ลึกสุดฮา ปฏิญญาฟินแลนด์

มติชน

รายงานพิเศษ

หลังจากที่มีการเปิดโปงเรื่อง "ปฏิญญาฟินแลนด์" ของพรรคไทยรักไทยขึ้นมา โดยมีการระบุว่าเป็นแนวคิดของแกนนำพรรคไทยรักไทยที่ประกอบด้วยคน 3 กลุ่ม คือ นายทุน ซ้ายเก่าและนักวิชาการ ที่มีการประชุมร่วมกันที่ประเทศฟินแลนด์เมื่อปี 2542

1 ใน 5 ข้อของ "ปฏิญญาฟินแลนด์" ที่มีเนื้อหารุนแรงที่สุด ก็คือ การทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์และพิธีกรรม

นั่นคือ ประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายคนที่มีชื่ออยู่ในกลุ่มผู้ร่วมร่าง "ปฏิญญาฟินแลนด์" ออกมาตอบโต้

หนึ่งในนั้น คือ "เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์" อดีตเลขาธิการศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย "ซ้ายเก่า" ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมร่างปฏิญญาฟินแลนด์ด้วย

และวันนี้เขาได้มาเปิดใจกับ "มติชนสุดสัปดาห์" ถึงความเป็นมาของปฏิญญาฟินแลนด์แบบคนละเรื่องเดียวกัน

อย่าง "ลึกสุดฮา"


"เกรียงกมล" นั้นรู้จักกับ "ทักษิณ" มาตั้งแต่ปี 2518 ช่วงที่เขาเป็นผู้นำนักศึกษา ในขณะที่ "ทักษิณ" เป็นนายตำรวจติดตาม "ปรีดา พัฒนถาบุตร" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

"เกรียงกมล" เปิดฉากการให้สัมภาษณ์ด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเขากับ "ทักษิณ ชินวัตร" ในวันที่เข้ามาช่วยงานการเมือง

"ก่อนคุณทักษิณจะรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม 5 วัน ผมทานข้าวอยู่ที่ร้านคุณหญิง ศรีนครินทร์ หม่อมหน่อยก็โทรศัพท์มาหาผมบอกว่าคุณทักษิณจะคุยสายด้วย หลังจากคุยเสร็จผมก็รวบช้อนเลยเพราะเขาอยากคุยกับผมด่วน"

"หม่อมหน่อย" ก็คือ ม.ล.บวรนรเทพ เทวกุล อดีตเลขานุการส่วนตัวของ "ทักษิณ"

ทั้งคู่นัดเจอกันที่โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์

ประโยคแรกที่ "ทักษิณ" เอ่ยขึ้นมาก็คือ "เกรียง พี่จะเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมแล้ว มาเล่นการเมืองช่วยพี่หน่อย"

"ผมคิดมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่าผมจะไม่เล่นการเมือง เมื่อคุณทักษิณชวน ผมก็ตอบแบบออโตเมติคเลยว่าพี่ครับ ถ้าผมเล่นการเมือง ผมก็ต้องช่วยตัวเอง ไม่ได้ช่วยพี่ ดังนั้น ผมขอไม่เล่นการเมือง แต่ขอช่วยพี่ เขาก็โอเค ผมบอกด้วยว่าผมจะชวนเพื่อนมาช่วยพี่ครับ"

และ "เพื่อน" 3 คน ที่ "เกรียงกมล" ชวนมาก็ล้วนแต่เป็นนักกิจกรรมเก่าสมัยที่เป็นนิสิตนักศึกษา

คนแรก คือ ภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งตอนนั้นทำงานอยู่กับเพื่อนสนิทคนหนึ่งของ "เกรียงกมล"

คนที่สอง คือ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์ นักแปล

คนที่สาม คือ วริษฐ์ มงคลศรี เป็น "ยุวชนสยาม" รุ่นเก่า ทำงานรับเหมาก่อสร้าง

ที่ทำงานของทั้ง 4 คน คือ "ห้องโต๊ะกลม" ชั้น 30 ของตึกชินวัตร 1

"เงื่อนไขหนึ่งที่คุณทักษิณและทีมงานของเขาไม่เข้าใจก็คือ ทุกคนที่เข้ามาช่วยงานการเมืองครั้งนี้ไม่ขอรับเงินเดือน เพราะแต่ละคนมีเงินเดือนหรือทำธุรกิจส่วนตัวอยู่แล้วแต่อยากมาทำงานการเมือง"

คนทำธุรกิจอย่าง "ทักษิณ" คงไม่เข้าใจว่าเมื่อแต่ละคนก็ไม่ใช่เด็ก และยอมลงแรงมากมาย แต่ทำไมถึงไม่ยอมรับค่าตอบแทนอะไรเลย

"ผ่านไปหลายเดือน เขาก็เริ่มบอกว่าเอาไว้เราไปเที่ยวเมืองนอกกัน สักพักก็บอกอีกแล้วว่ามีโอกาสเราไปเที่ยวเมืองนอกกัน พูดหลายครั้งมากแต่ไม่ได้ไปสักที"

ในมุมของ "ทักษิณ" เมื่อให้ "เงิน" ก็ไม่รับ เขาก็อยากตอบแทนด้วยการพาไปเที่ยว

"ทักษิณ" นั้นเป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2538

เมื่อ "บรรหาร ศิลปอาชา" นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นตัดสินใจยุบสภาเดือนกันยายน 2539 และมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2539

พรรคพลังธรรมได้ ส.ส. เข้ามาเพียงคนเดียว คือ "สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์"

"ทักษิณ" จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม

"วันหนึ่ง คุณทักษิณก็บอกว่าไปเที่ยวกัน ไปเที่ยวยุโรปกัน เอาพาสสปอร์ตมา"

สิ่งที่ "เกรียงกมล" ไม่ได้บอก แต่จากการสอบถามผู้บริหารคนหนึ่งของ "ชินคอร์ป" ที่ร่วมทริปนี้ด้วย นี่คือ การเดินทางไปดูงานเพื่อซื้ออุปกรณ์ในโครงการขยายชุมสายของ "เอไอเอส"

ไปดูงาน 3 บริษัท 3 ประเทศ

"โนเกีย" ที่ฟินแลนด์ "อีริคสัน" ที่สวีเดน และ "ซีเมนต์" ที่เยอรมนี

ตามปกติของการเดินทางไปดูงานโครงการใหญ่เช่นนี้ บริษัทเจ้าภาพจะเป็นคนออกค่าใช้จ่าย

นั่นคือ จุดเริ่มต้นของการเดินไปยุโรปครั้งแรกของทั้ง 4 คน

และเป็นจุดเริ่มต้นของข้อกล่าวหาเรื่อง "ปฏิญญาฟินแลนด์"


ดูเหมือนว่าการเล่าเรื่องเบื้องหลัง "ปฏิญญาฟินแลนด์" ของ "เกรียงกมล" ครั้งนี้จะเต็มไปด้วยอารมณ์ขันที่แสบสันต์ยิ่ง

"คนที่ไปก็มีพวกเรา 4 คน คุณทักษิณที่เป็นประธานร่างปฏิญญา หม่อมหน่อยที่เป็นเลขาฯ คุณบุญคลี ปลั่งศิริ จากชินคอร์ป คุณสมประสงค์ บุณยะชัย จากเอไอเอส คุณไพบูลย์ ลิมปพยอม ที่ปรึกษา และพล.ต.ท.ม.ล.ฉลองลาภ ทวีวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลสมัยนั้นที่ดูแลเรื่องการจราจร"

"เกรียงกมล" บอกว่านี่คือการดูงานทางธุรกิจ และพาคนที่ทำงานหนักให้กับ "ทักษิณ" ตอนทำงานการเมืองไปเที่ยว

"เขาเล่าว่าทั้ง 4 คนที่ไปเหมือนกะเหรี่ยงไปเที่ยวเมืองนอก อย่าว่าแต่ตื่นเต้นที่เห็นหิมะเลย แค่ขึ้นเครื่องบินได้นั่งชั้นบิสสิเนสคลาสก็ตื่นเต้นแล้ว เก้าอี้ก็นุ่ม กว้างใหญ่มาก"

เขาทำท่าคิดนิดถึงเหมือนเพิ่งนึกได้ "ถ้าจะมีปฏิญญาก็คงจะมีบนเครื่องบิน และมันไม่ได้มีฉบับเดียว แต่มันมี 4 ปึก"

"เกรียงกมล" บอกว่าหลังจากเสิร์ฟอาหารบนเครื่องบินแล้ว เขาเห็น "ทักษิณ" พับแขนเสื้อตามสไตล์ ก้มลงหยิบซองจดหมายสีขาว 4 ซองจากกระเป๋า เดินจากที่นั่งชั้นเฟิร์สคลาสมาหา

"ผมก็นึกในใจว่าในซองนี้น่าจะมีอะไรที่จะเป็นประโยชน์ในการเที่ยวครั้งนี้แน่เลน แต่พยายามไม่แสดงอาการดีใจออกนอกหน้าให้เห็น อีก 3 คนก็เก็บอาการคล้ายๆ กัน" เขาบรรยาย

"และแล้วท่านประธานร่างปฏิญญายื่นซองสีขาวให้คนละซอง พร้อมกับบอกว่าให้ใช้จ่ายกันระหว่างไปเที่ยว"

"เกรียงกมล" หัวเราะเป็นระยะ

"ผมก็นึกในใจว่าปฏิญญาฉบับนี้คงไม่ใช่แบงก์ห้าร้อย และเราไปเที่ยวเมืองนอกเขาก็คงไม่ให้เงินไทย แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเป็นเงินฝรั่ง ทำไมมันจึงหนาขนาดนี้"

"ปฏิญญาฉบับนี้คงจะยาวมาก" เขาสรุปแบบอำ-อำ

"ทุกคนก็รอจนประธานร่างปฏิญญาเดินกลับไปก่อนจึงค่อยๆ แง้มซองดู ปรากฏว่าใบหน้าสุดเป็นรูปหน้าของ จอร์จ วอชิงตัน ใบละหนึ่งร้อย เมื่อมานับกันทีหลังก็พบว่าปฏิญญาทั้งหมดมี 80 ใบ"

8,000 เหรียญ คือ "พ็อกเก็ตมันนี่" ที่ "ทักษิณ" ให้กับ 4 สหายในการไปเที่ยวครั้งนี้

อัตราแลกเปลี่ยนตอนนั้นอยู่ที่ 1 เหรียญต่อ 25 บาท คิดเป็นเงิน 200,000 บาท

การไปเที่ยวกึ่งดูงานครั้งนี้ทุกคนไปด้วยกันตลอดเวลาประมาณ 10 กว่าวัน ยกเว้นตอนที่เจรจาหรือประชุมเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจที่ทั้ง 4 คนจะแยกไปเที่ยวชมเมืองกันอย่างสนุกสนานและตื่นตาตื่นใจ

"ตอนนั้นคุณทักษิณเพิ่งอกหักจากพรรคพลังธรรม เขาไม่คุยเรื่องการเมืองเลยหรือ" เป็นคำถาม


"ถ้าคุณทักษิณจะอกหัก แต่พวกเราไม่ได้อกหักด้วยนะ เราทั้ง 4 คนไม่มีใครรู้สึกอกหักเลย" เขาหัวเราะแล้วอธิบายต่อ

"4 คนที่ไม่เคยไปเที่ยวเมืองนอก และไปต่างบ้านต่างเมือง ไม่มีหัวข้อการเมืองในการคุยกันนะ มีแต่หัวข้อว่าปฏิญญาแต่ละปึกที่เราได้มาจะใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง"

จากหนังสือ "ทักษิณ ชินวัตร ตาดูดาว เท้าติดดิน" ช่วงนั้น "ทักษิณ" เพิ่งลาออกจากหัวหน้าพรรคพลังธรรม หลังจากกลับจากการเที่ยวในครั้งนี้พักใหญ่ เขาก็เข้าสู่แวดวงการเมืองอีกครั้งด้วยการสมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนพ่ายแพ้ต่อ พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์

"ทักษิณ" คิดจะตั้งพรรคการเมืองใหม่ในช่วงปลายปี 2540 และก่อตั้งพรรคไทยรักไทยในวันที่ 14 กรกฎาคม 2541

ถามว่าตอนที่ไปเที่ยวกัน "ทักษิณ" เริ่มคิดตั้งพรรคใหม่แล้วหรือยัง


"คิดหรือไม่คิด ผมไม่รู้ แต่เราไม่ได้คุยกันเรื่องการเมืองเลย" เขาตอบพร้อมกับหยอดท้ายด้วยอารมณ์สนุก

"ถ้าจะคุยกันจริงก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปถึงฟินแลนด์หรอกครับ และผมฝากทุกพรรคทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย ด้วยว่าถ้าจะคุยเรื่องการเมือง อย่าไปประชุมที่ฟินแลนด์เป็นอันขาด เพราะมันจะคิดเรื่องเที่ยวอย่างเดียว"

"ไม่คุยเรื่องการเมืองกันเลยหรือ"


"เกรียงกมล" บอกว่าไม่มีการคุยกันเป็นหลักเป็นฐาน ไม่มีการตั้งท่าคุยอย่างจริงจัง ที่สำคัญมี "หม่อมหลวง" อยู่ 2 คนในคณะที่ไปเที่ยว คงไม่มีการคุยเรื่องแบบนี้อย่างแน่นอน

ถามต่อว่า "ไม่มีการตั้งคำถามกันบ้างหรือว่า ถ้าจะตั้งพรรคใหม่เราควรมีนโยบายอย่างไร"


"ไม่มี" เขาตอบหนักแน่น "เพราะหัวข้อแบบนี้เป็นหัวข้อที่ซีเรียส ผมเป็นคนจำอะไรที่เป็นหลักๆ ได้ ถ้ามีการคุยผมต้องจำได้"

"แต่สิ่งที่ผมจำได้มีเพียงแต่ปฏิญญา 4 ปึก และจำความสนุกตอนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่าหิมะเที่ยว สนุกมากๆ หรือตอนนั่งในร้านเหล้ามองหิมะโปรยปราย สวยมาก ผมจำได้เท่านี้จริงๆ"

ถามว่า "ที่มีการบอกว่าภูมิธรรมไปยืนที่ดาดฟ้าเรือแล้วตะโกนว่าจะพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า"


"เกรียงกมล" หัวเราะดัง

"ไม่จริง ไปเที่ยว 3 ประเทศนี้ไม่มีการลงเรือเลย" เกรียงกมลหัวเราะดัง

"โธ่ หิมะตก หนาวขนาดนั้น ขืนขึ้นไปยืนที่ดาดฟ้าเรือก็หนาวตายสิ"

วกกลับสู่ความรู้สึกส่วนตัวเมื่อถูกกล่าวหาเรื่อง "ปฏิญญาฟินแลนด์"


"ผมไม่โกรธ ไม่ตกใจเลยนะเมื่อได้ยินข่าวเรื่องนี้แต่รู้สึกแปลกและไร้สาระมากกว่า" เกรียงกมลบอก

"ปฏิญญาฟินแลนด์ถูกสร้างมาด้วยพื้นฐานของคนที่ไม่ใช่นักประชาธิปไตย ไม่ใช่คนที่มีความก้าวหน้าสร้างสรรค์ ไม่ใช่คนที่เป็นปัญญาชน ไม่ใช่ถูกสร้างจากคนที่รักความยุติธรรม"

"ถ้าสร้างเรื่องอื่นพอให้อภัยได้ แต่สร้างเรื่องโยงกับสถาบันเบื้องสูงเพื่อทำลายผู้อื่น คนกลุ่มนี้จึงขาดคุณสมบัติ 4 ประการ"

"มีบางคนถามผมว่าจะฟ้องหรือเปล่า ผมตอบว่าไม่ฟ้องร้องอะไรทั้งสิ้น เพราะผมไม่รู้สึกเสียหายอะไรทั้งสิ้นเลย เพราะไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ถ้าบกพร่องที่สุดก็คือ ผมดื่มเบียร์ทุกวันตลอดการไปเที่ยว"

เป็นประโยคที่พรั่งพรูออกมาอย่างต่อเนื่อง

"ความพยายามตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลทุกชุด ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สิ่งที่ทำได้ แต่เป็นสิ่งที่ควรจะทำด้วย ปัญญาชนของสังคมไทยควรจะตรวจสอบความบกพร่องของรัฐบาล แต่อย่าพาตัวเองหลุดไปถึงขั้นเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลในทุกเรื่อง ที่สำคัญปัญญาชนกลุ่มนี้ก้าวไปอีกขั้น คือใช้ทุกวิธีการเพื่อล้มล้างรัฐบาล บังเอิญวิธีการท้ายๆ ที่นำมาใช้ เขาได้นำเครื่องมือของพวกขวาจัดที่ทำลายกระบวนการประชาธิปไตยมาโดยตลอดมาใช้ทำร้ายคนอื่น"

หลังจากระบายความรู้สึกมาอย่างต่อเนื่อง "เกรียงกมล" พลิกกลับอีกครั้ง


"อย่างไรก็ตาม หลังจากมีข่าวเรื่องปฏิญญาฟินแลนด์ พวกเราทั้ง 4 คนก็มีความเห็นคล้ายๆ กันว่าปฏิญญาฟินแลนด์ฉบับแรกยังไม่สมบูรณ์ ผมอยากเสนอคุณทักษิณว่าเราควรจะกลับไปตรวจแก้กันอีกครั้งหนึ่ง"

"และถ้าไปอีกครั้ง ผมเสนอว่าไม่ควรไปช่วงหน้าหนาวเพราะบรรยากาศจะซ้ำกัน ไปหน้าร้อนที่อากาศไม่หนาวนัก สติปัญญาในการร่างปฏิญญาคงจะดีขึ้น"

ก่อนที่มุขสุดท้าย


"ที่สำคัญปฏิญญา 4 ปึกที่เราได้รับมา ตอนนี้ต้องคูณ 40 บาทไม่ใช่ 25 บาท ปฏิญญาที่เราได้รับจะค่าสูงขึ้นอีกเป็น 3 แสนกว่าบาท"

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์