ศอฉ.ยังไม่ได้ข้อสรุปเลิกเคอร์ฟิวกทม.

คมชัดลึก : "ศอฉ.” ยังไม่ได้ข้อสรุปเลิก “เคอร์ฟิว” แต่อีสาน-เหนือ มีแนวโน้มเลิกชัวร์ หลังแม่ทัพภาคที่ 2-3 รายงานควบคุมสถานการณ์ได้ เตรียมออก "ซีดี-ดีวีดี” แจงเหตุ 19 พ.ค.ให้ประชาชนได้รับทราบ มอบปลัดกลาโหมจัดทำแผนสร้างความปรองดอง

ที่กองทัพบก พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. แถลงข่าวภายหลังการประชุม โดยที่ประชุมมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผอ.ศอฉ. เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือใน 4 ประเด็น คือ 1.เรื่องของการประกาศห้ามออกนอกเคหะสถานในยามวิกาล หรือ เคอร์ฟิว โดยจะครบกำหนดในคืนวันศุกร์ที่ 28 พ.ค.นี้ ซึ่งการประชุมในวันนี้ก็ยังไม่ได้ผลสรุปที่ชัดเจน แต่ได้แนวทางคือในพื้นที่ตามต่างจังหวัด พล.ท.วีร์วลิต จรสัมฤทธิ์ แม่ทัพภาคที่ 2 และ พล.ท. ทนงศักดิ์ อภิรักษ์โยธิน แม่ทัพภาคที่ 3 ได้ตรวจสอบข้อมูลกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดแล้ว เห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้นโดยลำดับ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ประกาศ
เคอร์ฟิว


 พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า
 
สำหรับในพื้นที่ กทม. ก็เป็นความเห็นจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะกองทัพเห็นตรงกันว่า ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นโดยลำดับ ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องประกาศใช้เคอร์ฟิว แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติในเรื่องการดูแลความปลอดภัยในภาพรวมทางกองทัพก็พยายามที่จะส่งมอบพื้นที่ส่วนใหญ่ให้กับตำรวจไปดูแลความปลอดภัย แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ของกองทัพส่วนหนึ่งที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยดูแลสถานการณ์ร่วมกับตำรวจด้วย ทั้งนี้ ผอ.ศอฉ. ได้มอบหมายให้ พล.ต.อ. ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนตำแหน่ง ผบ.ตร.ไปตรวจสอบความพร้อมของตำรวจอีกครั้ง ว่ามีความพร้อมแค่ไหนในการเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัย หากมีการประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว ก่อนที่จะมาแจ้งรายละเอียดให้กับนายสุเทพ ให้ได้รับทราบในวันพรุ่งนี้ (28 พ.ค.) เพื่อนำเรียนกับทางรัฐบาลต่อไป


 “พื้นที่ต่างจังหวัดทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าไม่มีความจำเป็นที่จะมีการบังคับใช้เคอร์ฟิวในพื้นที่ เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ภาพรวมดีขึ้น ทั้งนี้หากสถานการณ์เกิดอะไรขึ้นขึ้น ศอฉ. ก็สามารถประกาศเคอร์ฟิวได้ทันที อย่างไรก็ตาม การประกาศเคอร์ฟิวจะต้องพิจารณาร่วมกันของ ศอฉ. และ รัฐบาล ส่วนประเด็นที่ 2. คือ การประชุม ศอฉ. จะงดประชุมในวันศุกร์ และ วันเสาร์ เนื่องจากเป็นวันสำคัญทางศาสนา แต่หากมีสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลง หรือพยายามก่อเหตุวุ่นวายก็จะนัดหมายประชุมได้ แต่ในวันอาทิตย์ ก็จะประชุมตามกำหนดเดิม คือเวลา 16.00 น.ตามปกติ ประเด็นที่ 3. ได้มอบหมายหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติของฝ่ายต่าง ๆ ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวก็เพื่อชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจ ทั้งในเรื่องของเอกสาร หรือ วีซีดี หรือ ดีวีดี จะต้องควบคุมกันไป ส่วนภาพกว้างที่มอบหมายจากรัฐบาลก็จะรวบรวมจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ส่วนการปฏิบัติทางยุทธวิธี ทางทหาร หรือ กำลัง จะเป็นความรับผิดชอบของส่วนยุทธการ ศอฉ. ก็จะนำข้อมูล 2 ส่วนมารวมกันเพื่อชี้แจงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่การชุมนุมจนถึงปัจจุบัน” พ.อ.สรรเสริญ ระบุ


 พ.อ.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า
 
ส่วนประเด็นสุดท้าย มีการพูดถึงการเสริมสร้างบรรยากาศของการรู้รักสามัคคีที่จะให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ ไม่ว่าแต่ละคนจะมีแนวความคิดทางการเมืองอย่างไร แต่ในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยกัน ซึ่งคนไทยมีความรู้สึกเอื้ออาทรต่อกัน ก็จะดำเนินการให้เป็นผลรูปธรรม โดยจะกำหนดแผนการปฏิบัติงานในเรื่องของการสร้างความปรองดอง เพื่อรอรับแผนของทางรัฐบาลให้เกิดความต่อเนื่อง ทั้งนี้ที่ประชุมมอบหมายให้ พล.อ.อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม รับไปดำเนินการจัดทำแผนอย่างเป็นรูปแบบ และกลับมาเรียนให้ที่ประชุมได้รับทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้ทหารจะส่งมอบพื้นที่ให้ตำรวจในการดูแลความสงบเรียบร้อย แต่ยังคงกำลังบางส่วนที่จำเป็น เพื่อช่วยเหลือตำรวจ แต่สถานการณ์ข้างหน้าต้องฟังความคิดเห็นจากตำรวจเป็นหลักว่าแผนงานที่มีอยู่รองรับต่อการดูแลความสงบเรียบร้อยได้หรือไม่ จำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิวต่อหรือไม่ ส่วนเรื่องการเดินเกมใต้ดินนั้น มีการติดตามสถานการณ์ทุกวัน แต่ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น


 “ที่ประชุมศอฉ. ไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าสิ่งที่กดดัน และกระทบต่อประชาชน คือ การประกาศเคอร์ฟิว ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประชาชนทั่วไปแทบไม่ได้รับผลกระทบ เป็นการประกาศกฎหมาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีการป้องกันระงับยับยั้งเหตุร้าย ดังนั้น ต้องแยกจากกัน ขณะนี้ยังมีความจำเป็นที่จะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ยังไม่กำหนดระยะเวลาแน่นอน ทั้งนี้ ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น หากยกเลิกหมดทุกอย่างสถานการณ์กลับมีความรุนแรงขึ้นมาจะเป็นผลร้าย แต่หากยังมีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ สังคมส่วนใหญ่ก็จะไม่มีความรู้สึกกังวล ส่วนต่างประเทศมีความเข้าใจสถานการณ์ในเมืองไทยมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งท่านชื่นชมรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ไทยว่ามีความตั้งใจจริงที่จะระยับยั้งไม่ให้มีการสูญเสียเกินกว่าคนทั่วไปจะยอมรับ ” พ.อ.สรรเสริญ กล่าว


 เมื่อถามว่านายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศอดอาหาร เพราะไม่พอใจมาตรการรัฐที่กระทำต่อนักวิชาการ พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า

ที่ผ่านมานักวิชาการท่านอื่นที่วิจารณ์เราก็ไม่ได้มีการควบคุมตัว แต่ท่านนี้เป็นบุคคลที่มีหมายจับ และท่านมามอบตัวเอง การที่ท่านไม่ทานอาหารก็คงไม่หิว แต่ก็เป็นสิทธิของท่าน อย่างไรก็ตาม เราควบคุมตัวตามอำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ต้องควบคุมตัวในสถานที่ไม่ใช่ทัณฑสถาน เรือนจำ แต่ให้ควบคุมในสถานที่ที่เป็นศูนย์ฝึกได้ ทั้งนี้ เราทำตามกรอบกฎหมาย แต่หากท่านไม่ทานอาหารจริง ท่านกินเจเล่ก็คงจะอิ่มอยู่แล้ว


 เมื่อถามว่า วันนี้ ศอฉ.ให้ความสำคัญกับการเยียวยาผู้ประกอบการ แต่ไม่ให้ความสำคัญกับผู้เสียชีวิต พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ให้ความสำคัญเหมือนกันหมด แต่คนที่ตายแล้วก็มีการช่วยเหลือไป แต่คนที่มีชีวิตอยู่ก็ต้องดำเนินต่อไป โดยมีการเยียวยาตามมาตรการของรัฐบาล เราไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะผู้ประกอบการเท่านั้น


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์