ศาลรับอุทธรณ์9แกนนำพันธมิตรร้องถอนหมายจับ

ศาลรับอุทธรณ์ 9 แกนนำพันธมิตร ร้องถอนหมาย พธม.หยันโหวตนายกฯ แค่โจ๊กการเมือง แฉ "สมชาย" ขอเคลียร์ ยันแถลงจุดยื่น 18 ก.ย. ม็อบใต้เคลื่อนพลเข้ากรุงไล่รัฐบาล ด้าน ผบ.ทบ.เรียกประชุมคณะ กก.รับมือม็อบ ขู่พกอาวุธ-ไม้กอล์ฟจับแน่

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 กันยายน ที่ห้องพิจารณาคดี 714 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้อ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ คดีที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงาน นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายอมร อมรรัตนานนท์ และนายเทิดภูมิ ใจดี แนวร่วมพันธมิตร ผู้ต้องหาที่ 1-9 ที่ศาลอาญาอนุมัติหมายจับในข้อหากบฏ และข้อหาอื่นรวม 5 ข้อหา โดยผู้ต้องหาขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว พร้อมยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งระงับหมายจับไว้ชั่วคราว

 ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า พนักงานสอบสวนร้องขอให้ศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นอนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 9 คน โดยศาลชั้นต้นออกหมายจับให้ตามคำร้อง ต่อมาผู้ถูกออกหมายจับทั้ง 9 คน ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหมายจับ แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่สมควรเพิกถอน จึงให้ยกคำร้อง ผู้ถูกออกหมายจับทั้ง 9 คน จึงยื่นอุทธรณ์ขอเพิกถอนหมายจับต่อศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ควรรับอุทธรณ์ของผู้ถูกออกหมายจับทั้ง 9 คนไว้พิจารณา ผู้ถูกออกหมายจับทั้ง 9 คน จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับคำอุทธรณ์หมายจับผู้ถูกออกหมายจับทั้ง 9 คนไว้พิจารณา

 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายบัญญัติ ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งให้ออกหมายจับ อีกทั้งผู้ถูกออกหมายจับทั้ง 9 คน เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการออกหมายจับดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหมายจับได้ เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นการออกหมายจับโดยชอบและไม่อนุญาตตามคำร้องของผู้ถูกออกหมายจับทั้ง 9 คน ผู้ถูกออกหมายจับทั้ง 9 คน ก็ย่อมใช้สิทธิอุทธรณ์ได้เช่นกัน จึงมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของผู้ถูกออกหมายจับทั้ง 9 คน ไว้ดำเนินการต่อไป

 นายณฐพร โตประยูร ทนายความของผู้ต้องหาทั้ง 9 คน กล่าวภายหลังว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาว่าจะเพิกถอนหมายจับตามคำร้องขอหรือไม่ โดยส่วนตัวเห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับอุทธรณ์แล้ว หมายจับที่ศาลชั้นต้นออกให้นั้น ก็ต้องระงับไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งเรื่องนี้ คาดว่าภายใน 1-2 วัน ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งดังกล่าว หากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ต้องหาทั้ง 9 คน ตนจะใช้สิทธิยื่นฎีกาขอเพิกถอนหมายจับต่อไป ซึ่งในการพิจารณาเพิกถอนหมายจับของศาลอุทธรณ์นั้น ตนได้ชี้ให้เห็นว่าผู้ต้องหาทั้ง 9 คนไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา

  วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 403 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เรื่องคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว คดีหมายเลขดำที่ 5213/2551 สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยนายลอยเลื่อน บุนนาค รองเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง 5 แกนนำพันธมิตร และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตร เป็นจำเลยที่ 1-6 เรื่องละเมิดและขับไล่ออกจากทำเนียบรัฐบาล

 ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำสั่งคุ้มครองของศาลชั้นต้นที่อนุญาตตามคำร้องขอของโจทก์ โดยในวันดังกล่าวมีเพียงฝ่ายโจทก์เท่านั้นที่มาฟังคำพิพากษา ดังนั้นศาลแพ่งจึงนัดให้ฝ่ายจำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวในวันนี้ (17 ก.ย.) แต่จำเลยทั้งหกไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มพันธมิตร มอบอำนาจให้เสมียนทนายความมาศาลแทน ซึ่งศาลสอบถามเสมียนทนายแล้ว แถลงว่า จำเลยรับทราบคำสั่งคดีนี้ตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งให้สำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไว้

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนการพิจารณาเนื้อหาคดีที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรียื่นฟ้อง 5 แกนนำพันธมิตร และนายสุริยะใส เป็นจำเลยที่ 1-6 เรื่องละเมิด และขับไล่ออกจากทำเนียบรัฐบาลนั้น ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล

หยันโหวตนายกฯ โจ๊กการเมือง

 ที่ห้องผู้สื่อข่าวทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น. พล.ต.จำลอง และนายสมศักดิ์ ร่วมกันแถลงข่าว โดยก่อนจะเริ่มแถลงข่าว พล.ต.จำลอง ได้ชี้แจงผู้สื่อข่าวว่า แกนนำได้นำกรณีที่จะปรับรูปแบบการแถลงข่าวให้ผู้สื่อข่าวไปซักถามที่เวทีปราศรัย มีความเห็นว่าจะทำให้ผู้สื่อข่าวรู้สึกกังวลใจ เนื่องจากคำถามบางคำถามอาจสร้างความไม่สบายใจให้แก่ผู้ชุมนุม จึงมีการย้ายสถานที่แถลงข่าวมาที่ห้องผู้สื่อข่าวเช่นเดิม

 พล.ต.จำลองกล่าวถึงกรณีที่สภามีมติให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า เป้าหมายการชุมนุมของเรายังเหมือนเดิมคือ ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเรียกร้องให้รัฐบาลพรรคพลังประชาชนออกไป เนื่องจากหากรัฐบาลชุดนี้ยังอยู่จะยิ่งเสียหายและการเมืองใหม่จะไม่เกิด

 ด้านนายสมศักดิ์กล่าวถึงนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่า รับไม่ได้อย่างแน่นอน มีการแบ่งเค้กกันโกงกินในกระทรวงที่เป็นเกรดเอ เป็นการเลือกโดยคำสั่งของคนจากลอนดอน โดยที่ ส.ส.ทุกคนได้รับคำสั่งล่วงหน้าก่อนที่จะโหวตในสภา การเลือกนายกฯ ครั้งนี้จึงถือเป็นตลกบริโภคและโจ๊กการเมืองเท่านั้น

พธม.ยันแถลงจุดยื่น 18 ก.ย.

 ขณะที่บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรตั้งแต่เวลา 06.00 น. ได้ยุติการปราศรัยประมาณ 2 ชั่วโมง เนื่องจากเจ้าหน้าที่พันธมิตรนำเครื่องปั่นไฟมาติดตั้งเพิ่มเติม บริเวณด้านหลังเวที เนื่องจากนำเครื่องซักผ้าชนิดปั่นอบแห้งขนาดใหญ่มาติดตั้งที่ทำเนียบรัฐบาลหลายเครื่อง เพื่อให้ผู้ชุมนุมได้ใช้ซักผ้ากันอย่างทั่วถึง

 นายอัมรินทร์ ยี่เฮง การ์ดพันธมิตร กล่าวว่า เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นเมื่อเวลา 14.30 น. ที่บริเวณประตูทางเข้าพื้นที่ชุมนุมฝั่งสะพานมัฆวานรังสรรค์ การ์ดได้ตรวจค้นนายณัฐพงษ์ ธเนศไพศาล อายุ 24 ปี พร้อมเพื่อนอีก 1 คน พบพกปืนอัดลมเอ็ม 16 มาด้วย 1 กระบอก เครื่องกระสุนพลาสติกจำนวนหนึ่ง นายณัฐพงษ์อ้างว่าจะนำปืนผ่านม็อบไปยังสวนสัตว์เขาดิน จากนั้นการ์ดพันธมิตรจึงโทรศัพท์ติดต่อนางนันทนีย์ ธเนศไพศาล มารดาของนายณัฐพงษ์ ให้มารับตัวกลับ

 ในช่วงค่ำวันเดียวกัน กิจกรรมบนเวทีปราศรัยของพันธมิตรมีการปราศรัยโจมตีนายสมชาย และพรรคพลังประชาชน รวมทั้ง 5 พรรคร่วมรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เนื้อหาส่วนใหญ่ชี้ว่านายสมชายเป็นตัวแทนในการสืบทอดระบอบทักษิณโดยตรง

 ต่อมา นายสุริยะใสแถลงว่า แกนนำพันธมิตรจะแถลงจุดยืนในวันที่ 18 กันยายน เวลา 21.00 น. โดยจะประเมินกระแสและอารมณ์ของประชาชนในสังคม โฉมหน้าใหม่ของคณะรัฐมนตรีนายสมชาย นโยบายรัฐบาล และการดำเนินการตามข้อเสนอของพันธมิตรทั้ง 5 ข้อ เป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณา

 นายสุริยะใสกล่าวว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา บุคคลใกล้ชิดของนายสมชายได้ขอเจรจากับพันธมิตร เพื่อให้ผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบรัฐบาล แต่พันธมิตรเสนอข้อเรียกร้องไป 5 ข้อว่า เหตุใดพันธมิตรถึงไม่ถอย ยังต้องชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป โดยฝากคำถาม 5 ข้อไปยังนายสมชาย คือ 1.นายสมชาย จะมีแนวทางใดในการจัดการปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของคนในตระกูลชินวัตร กับผลประโยชน์ของชาติ 2.จะมีแนวทางใดในการนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาดำเนินคดีในประเทศ และการยกเลิกหนังสือเดินทางพิเศษทางการทูต (พาสปอร์ตแดง) 3.จะดำเนินการอย่างไรต่อคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ที่ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ และทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดน 4.จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร และ 5.จะมีแนวทางใดในการแก้ภาพลักษณ์การเป็นนอมินี พ.ต.ท.ทักษิณ หรือรัฐบาลหุ่นเชิด

ม็อบใต้เข้ากรุงไล่นายกฯใหม่

 นายสุนทร รักรงค์ ผู้ประสานงานพันธมิตร 14 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่า พันธมิตรมีมติร่วมกันด้วยในการประกาศเดินหน้าขับไล่นายสมชาย วันนี้ (17 ก.ย.) พันธมิตรภาคใต้ประมาณ 1,000 คน ทยอยเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 และทางรถยนต์ เข้าร่วมชุมนุมกับพันธมิตรที่กรุงเทพฯ และในช่วงสุดสัปดาห์จะรวมพลครั้งใหญ่ขับไล่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคพลังประชาชน

นปช.เฮนายกฯใหม่คนพปช.

 วันเดียวกัน ที่หน้ารัฐสภา กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และผู้สนับสนุนพรรคพลังประชาชน ทยอยเดินทางมารวมตัวถือป้ายผ้าให้กำลังใจนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่บริเวณหน้ารัฐสภา ประมาณ 500 คน ตั้งแต่เวลา 08.00 น. โดยในช่วงแรกกลุ่มผู้ชุมนุมแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนครปฐมและ กทม. ซึ่งมีนายณรงค์ศักดิ์ มณี หรือ เป๋ คลองเตย และสมาชิกสภากรุงเทพ (ส.ก.) เขตต่างๆ กับกลุ่มต่อต้านพันธมิตร ของนายวรัญชัย โชคชนะ โดยตำรวจได้นำกำลังพร้อมรั้วเหล็กมาปิดกั้นทางเท้าเป็นแนวยาว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนลงมาปิดถนนอู่ทองใน ขณะที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าได้นำรถบัสและรถตู้กว่า 10 คัน มาจอดรอรับผู้ชุมนุม

 เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมทราบว่า สภามีมติเลือกนายสมชายเป็นนายกฯ คนใหม่ ก็ส่งเสียงโห่ร้องแสดงความยินดี ต่อมาเวลา 11.00 น. นายสมชายได้เดินออกจากอาคารรัฐสภา มาขอบคุณ "เป๋ คลองเตย" และกลุ่มประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจ

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายสมชายเดินกลับเข้าไปภายในอาคารรัฐสภา กลุ่มผู้ชุมนุมก็เริ่มสลายตัว โดยยืนเข้าแถวให้หัวหน้าทีมเช็กรายชื่อ และเป็นที่น่าสังเกตว่า การชุมนุมของกลุ่ม นปช.และผู้สนับสนุนรัฐบาลในครั้งนี้ "เป๋ คลองเตย" มีท่าทางเป็นมิตรกับสื่อมวลชนอย่างมาก และกล่าวขอบคุณการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเป็นระยะๆ

ผบ.ทบ.หารือรับมือม็อบ

 รายงานข่าวจากกองทัพบกแจ้งว่า เมื่อเวลา 15.00 น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้เรียกประชุมคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ หลังจากนายสมชายลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม เช่น นายพงศ์โพยม วาศภูติ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ เสนาธิการทหาร เป็นต้น

 หลังใช้เวลาหารือร่วมกันนาน 1 ชั่วโมง ที่ประชุมมอบให้คณะกรรมการติดตามการชุมนุมในจุดต่างๆ เพื่อป้องกันการปะทะกันเหมือนเหตุการณ์ที่ผ่านมา และหากเกิดมีแนวโน้มจะปะทะกันจะให้ตำรวจเป็นหน่วยหลักในการดูแลความเรียบร้อย และมีทหารเป็นหน่วยเสริม นอกจากนี้ยังมีมติว่า หากกลุ่มผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนไหว หรือเคลื่อนที่ออกจากที่ชุมนุม จะให้ตำรวจหรือทหารตรวจค้นอาวุธ โดยจะไม่ให้พกพามีด ปืน ไม้กอล์ฟ หรืออาวุธต่างๆ ดังนั้น หากผู้ชุมนุมจะเคลื่อนการชุมนุมต้องปราศจากอาวุธ พร้อมทั้งขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้ขึ้นตัววิ่งเรื่องประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการพกพาอาวุธในการชุมนุม หรือเคลื่อนการชุมนุม เพื่อให้ประชาชนรับทราบ

 พล.อ.ทรงกิตติ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า คณะกรรมการให้จับตาการชุมนุมในจังหวัดต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงและการเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ว่าในพื้นที่ใดจะมีความรุนแรง เพราะสถานการณ์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงนี้ ส่วนการสลายม็อบคงไม่ทำ เพราะทุกคนมีสิทธิตามกฎหมายในการชุมนุม แต่ต้องทำอย่างสันติ

 ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้กลุ่มพันธมิตรมีการชุมนุมผิดกฎหมายที่ทำเนียบรัฐบาล คณะกรรมการจะดำเนินการอย่างไร พล.อ.ทรงกิตติกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้ฝ่ายกฎหมายไปติดตาม ใครทำผิดก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่คณะกรรมการมีหน้าที่เพียงติดตามสถานการณ์ และป้องกันความรุนแรงหรือการปะทะกันเท่านั้น ส่วนการที่พันธมิตรจะลุกฮือต่อต้านนายสมชาย เห็นว่ายังไม่ควรด่วนสรุปว่าจะเกิดเหตุรุนแรง แต่ก็ไม่ประมาท และต้องติดตามสถานการณ์ตลอดเวลา


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์