วันมะม่วงหล่น-วันแตกหัก-วันเผชิญหน้าหลังมหาสงกรานต์สถานการณ์สอ.‘เดือด’

วันมะม่วงหล่น-วันแตกหัก-วันเผชิญหน้าหลังมหาสงกรานต์สถานการณ์สอ.‘เดือด’

การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในขณะนั้น ให้เหตุผลไว้ 4 ข้อประกอบด้วย 1. รัฐบาลมีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร 2. รัฐบาลพยายามผูกขาดอำนาจและแทรกแซงองค์กรอิสระต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ


ดูสถานการณ์การเมืองที่ดำเนินอยู่ในตอนนี้ นับวัน “เงื่อนไข” กำลังจะใกล้เคียงกับการเกิดรัฐประหารเมืองวันที่ 19 ก.ย. 2549 เข้าไปทุกที

การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในขณะนั้น ให้เหตุผลไว้ 4 ข้อประกอบด้วย 1. รัฐบาลมีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร 2. รัฐบาลพยายามผูกขาดอำนาจและแทรกแซงองค์กรอิสระต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ 3. รัฐบาลสร้างความแตกแยกในชาติจนมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่วิกฤติกลียุคนองเลือด และ 4. รัฐบาลปล่อยให้มีการจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไม่เคยมีมาก่อน

หากดู “เงื่อนไข” ในวันนั้นแล้วนำมาพิจารณาในวันนี้จะพบว่า มีความรุนแรงมากกว่าที่ผ่านมาซะอีก

กรณีแตกแยกจนนำไปสู่การนองเลือด หากตั้งต้นเฉพาะการชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ลุก ลามเกิดการปะทะกันตั้งแต่ที่ถนนรามคำแหง เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2556 ที่ผ่านมา จนมาถึงวันที่ 10 เม.ย. 2557

ข้อมูลจากศูนย์เอราวัณ ระบุว่ามีผู้บาดเจ็บ 738 ราย เสียชีวิต  21 ราย

ขณะที่ในต่างจังหวัดมีผู้บาดเจ็บ 44 ราย เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก โดยที่เหตุการณ์ส่วนใหญ่ตำรวจไม่สามารถหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีได้ ไม่เท่านั้นเหตุการณ์ “ระเบิด” รายวันยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปรากฏการณ์นี้ถ้าไม่เรียกว่า “คนไทยฆ่ากัน” แล้วให้เรียกว่าอะไร

ขณะที่การพยายามแทรกแซงองค์กรอิสระ แม้จะไม่ชัดเจนเหมือนที่ผ่านมา แต่ก็มีความพยายามแก้ไข “กติกา” โดยเฉพาะ “ที่มาของ ส.ว.” โดยอ้างว่าเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยแต่แท้ที่จริงแล้วหวังที่จะเข้าไป “ครอบงำ” องค์กรอิสระทางการเมืองทั้งหลายซึ่งวุฒิสภามีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ แต่ที่สุดก็ “แท้งไป” และกลายเป็นปัญหามา “ทิ่มแทง” พรรคเพื่อไทยอยู่ในทุกวันนี้

เมื่อไม่สามารถแทรกแซงได้ พรรคเพื่อไทยก็เปลี่ยนวิธีการใหม่ด้วยการ “ไม่ยอมรับ” อำนาจขององค์กรอิสระทั้งหลายซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท การให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ และกำลังไปถึง 2 สำคัญคือ คุณสมบัติของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กระทำการ “ต้องห้าม” ตามรัฐธรรมนูญและคดีที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวที่ ป.ป.ช. กำลังสอบสวน

กรณีถวิลที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นปัญหา “ระยะสั้น” ขณะที่กรณีโครงการรับจำนำข้าวเป็นปัญหา “ระยะยาว” เพราะจะเกิดภาพการทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้นกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยทันที

โครงการนี้ใช้เงินของคนทั้งชาติไปราว ๆ 8 แสนล้านบาทโดยที่มีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างมหาศาล ว่ากันว่าตรงนี้จะเป็น “ใบเสร็จ” ที่ชัดกว่าหลาย ๆ โครงการที่ถูกกล่าวหาแต่ไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาอะไรได้

ส่วนเหตุผลสุดท้าย การจาบจ้วงสถาบัน ซึ่งชัดเจนว่า “หนักข้อ” ยิ่งกว่าที่ผ่านมามาก โดยที่นอกจากจะไม่สามารถจัด การกับปัญหาได้ หลายกรณีผู้ที่ถูกกล่าวหาและเข้าข่ายทำผิดกลายเป็นกลุ่มการเมืองที่คอยสนับสนุนพรรคเพื่อไทยอีกด้วย

2 กรณีล่าสุดคือ กรณีของ “ตั้ง อาชีวะ” กับกรณี “โกตี๋” ที่ล้วนมีสัมพันธ์กับแกนนำ นปช. และพรรคเพื่อไทย

ด้วยเงื่อนไขตรงนี้กระมังที่รัฐบาลจำเป็นต้องออกหน้าสั่งตำรวจให้ดำเนินการจับกุมเพื่อตัดไฟ ก่อนที่จะลามจนทำให้เกิดปัญหาและสร้างความไม่พอใจให้กับกองทัพโดยเฉพาะกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ซึ่งมีหน้าที่หลักคือ “ปกป้องสถาบัน”

แม้ “เงื่อนไข” ทั้งหมดจะย้อนกลับมา แต่ก็เชื่อว่า สถาน การณ์ในวันนี้ “ไม่มีทาง” ที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นมา เพราะที่สุดแล้วเป็นได้แค่การแก้ไขระยะสั้น แต่ทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวอย่างที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้

“จุดปะทะใหญ่” ของความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้อยู่ที่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย “สถานะ” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์และรัฐบาลรักษาการ เมื่อวันนั้นมาถึงก็จะเกิดการเผชิญหน้าของ “มวลชน”

โดยที่ฝ่ายหนึ่งยืนยันจะให้มีการ “ปฏิรูปการเมือง” ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ขณะที่อีกฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหากแปลความหมายก็คือ การเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาด้วยการจัดการเลือกตั้ง “รอบใหม่”

ฝ่าย กปปส. วันนี้ “เดินเท้า” สร้างความชอบธรรมด้วยการไปพบข้าราชการซึ่งส่วนใหญ่กำลังจะไม่เอาด้วยกับรัฐบาลรักษาการ ขณะที่ฝ่าย นปช. ซึ่งก็คือเครื่องมือหนึ่งของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ “เดินหน้า” สร้างกระแสต่อต้านเพื่อกดดันองค์กรอิสระและไม่เอานายกรัฐมนตรี “คนนอก”

ใช่แต่สถานการณ์ “มวลชน” เท่านั้น ความพยายามประวิงเวลาเพื่อไม่ให้มีการเปิดประชุมวุฒิสภาเพื่อเริ่มกระบวนการ “ถอดถอน” ซึ่งตอนนี้ชัดเจนในกรณีของ นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทน ราษฎร และอาจจะรวมไปถึงตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ และบรรดา ส.ส. และ ส.ว. จำนวน 308 คนด้วย

ว่ากันว่าการโต้แย้งในการเปิดประชุมวุฒิสภาครั้งนี้ยังมีปมเรื่องการให้ความเห็นชอบ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งได้รับการสรรหาให้เป็น ป.ป.ช.คนใหม่ด้วย

ในกรณีของ น.ส.สุภา นี้จะเป็น “กุญแจสำคัญ” ในโครง การอภิมหาประชานิยมอย่างโครงการรับจำนำข้าวเลยทีเดียว

ใช่แต่ความขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้นที่กำลังจะปะทุ ปัญหาทางเศรษฐกิจก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เร่งให้สถานการณ์เดินไปถึงจุดจบ ดูได้จากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีการ “ติดลบ” ซึ่งทั้งหมดก็มาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น “ข้ามปี”

แต่ในท่ามกลางกระแสความขัดแย้งก็เริ่มจะมีกระแส “คนกลาง” เพื่อมาคลี่คลายปัญหา ซึ่งทุกฝ่ายก็น่าจะมองไปที่บทบาทของกองทัพ ที่วันนี้ “อดทนอดกลั้น” เป็นอย่างยิ่ง

กองทัพซึ่งวันนี้กำลังเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่เริ่มจะเดิน “คู่ขนาน” ไปกับรัฐบาลรักษาการเข้าไปทุกที

หลังเทศกาล ’มหาสงกรานต์“ ได้เห็นการเมือง ’เดือด“ แน่.



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์