ็บอย่างวันที่ 10 เมษายน

ศาลแพ่งเขียนว่าเหตุเมื่อวันที่ 10 เมษายน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ใครเป็นคนลงมือทำ แต่มีคนเจ็บและคนตาย เมื่อเป็นเช่นนี้

 ศาลจึงให้การคุ้มครองข้อนี้ หมายความว่า ศาลแพ่งเห็นว่า หากจำเลยทั้ง สองจะสลาย หรือขอคืนพื้นที่ให้ทำได้เท่าที่จำเป็น แต่การจะสลายให้คำนึงถึงความเหมาะสม วิธีการให้ทำตามหลักสากล ไม่ได้หมายความว่าสากลที่ใช้วิธีปราบปรามขั้นสูงสุด หรือต่ำสุด แต่หมายถึงหลักกลางๆ ที่ทุกประเทศใช้แบบเดียวกัน

โดยสรุป ถ้า ศอฉ.จะสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ให้คำนึงถึงขั้นตอน หากมีเหตุจำเป็นก็สลายการชุมนุมได้ แต่ต้องคำนึงถึงหลักสากล ไม่ใช่เรื่องห้ามสลายการชุมนุม สลายได้ต้องมีเหตุจำเป็นจริงๆ



เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์