ศาลปค.สูงสุด ปฏิเสธคำร้อง ต้าน เอฟทีเอ

ศาลปกครองสูงสุดยืนตามศาลปกครองกลาง


ไม่รับพิจารณาคำร้องกลุ่มต้าน "เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น" ระงับลงนามชั่วคราว ระบุเป็นอำนาจรัฐบาลดำเนินการได้ ด้านกระทรวง "บัวแก้ว" ชี้ไร้ปัญหาเป็นสนธิสัญญาที่ดีที่สุดเท่าที่ผ่านมา เชื่อจะทำให้บ้านเมืองเกิดประโยชน์สูงสุด ยันรัฐบาลรักษาการสามารถลงนามได้ ด้านกระทรวงแรงงานชี้จับกังได้ประโยชน์เต็มที่ สัดส่วนส่งออกแรงงานได้เพิ่ม


ที่ศาลปกครองสูงสุด เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 30 มี.ค


นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ ผู้ได้รับมอบอำนาจจากมูลนิธิขวัญข้าว มูลนิธิ เข้าถึงเอดส์ มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ภญ.สำลี ใจดี เดินทางเข้ายื่นอุทธรณ์ให้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองกลางและมีคำพิพากษาหรือคำสั่งรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา กรณีคำร้องให้ระงับการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เป็นการชั่วคราว

ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ


เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวยังคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอยู่หลายประเด็น ดังนั้นจึงอยากให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคำร้องของผู้ฟ้องใหม่ เพราะผู้ฟ้องคดีได้โต้แย้งกรณีการกระทำของทางปกครองไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและกลุ่มองค์กรต่าง ๆ และนำผลการจัดทำประชาพิจารณ์เสนอต่อ ครม. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ดังนั้นหากไม่รับไว้พิจารณา


และให้เรื่องการลงนามที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2-4 เม.ย. เป็นผลมาจากการทำประชาพิจารณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากดำเนินการต่อจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง อำนาจอธิปไตยของชาติอย่างร้ายแรงใหญ่หลวง ส่งผลกระทบต่อหลักนิติธรรม ขัดต่อประเพณีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยากแก่การเยียวยาเนื่องจากมีผลผูกพันระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตามผู้ฟ้องเห็นว่า


หากประเทศไทยยังไม่ได้ลงนามครั้งนี้ก็ไม่ได้ทำให้ไทยต้องเสียประโยชน์ เพราะการลงนามขึ้นอยู่กับความพร้อมของฝ่ายไทย ดังนั้นการที่ประเทศไทยยังไม่ได้ลงนาม ในระหว่างวันที่ 2-4 เม.ย. จึงไม่เป็นปัญหาต่อความสามารถในการแข่งขันกับประเทศที่เป็นคู่แข่งการค้า ประกอบกับขณะนี้อำนาจอธิปไตยในด้านนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยในการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารนั้นยังไม่มีรัฐสภา ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง

ผู้ฟ้องคดีจึงขออาศัยอำนาจตุลาการผ่านศาลปกครองสูงสุด


ในการตรวจสอบและระงับการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดี และเห็นว่ากรณีดังกล่าวนี้เป็นกรณีที่สำคัญเร่งด่วน ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ศาลได้มีคำสั่งให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวแก่ผู้ถูกฟ้องคดี

โดยขอให้ศาลได้มีคำสั่งให้มติ ครม. ที่เห็นชอบให้นายกรัฐมนตรี


ผู้แทนการเจรจาและบุคคลที่เกี่ยวข้องการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น ที่จะลงนามในระหว่างวันที่ 2-4 เม.ย. สิ้นผลที่จะต้องปฏิบัติเป็นการชั่วคราว และมีคำสั่งระงับการใช้อำนาจการปกครองการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี ผู้แทนการเจรจา คณะบุคคลต่าง ๆ เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการลงนามไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าการพิจารณาคดีจะเสร็จสิ้น ทั้งนี้เนื่องจากหากมีการลงนามแล้วจะเกิดผลผูกพันและเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นจากการลงนามดังกล่าวก็ไม่อาจเยียวยาแก้ไขได้ภายหลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า


หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาคำร้องดังกล่าวแล้ว เห็นควรให้ยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐบาลสามารถดำเนินการได้


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์