ศาลฎีกาชงปัญหา เลือกตั้ง-ลากตั้ง ชอบด้วย กม.หรือไม่ เข้าที่ประชุมประมุข 3 ศาล

ศาลฎีกาชงปัญหา เลือกตั้ง-ลากตั้ง ชอบด้วย กม.หรือไม่ เข้าที่ประชุมประมุข 3 ศาล

โดย ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์ 27 เมษายน 2549 18:25 น.

นายวิรัช ชินวินิตกุล เลขานุการศาลฎีกา แถลงผลการประชุมร่วมของ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ทุกภาค เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และผู้บริหารศาลชั้นต้น ทั่วประเทศ

วงประชุมผู้พิพากษาศาลฎีกา และผู้บริหารศาลยุติธรรม ยุติแล้ว โดยถกนานร่วม 3 ชั่วโมง ได้ข้อสรุป 2 ประเด็นปัญหา คือ 1.การเลือกตั้งวันที่ 2 เม.ย.และการเลือกตั้งแซม ที่เกิดขึ้นในภายหลัง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และ 2.อำนาจการวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว อยู่ในเขตอำนาจของศาลใด โดยให้ ประธานศาลฎีกา หารือร่วม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ พรุ่งนี้

วันนี้ (27 เม.ย.) เวลา 17.30 น.ที่ ศาลฎีกา สนามหลวง นายวิรัช ชินวินิตกุล เลขานุการศาลฎีกา แถลงผลการประชุมร่วมของ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ทุกภาค เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และผู้บริหารศาลชั้นต้นทั่วประเทศ เพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองของประเทศ ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประทานแก่ผู้พิพากษา เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า ก่อนการประชุมประธานศาลฎีกาได้ขอให้ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั่วประเทศ น้อมรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และปฏิบัติหน้าที่ให้สมกับที่พระองค์ท่าน ไว้วางพระราชหฤทัยในสถาบันศาลยุติธรรม จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาทุกท่านอภิปราย และเสนอความคิดเห็นรวมทั้งแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านเมืองกันอย่างกว้างขวาง โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปประเด็นสำคัญไว้ 2 เรื่อง คือ

การเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 และการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา ภายหลัง รวมทั้งการเลือกตั้งแซมที่จะเกิดขึ้นนั้น ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ และอำนาจของศาลยุติธรรมที่จะมีส่วนวินิจฉัยปัญหาต่างๆ มีมากน้อยเพียงใด ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ และจะนำไปเสนอให้ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาร่วมกันในวันที่ 28 เมษายนนี้ อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาจะร่วมกับศาลปกครองสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ เพื่อจะแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น โดยมีผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั่วประเทศร่วมให้ความคิดเห็น

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมตั้งธงพิจารณาให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน และการจัดการเลือกตั้งซ่อมเป็นโมฆะด้วยหรือไม่ เลขานุการศาลฎีกา ตอบว่า อำนาจของศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการเลือกตั้งคงไม่ได้พิจารณากันในส่วนนี้ ยังไม่ได้ชี้ชัด ว่า มีอำนาจเพียงใด ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมร่วม 3 ศาล ในวันพรุ่งนี้ รวมทั้งการหารือถึงผลกระทบที่ตามมาหากให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ หรือแนวทางที่หากให้มีการจัดการเลือกตั้งต่อไปจะต้องดำเนินการอย่างไร และใครจะเป็นผู้ชี้ขาด เช่นเดียวกับประเด็นที่จะต้องหารือเรื่อง ส.ส.ไม่ครบ 500 เสียง แล้วจะเปิดการประชุมสภาได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามศาลยุติธรรมถือได้ว่ามีความพร้อมที่จะร่วมจัดการคดีเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ศาลฎีกาได้มีคำตอบเรื่องเขตอำนาจศาลในการจัดการเลือกตั้งแล้วใช่หรือไม่ เลขานุการได้ปฏิเสธ โดยยืนยันว่า ที่ประชุมวันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องเขตอำนาจศาล แต่อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการตามกรอบกฎหมายต่างๆ จะมีศาลแต่ละแห่งเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวถามว่าประเด็นการพิจารณาความชอบของกฎหมายในการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.ศาลจะต้องย้อนพิจารณาถึงการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 หรือไม่ เลขานุการ กล่าวว่า การพิจารณาจะไม่พิจารณาไปถึงขั้นนั้น เพราะเป็นเรื่องไกลไป แต่จะพิจารณาการออกกฎหมายในส่วนของการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.และการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมา ต่อข้อถามที่ว่า ในการประชุมร่วมกันของ 3 ศาล จะได้ผลสรุปที่ชัดเจนในการยุติปัญหาหรือไม่ นายวิรัช กล่าวว่า เชื่อว่า ความร่วมมือร่วมใจของประธานศาลทั้ง 3 ศาล จะได้ข้อสรุปที่ดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตัวแทนศาลยุติธรรมที่จะเข้าร่วมการประชุมในวันที่ 28 เม.ย.นี้ จำนวน 12 คน ประกอบด้วย นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นายชัช ชลวร เลขาธิการสำนักงานศษลยุติธรรม นายบวร กุลทนันทน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา นายจรัญ ภักดีธนากุล เลขาธิการประธานศาลฎีกา นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกา นายจิรนิติ หะวานนท์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา นายสมจิตร์ ทองศรี ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา นายอธิคม อินทุภูติ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ นายไพโรจน์ นวานุช ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ช่วยทำงานประจำสำนักงานประธานศาลฎีกา นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา นายจีรพัฒน์ พันธุ์ทวี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา และนายสุทธิพล ทวีชัยการ รองเลขานุการศาลฎีกา

สำหรับศาลปกครองสูงสุด จะมี นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด และ นายสนธยา พงษ์สุริยะวรรณ เจ้าหน้าที่ศาลปกครอง ส่วนตัวแทนฝ่ายศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีจำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติหน้าที่ ประธานที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายอุระ หวังอ้อมกลาง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายนพดล เฮงเจริญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

ด้าน นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา กล่าวภายหลังการประชุม ว่า วันนี้ เป็นการประชุมหาแนวทางการทำงานของศาลยุติธรรม เพื่อสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรอบที่จะนำไปหารือร่วมกันกับประธานศาลปกครอง และประธานศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ ส่วนรายละเอียด ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมายืนยันว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ความเห็นดังกล่าว ถือเป็นความคิดของ กกต.แต่สำหรับในส่วนของศาล เรามีธงที่ชัดเจนอยู่แล้ว คือ จะทำอย่างไรที่จะต้องหาทางออกของปัญหาให้ดีที่สุด

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์