ลุ้น!ศาล รธน.ชี้ขาดคดียุบ3พรรค2 ประเด็นหลัง 2 ธ.ค.-ทนายช็อค โวยรวบรัด นัดชุมนุมใหญ่เสื้อแดงต้าน


เผยศาล รธน.ชี้ขาดข้อกฎหมาย 2 ประเด็นยุบ "มัชฌิมาธิปไตย -ชาติไทย -พลังประชาชน"-เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหาร ลุ้นหลังแถลงปิดคดี 2 ธันวาคม อาจตัดสินทันที ทนายช็อค! ถูกสั่งงดไต่สวนพยาน โวยรวบรัด ส.ส.พปช.เตรียมปลุก"เสือแดง"ต้าน อ้างถูกประหารชีวิต

แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผย "มติชนออนไลน์" เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งงดไต่สวนคดีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องให้มีคำสั่งยุบพรรคพรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชนและให้ทั้ง 3 พรรคการเมืองส่งหัวหน้าพรรคหรือผู้แทนแถลงปิดคดีด้วยวาจาในเวลา 9.30 น. วันที่ 2 ธันวาคมว่า เหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งงดไต่สวนพยานเพิ่มเติม นอกจากเอกสารหลักฐานที่ทั้ง 3 พรรคยื่นต่อศาลมีข้อเท็จจริงเพียงพอแล้ว น่าจะมาจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ในการพิจารณาคดีดังกล่าวศาลจะพิจารณาในข้อกฎหมายสำคัญ 2 ประการคือ
 
1.ข้อเท็จจริงในกรณีที่ผู้สมัครและกรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือได้รับใบแดงยุติแล้วหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญสามารถกลับข้อเท็จจริงหรือมีความเห็นแตกต่างจากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และคณะกรรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้หรือไม่

ในกรณีของพรรคพลังประชาชนซึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชนและอดีต รองหัวหน้าพรรคนั้น คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นตรงกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถมีความเห็นแตกต่างจากศาลฎีกาฯได้เพราะจะทำให้ระบบศาลมีปัญหาที่ตัดสินแตกต่างกัน จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อีก สามารถพิจารณาข้อกฎหมายได้เลยว่า จะต้องมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชนรวมถึงเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดหรือไม่

สำหรับกรณีของพรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทยนั้น มีข้อถกเถียงว่า เมื่อ กกต.วินิจฉัยให้ใบแดงกรรมการบริหารพรรคก่อนการประกาศผลเลือกตั้งไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นแตกต่างจาก กกต.ได้หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 239 ระบุว่า "ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กรณีการให้ใบแดงก่อนการประกาศผล)เป็นที่สุด"

"มีการถกเถียงกันว่า ถ้ามีการกลับข้อเท็จจริงของ กกต.จะมีผลกระทบต่อ กกต.เป็นอย่างมาก  คงมีการฟ้องร้องกันอุตลุด และยังมีคำถามว่า  ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งแทนไปแล้ว จะทำอย่างไร และต่อไป กกต.คงไม่กล้าวินิจฉัยให้ใบแดงก่อดนประกาศผลอีกเพราะอาจถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินในทางตรงกันข้าม"แหล่งข่าวกล่าว

ถ้าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่า คำวินิจฉัยของ กกต.ในเรื่องนี้เป็นที่สุดก้ไม่จำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้อีก

2..เมื่อข้อเท็จจริงในเรื่องการให้ใบแดงกรรมการบริหารทั้งสามพรรคยุติแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 , พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550 มาตรา 103 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 98 ที่กำหนดว่า  เมื่อกรรมการบริหารพรรคของทั้งสามพรรคถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือได้รับใบแดง ให้ถือว่า พรรคการเมืองนั้น กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องมีตำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น  รวมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการพรรคทั้งหมดเป็นเวลา 5 ปี หรือไม่  หรือเพิกถอนเฉพาะกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้อง

เวลา 10.00 น. วันเดียวกัน นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั่งบัลลังก์นัดตรวจพยาน 3 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชน กรณีอัยการสูงสุดในฐานะผู้ร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งยุบทั้ง 3 พรรค ในฐานะผู้ถูกร้อง หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงมติเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง (ใบแดง) นายสุนทร วิลาวัลย์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ปราจีนบุรี นายมณเฑียร สงฆ์ประชา นางนัยนา สงฆ์ประชา อดีตผู้สมัคร ส.ส.ชัยนาท พรรคชาติไทย และศาลฎีกามีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชนตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิล้วนเป็นกรรมการบริหารพรรค ส่งผลให้ กกต.มีมติส่งเรื่องเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 237

เวลา 11.30 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านรายงานภายหลังให้ทั้ง 3 พรรคการเมืองและอัยการสูงสุดตรวจพยานเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจากเอกสารหลักฐานที่ทั้ง 3 พรรคได้ยื่นมาแล้ว ซึ่งมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงไม่จำเป็นต้องเรียกเอกสารจากคู่กรณีอีก จึงของดการไต่สวน และให้ทั้ง 3 พรรคการเมืองส่งหัวหน้าพรรคและผู้แทนมาแถลงปิดคดีด้วยวาจา ในวันที่ 2 ธันวาคม เวลา 09.30 น. หากไม่มาตามนัดก็จะถือว่าไม่ติดใจ ทั้งนี้ ในส่วนที่ขอให้ศาลพิจารณาให้กรรมการบริหารพรรคเป็นคู่กรณีฝ่ายที่ 3 นั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าให้รวมเป็นคำชี้แจงไว้ในสำนวนคำร้อง

ด้านนายฉัตรชัย ชูแก้ว ทนายผู้รับมอบอำนาจจากพรรคมัชฌิมาฯกล่าวภายหลังว่า คิดว่าเป็นกระบวนการพิจารณาที่รวดเร็วและรู้สึกช็อคมาก ซึ่งเห็นว่า เป็นการรวบรัดเกินไป โดยที่พรรคมัชฌิมาฯยังไม่ได้มีโอกาสที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่มีอยู่ ทั้งนี้ ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ทางพรรคจะให้นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมาแถลงปิดคดีด้วยตัวเอง ส่วนกรณีการเพิกถอนสิทธิของกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องหรือไม่นั้น ให้เป็นดุลพินิจของทางคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ อย่าชะล่าใจเพราะกรณีคดีรายการชิมไปบ่นไปของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยทันทีในวันรุ่งขึ้นที่ไต่สวนนัดสุดท้าย

ขณะที่นายธนา เบญจาธิกุล ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า รู้สึกว่า กระบวนการพิจารณาค่อนข้างรวบรัด ทั้งที่ยังไม่ได้มีการไต่สวน หรือเปิดโอกาสให้กรรมการบริหารพรรคที่ไม่เกี่ยวข้องได้ใช้สิทธิในการชี้แจง โดยในกระบวนการพิจารณาเช่นนี้ศาลกลับยึดข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาใช้แทนที่จะยึดตามรัฐธรรมนูญที่ใหญ่กว่าข้อกำหนดของศาล แต่ก็ถือว่า ทำได้  ส่วนการแถลงปิดคดีด้วยวาจาจะให้ใครมาแถลงนั้น คงต้องหารือกับคณะกฎหมายอีกครั้งก่อนว่า จะแถลงปิดคดีอย่างไร

"เมื่อเป็นเช่นนี้ทางพรรคก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ก็ต้องมานั่งรอลุ้นชีวิตกันในอนาคตว่า พิจารณาอย่างไร กรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิทั้งหมดหรือไม่ ก็เป็นดุลพินิจของศาล ซึ่งทางผู้ร้องก็ยืนยันต่อศาลแล้วว่าไม่ปรากฏหลักฐานว่ากรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำของนายยงยุทธ อดีตรองหัวหน้าพรรค และนายยงยุทธก็ยังไม่ได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในวันที่กระทำผิดด้วย จึงไม่น่าเข้าข่ายมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ" นายธนากล่าว

นายยืนหยัด ใจสมุทร คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายได้หารือกันและมีมติว่า จะเสนอความเห็นไปยังนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคว่า ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปแถลงปิดคดี เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เรียกสอบพยานเพิ่มเติมอะไรแล้ว  ข้อเสนอเป็นเพียงแนวคิดของฝ่ายกฎหมายเท่านั้น การตัดสินใจว่า จะแถลงปิดคดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับรักษาการหัวหน้าพรรค หากพิจารณาตามหลักการแล้วกรณีนี้ถือเป็นการประหารชีวิตพรรคการเมือง ศาลควรจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายจำเลยพิสูจน์พยานทุกปากอย่างเต็มที่

"เรามีพยานกว่า 140 ปากที่จะเสนอต่อศาล และทีมทนายพร้อมชี้แจงประเด็นสำคัญ ซึ่งท่านก็รวบรัดมาตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะแม้แต่การจัดทำบัญชีพยานก็ให้เวลาพรรคพลังประชาชนทำเพียง 1 วันเท่านั้นทั้งที่ตามความเป็นจริงมีเวลาถึง 15 วัน และพอเราส่งบัญชีพยานไปศาลก็ไม่ไต่สวนอีก"นายยืนหยัดกล่าว

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ถ้ามีการยุบพรรคพลังประชาชนและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคอีก คราวนี้เจอดีแน่ แต่พวกตนก็ยังคิดในแง่ดีเพราะเมื่อครั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดกำหนดประเด็นและกรอบวิธีการพิจารณาคดีในวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ซักถามอัยการซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ว่า มีพยานหลักฐานที่พบเห็นว่า กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนกระทำความผิดและมีมติให้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งอัยการได้ตอบว่าไม่มีพยาน

"ดังนั้น จึงหวังว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะยกฟ้อง แต่ถ้าคำตัดสินออกมาเป็นอีกทางทั้งที่ฝ่ายโจทก์บอกว่า ไม่มีพยานรู้เห็นการกระทำความผิดแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของผู้ตัดสินที่จะชี้แจงต่อประชาคมโลกต่อไป ทั้งนี้พลังเสื้อแดงที่พวกตนเตรียมพร้อมต้านรัฐประหารก็อาจจะพลิกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินดังกล่าวแทน เพราะถือว่าเป็นการรัฐประหารเงียบเหมือนกัน" นายสุทินกล่าว
 
นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)กล่าวในรายการ"ความจริงวันนี้"ในคืนวันเดียวกันทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 ว่า ขอเชิญชวนคนเสื้อแดงมาชุมนุมกันตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป ในวันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน ที่ท้องสนามหลวงเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยในการยุบพรรคโดยให้เตรียมเสื้อผ้ามาอีกคนละชุดเผื่อจะต้องค้างคืน

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า คงไม่ก้าวล่วง พรรคมีการเตรียมตัวแล้วเพราะทราบมานานแล้ว ส่วนผลจะออกมาบวกหรือลบเราก็เตรียมตัวอยู่แล้วทำใจกันอยู่แล้ว

ด้านนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ผู้แทนจากอัยการสูงสุด ในฐานะหนึ่งในคณะทำงานอัยการรับผิดชอบคดียุบพรรคการเมือง กล่าวว่า  อัยการสูงสุดในฐานะผู้ร้องไม่ต้องแถลงปิดคดีด้วยวาจาพร้อมกับทั้ง 3 พรรคการเมือง เพราะทางศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามคำร้องในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของทั้ง 3 พรรคการเมืองแล้ว เห็นว่า มีข้อมูลเพียงพอจึงไม่จำเป็นต้องไต่สวน แต่ศาลต้องใช้ดุลพินิจว่าในส่วนของพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาฯที่กรรมการบริหารพรรคถูกใบแดง (เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง) จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นั้น ทางกรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิและพรรคจะถูกยุบหรือไม่ ส่วนพรรคพลังประชาชนนั้น ที่นายยงยุทธกระทำผิดก็มีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งชัดเจนแล้ว ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ดูข้อเท็จจริงเหล่านี้และจะใช้ดุลพินิจในการยุบพรรคหรือไม่

นายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว และนายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ ได้มายื่นใบลาออกจากการเป็น ส.ส.แล้ว โดยให้มีผลบังคับในวันเดียวกันนี้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ กรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ที่ ส.ส.สัดส่วน 10 คน ได้ลาออกจากการเป็นส.ส.แล้ว 8 คน โดย 3 คนที่ลาออกก่อนหน้านี้คือ นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  นายศรีเมือง เจริญศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  และนายชูศักดิ์ ศิรินิล เลขานุการนายกรัฐมนตรี


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์