ศาลปค. สูงสุดยกฟ้อง นายกฯ พักร้อน 2 คดีรวด

ศาลปกครองสูงสุด


พิพากษายืนยกฟ้องคดีนายกฯ ลาพักร้อน 2 คดีรวด อ้างเหตุนอกเขตอำนาจศาลปกครอง แต่เป็นอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายให้ถือว่าไม่ใช่ผู้เสียหาย

เมื่อเวลา 10.00 น.


วันนี้(1 ก.ย.) ที่ศาลปกครองกลาง นายประนัย วณิชชานนท์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดกรณีที่นายการุณ ใสงาม รักษาการส.ว.บุรีรัมย์ นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายสกุล สื่อทรงธรรม ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี ในกรณีที่มีมติรับรองการลาพักปฏิบัติราชการของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. และมีหนังสือแจ้งหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงความจำนงที่จะลาออกจากตำแหน่งและมีผลทำให้ครม.ทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย ซึ่งศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบคดี เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่าอำนาจของการพิจารณาว่าการดำรงอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นมีกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 215 และมาตรา 216 นอกจากนี้ยังให้นำมาตรา 96 และมาตรา 97 ที่ให้สมาชิกรัฐสภารวมรายชื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดการสิ้นสุดของตำแหน่งรัฐมนตรีได้ ดังนั้นคดีดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

นายประนัย


อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดว่า ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นพ้องกับเหตุผลของศาลปกครองกลาง และคำอุทธรณ์ที่ระบุว่าหนังสือแจ้งต่อหน่วยงานราชการว่านายกรัฐมนตรีลาพักการปฏิบัติราชการถือเป็นคำสั่งทางปกครองนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือเวียนแจ้งแก่หน่วยงานราชการเท่านั้น ไม่มีสภาพเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 ของพ.ร.บ.ระเบียบวิธีทางปกครอง และคำอุทธรณ์ที่ว่า หากศาลปกครองเห็นว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญก็ขอให้ศาลปกครองส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญ โดยศาลพิเคราะห์แล้วว่า แม้ว่าศาลปกครองจะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจจะส่งเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่กรณีนี้ไม่เป็นความขัดแย้งระหว่างศาลปกครองกับองค์กรใดเลย คำอุทธรณ์จึงฟังไม่ขึ้น ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้ยกฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบ

จากนั้นนายประนัย


ได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในกรณีที่นายนคร ชมพูชาติ และนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความจากสภาทนายความ ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี ในกรณีเดียวกัน แต่มีคำขอให้กระทรวงการคลังยุติการจ่ายเงินในการปฏิบัติราชการของนายกรัฐมนตรีและเรียกเก็บเงินที่จ่ายไปแล้วหลังวันที่ 5 เม.ย. คืนเข้าคลังหลวง ซึ่งคดีดังกล่าวศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง โดยระบุว่า เนื่องจากผู้ฟ้องคดีไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยตรงกับการกระทำดังกล่าว

นายประนัย อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุดว่า


ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วว่า จากอำนาจตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง กำหนดให้ประชาชนที่เสียหายจากคำสั่งทางปกครอง หรืออาจจะเสียหาย มีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้ แต่การเบิกจ่ายเงินเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของนายกรัฐมนตรีและครม.นั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่ได้ส่งผลเสียหาย หรืออาจจะเสียหายแก่ประชาชนคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่ได้มีความเสียหายโดยตรง ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาล ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นพ้องคำศาลปกครองชั้นต้น และมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ

แหล่งที่มา มติชน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์