ศาลรธน.ขู่พท.ดึงดันเดินหน้าโหวตรธน.อาจเจอยุบพรรค

หัวหน้าคณะทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ยันศาลฯ มีอำนาจสั่งชะลอโหวตรัฐธรรมนูญ ได้ แหล่งข่าวศาลรธน. ขู่หากคิดจะเดินหน้าต่ออาจเจอโทษถึงยุบพรรคได้

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษพรรคเพื่อไทย ระบุว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณา เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้พิจารณา เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะการรับคำร้องดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องรับคำร้องจากอัยการสูงสุด เท่านั้น ว่า เป็นการตีความของโฆษกพรรคเพื่อไทยเอง แต่ถ้าได้อ่านเอกสารของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2555 จะชัดเจนว่า คณะตุลาการได้ตีความรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไว้ว่า ประชาชนสามารถสามารถใช้สิทธิในเรื่องนี้ผ่าน 2 ช่องทาง คือผ่านทางอัยการสูงสุดและยื่นโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

"คำให้สัมภาษณ์ ของประธาน
ศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้บอกชัดเจนแล้วว่า คณะตุลาการฯ เห็นว่า มีอำนาจที่จะรับไว้พิจารณาเรื่องนี้ ก่อนที่คณะตุลาการจะมีหนังสือไปยังสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ก็ได้มีการพูดคุยกันและพิจารณาแล้วว่า การชะลอการรับร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน  ไม่ได้เกิดความเสียหาย ซึ่งส่วนตัวเองเห็นว่า หากรัฐสภาเดินหน้าประชุมต่อ ก็ต้องรับผิดชอบกับผลที่จะเกิดขึ้นอย่างที่ตุลาการได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้"


ศาลรธน.ขู่พท.ดึงดันเดินหน้าโหวตรธน.อาจเจอยุบพรรค

อย่างไรก็ตาม ยังบอกไม่ได้ว่า ถ้ามีการดำเนินการอย่างนั้นจริงศาลจะมีท่าทีอย่างไร เนื่องจากเหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น แต่คิดว่าตุลาการฯ คงจะต้องมีการหารือกัน

นายพิมล กล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาเรื่องนี้ค่อนข้างเร็วว่า ส่วนตัวมองถึงสภาพแวดล้อมทางการเมือง และสภาพปัญหาที่จะเกิดขึ้นว่า เรารอได้หรือไม่ และได้ชี้แจงไปก่อนแล้วว่า การใช้อำนาจของคณะตุลาการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เป็นการใช้อำนาจในเชิงป้องกันไม่ใช่การแก้ไข ซึ่งการรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่นั้น เป็นดุลยพินิจของคณะตุลาการฯ รวมถึงต้องพิจารณาว่า เป็นไปตามข้อกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการกำหนดว่าเรื่องประเภทใดจะต้องพิจารณาจะรับหรือไม่รับภายในระยะเวลาเท่าใดนับแต่มีการยื่นคำร้องเข้ามา

ทั้งนี้ ปกติเมื่อเรื่องเข้ามายังสำนักงานฯ แล้วก็จะมีการแต่งตั้งตุลาการฯประจำคดี ว่าควรรับหรือไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย
 
หากเห็นว่า สมควรรับ ก็ดำเนินการต่อ ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับก็เสนอให้ที่ประชุมคณะตุลาการฯพิจารณา แต่ในกรณีคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์  ประธาน
ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ใช้อำนาจตามข้อกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และได้ให้ตุลาการทั้งหมดเป็นตุลาการประจำคดี คือทั้งองค์คณะช่วยกันพิจารณา ว่าจะรับหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ท่านเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญ

"การพิจารณาลักษณะเช่นนี้ก็เคยทำในกรณีการพิจารณา พ.ร.ก. ร่างพ.ร.บ.งบประมาณ และกรณีของขอให้ตรวจสอบความถูกต้อง ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่จะมีการประชุม คณะตุลาการฯ ก็จะมีการพูดคุยแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์บ้านเมืองทุกครั้ง"

ผู้สื่อข่าวถามว่า  การรับเรื่องไว้พิจารณาของศาล ทำให้ถูกมองว่า เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ทหารเข้ามาทำรัฐประหารเร็วขึ้นหรือไม่ นายพิมล กล่าวว่า คงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะการที่เราจะดำเนินการอะไรก็ระมัดระวังอยู่แล้ว ศาลมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญก็ไม่อยากให้ทหารเข้ามา

ขู่ ดึงดันเดินหน้าทำให้เสียหาย อาจถึงขั้น
ยุบพรรค

แหล่งข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า สำหรับบทลงโทษกรณี หากประธานสภาไม่ฟังคำสั่งศาล ที่ออกคำสั่งให้ชะลอการพิจารณาการลงมติในการแก้รัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ไปก่อนจนกว่าศาลจะวินิจฉัยแล้วเสร็จ ถึงแม้ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดบทลงโทษไว้ แต่เมื่อศาลมีคำสั่งก็ต้องผูกพันองค์กร ตามรัฐธรรมนูญของมาตรา 68 วรรคสาม ระบุ ว่า ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการ เนื่องจากเห็นว่า เห็นมีบุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการกล่าวแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมือง ที่มีพฤติการณ์ส่อไปในทางล้มล้างได้

แหล่งข่าว ระบุด้วยว่า การที่เขาจะเดินหน้าต่อ บทลงโทษก็คงไม่มี

แต่เมื่อแสดงพฤติการณ์ เจตนาจงใจฝ่าฝืน
ศาลรัฐธรรมนูญคงไปห้ามไม่ได้ แต่อย่าลืมว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจแสดงให้เห็นพฤติการณ์ว่า กำลังจะมีการพฤติการณ์ ส่อไปทางนั้นหรือไม่ ทั้งที่ศาลเองก็ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า การที่พ้น 15 วันไปแล้ว ไม่ลงวาระที่ 3 จะส่งผลเสียหายอะไร

"บ้านเมืองไม่ได้เสียหาย แต่ถ้าดันทุรังทำไปบ้านเมืองเสียหายหรือไม่ อย่ามาตั้งโจทย์ว่าศาลจะไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ" แหล่งข่าวจาก
ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

ศาลรธน.ขู่พท.ดึงดันเดินหน้าโหวตรธน.อาจเจอยุบพรรค


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์