ศาลฎีกาสรรหากกต.ใหม่

เป็นความชอบธรรมและยุติธรรมอย่างยิ่งต่อคำพิพากษาของศาลอาญาให้จำคุก 4 ปี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี


คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3 คน อันประกอบด้วย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. นายปริญญา นาคฉัตรีย์และนายวีระชัย แนวบุญเนียร ในคดีกระทำผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ที่ร่วมกันจัดการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตรอบใหม่ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2549 รวม 38 เขต จาก 15 จังหวัด


โดยไม่มีอำนาจและออกหนังสือเวียนถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งเขตเลือกตั้งให้รับผู้สมัครในเขตที่ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ 20 อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้สมัครรายเดิมที่เวียนเทียนย้ายมาสมัครในเขตใหม่ และหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ร้อยละ 20 ซึ่งจะเกิดผลดีให้กับพรรคการเมืองบางพรรค


เมื่อบุคคลทั้ง 3 ไม่ได้รับการประกันตัวจากศาลอุทธรณ์และถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

จึงเท่ากับว่าได้พ้นสภาพของการเป็น กกต.ไปแล้วตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คงจะไม่มีอดีต

กกต.คนใดหรือใครที่ไหนออกมาโต้แย้งว่า พล.ต.อ.วาสนา นายปริญญา และนายวีระชัย ยังดำรงสถานภาพของการเป็น กกต.อยู่แล้วสนับสนุนให้ทั้ง 3 หิ้วกระเป๋าขึ้นรถไปปฏิบัติงานที่สำนักงาน กกต. อาคารศรีจุลทรัพย์

ซึ่งอ้างว่าเป็นห่วงงานที่ค้างอยู่จำนวนมาก เพราะอาจจะมีความผิดกระทงใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก ในขณะที่อีกหลายคดีค้างคาอยู่ในโรงในศาลทั้งศาลในกรุงเทพฯและศาลต่างจังหวัด


น่าเสียดายที่อดีต กกต. 3 คน ต้องมาจบชีวิตในการทำงานเช่นนี้ ความจริง ถ้าหากปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง

จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นและระดับชาติ โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งก่อนเมื่อปีที่แล้ว (4 กุมภาพันธ์ 2548) และครั้งที่ผ่านมา (2 เมษายน 2549) ด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม และให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่เอนเอียงไปเข้าข้างกับกลุ่มหรือพรรคการเมือง ความเชื่อถือและความยอมรับของสังคมที่มีต่อ กกต.ก็คงจะไม่ตกต่ำถึงปานนี้


เมื่อมีการทักท้วง คัดค้านจนเกิดปฏิกิริยาความไม่พอใจของพรรคที่ไม่ได้ลงสมัครและสาธารณชนทั่วไปจนเป็นกระแส "ไม่เอา กกต."

พร้อมกับเสียงตะโกน "กกต.ออกไป" ก็ควรจะรับข้อเสนอลาออกไปโดยดี แต่ กกต.ก็อ้างร้อยแปดถึงการอยู่ในตำแหน่งต่อไป แม้จะมีข้อเสนอจากผู้พิพากษาศาลฎีกาให้ลาออกเพื่อเสียสละเพื่อชาติ แต่ก็หาได้รับการตอบสนองจาก กกต.ไม่ ทำให้วิกฤตของบ้านเมืองดำรงอยู่และไม่มีทีท่าจะยุติลงได้อย่างไร


นับจากนี้ การสรรหา กกต.ชุดใหม่จะต้องเริ่มขึ้นโดยที่ประชุมใหญ่ของผู้พิพากษาในศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาคัดสรรให้ได้ 10 คน

เสนอไปยังวุฒิสภาเพื่อคัดไว้ให้ได้ 5 คน กฎเกณฑ์เช่นนี้หมายความว่า ผู้พิพากษาในศาลท่านใดมีความประสงค์จะเป็น


กกต.ชุดใหม่ก็ต้องประกาศตัวเองออกมา รวมถึงบุคคลทั่วไปก็สามารถไปสมัครได้ตามที่ศาลฎีกาจะแจ้งให้ทราบ

ขอเพียงแต่ละคนได้ประเมินตนเองอย่างตรงไปตรงมา ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมกับการมาทำงานให้กับชาติบ้านเมืองในฐานะผู้จัดและผู้ควบคุมการเลือกตั้ง ไม่ใช่ต้องการเข้าไปเพื่อจะแสวงหาผลประโยชน์และช่วยเหลือพวกพ้องในแวดวงนักการเมือง


ด้วยข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาที่มีไม่มาก พระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งได้กำหนดให้วันที่ 15 ตุลาคม 2549 เป็นวันเลือกตั้ง

ส่วนการเปิดรับสมัครในระบบบัญชีรายชื่อคาดว่าจะเป็นวันที่ 5-7 กันยายน และสมัคร ส.ส.เขต วันที่ 8-12 กันยายน การสรรหา กกต.ชุดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับที่ประชุมใหญ่


ผู้พิพากษาศาลฎีกาและวุฒิสภาจึงต้องเร่งรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 40 วัน ถ้าเกินไปจากนี้ ก็อาจส่งผลให้การจัดการเลือกตั้งไม่สามารถกระทำได้ตามพระราชกฤษฎีกา อย่างไรก็ดี

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ จะหา กกต.ชุดใหม่ที่มีความสุจริต เป็นกลาง มีความกล้าหาญ และมีความยุติธรรมได้จากไหน แม้จะหายากก็ต้องพยายามหา โดยเชื่อว่าคนดีที่มีคุณสมบัติยังมีอยู่ นอกจากนี้ วุฒิสภาชุดรักษาการจะต้องไม่ทำความเสียหายให้กับสถาบันวุฒิสภาด้วยการเลือกไปตามโผ ตามโพยของพรรคการเมืองบางพรรค




แหล่งที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์