ลิ้มไพร่ฉายารบ.ปู-กปปส.ผีบุญร.ศ.232

ลิ้มไพร่ฉายารบ.ปู-กปปส.ผีบุญร.ศ.232

สมาคมรัฐศาสตร์ เกษตรฯ ตั้งฉายารัฐบาล 'ลิ้มไพร่' ขณะที่สภาได้ฉายา 'โรงเตี๊ยม' แหล่งตะลุมบอนจอมยุทธ์ ส่วน กปปส. 'ผีบุญ ร.ศ.232' เหตุวิกฤติศรัทธาหนัก

 เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

แถลง “ฉายาสถาบันการเมือง” โดยนายนพพล อัคฮาค ประธานคณะกรรมการจัดกิจกรรมตั้งฉายาสถาบันทางการเมือง ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ.2556 กล่าวว่า การตั้งฉายาสถาบันการเมืองมาจากการเปิดให้สมาชิกเครือข่ายออนไลน์สมาคมรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 2,844 บัญชี ได้เสนอความเห็นฉายาต่างๆ มายังสมาคม และให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฉายาที่มีความเหมาะสมที่สุด ดังนี้ 
 
  1.ฉายารัฐบาล “ลิ้มไพร่
” ซึ่งคำว่า ลิ้ม ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แปลว่า กิริยาอิงแอบแนบชิด บิดเบือน มีความหมายว่า รัฐบาลนี้มาแบบอิงแอบแนบชิดกับไพร่ โดยการสร้างวาทกรรม “ไพร่” ขึ้นมา แต่พอมาเป็นรัฐบาลจริงๆ การอ้างประโยชน์พี่น้องประชาชนในการกำหนดและดำเนินนโยบายต่างๆ เกิดคำถามว่า สุดท้ายชิ้นปลามันกลับตกไปอยู่กับชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นการจำนำข้าว รถคันแรก หรือบ้านหลังแรก โดยกรณีที่ถูกต่อต้านมากที่สุดคือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมที่ตั้งต้นจากการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน แต่ลงท้ายด้วยการจับเขาเหล่านั้นเป็นตัวประกันพ่วงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ เข้ามา ซ้ำยังลอยแพผู้ได้รับผลกระทบจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ออกไปด้วย
 
2.กปปส. ฉายา "ผีบุญ ร.ศ.232" แปลว่า กบฏ หมายถึงกลุ่มคนที่คิดและกระทำการต่อต้านล้มล้างอำนาจรัฐด้วยกำลัง ต่างจากผีบุญ หรือกบฏผู้มีบุญ ซึ่งหมายถึงคนธรรมดาที่อ้างตัวเป็นผู้วิเศษ ทำการชักชวนให้ผู้คนก่อกบฏกับรัฐที่เป็นศูนย์กลางอำนาจ การสร้างวาทกรรมคนดี คนมีคุณภาพ มีสติปัญญา ต่อต้านคนโกง เหนือกว่าคนไร้คุณภาพขาดสติปัญญาของ กปปส. เพื่อล้มล้างอำนาจรัฐ จนถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าร่วมกันเป็นกบฏ จึงอาจกล่าวได้ว่ามีลักษณะเกินกว่ากบฏ แต่เข้าข่าย ผีบุญ ร.ศ.232

3.รัฐสภา ฉายา "โรงเตี๊ยม" หมายถึงความวุ่นวายหลายครั้งในรัฐสภาอันทรงเกียรติ ถึงขนาด ส.ส.ทุ่มเก้าอี้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน เช่น เดียวกับโรงเตี๊ยมในภาพยนตร์จีน อันเป็นที่รวมของเหล่าจอมยุทธ์จากทุกสารทิศ ซึ่งบ่อยครั้งเกิดการต่อสู้ห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด ประตู หน้าต่าง โต๊ะ เก้าอี้ ถ้วยชามรามไห พังระเนระนาด ก่อนจะแยกย้ายกันไปโดยไม่มีผู้รับผิดชอบ
 
4.ตุลาการ ฉายา "ศาลใครฟัง" หมายถึง การแถลงไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการได้มาซึ่งวุฒิสภา โดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนฯ คนที่ 1 นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภา คนที่ 2 พร้อมสมาชิกรัฐสภารวม 312 คน เมื่อวันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แล้วยังสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติศรัทธาอย่างถึงแก่นต่อสถาบันตุลาการที่ควรจะได้รับการยอมรับว่าเที่ยงธรรมเช่นเดียวกับ ”ศาลไคฟง” แต่กลับถูกตั้งข้อสงสัยและกลายเป็น ”ศาลใครฟัง” ในปัจจุบัน
 
5.พรรคเพื่อไทย ฉายา "ปลากระป๋องชาวคอย" หมายถึงปัญหาประการสำคัญภายในของพรรคเพื่อไทยรอบปีที่ผ่านมา คือจำนวนสมาชิกที่มีมากเกินกว่าความสามารถในการจัดสรรผลประโยชน์ ทั้งในรูปของตำแหน่งรัฐมนตรี และการส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ทั้งรัฐมนตรี และผู้สมัครรับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 สมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 แกนนำ นปช. บุคลากรทางการเมืองภายในพรรค ตลอดจนนักการเมืองหัวคะแนนในท้องถิ่น ต่างรอคอยการตัดสินใจจากผู้บริหารพรรคอยู่กันแน่น จนเป็นปลากระป๋องในน้ำซอสสีแดง
 
6.พรรคประชาธิปัตย์ ฉายา "จอมมารต้านโกง" แปลว่า เบื้องหลังสารพัดการรณรงค์ต้านโกงของพรรคประชาธิปัตย์กลับเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัยต่อความไม่โกงของผู้รณรงค์เสียเองว่า แท้ที่จริงแล้วพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยมีบาดแผลจากโครงการต่างๆ มากมาย อาทิ ไทยเข้มแข็ง ส.ป.ก. 4-01 ปรส. นมโรงเรียน เครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 คือนักบุญผู้มาปลดปล่อยประเทศจากการทุจริตแค่คนธรรมดาที่มีกิเลสตัณหา หรือถึงขั้นจอมมารจำแลงมากันแน่
 
7.พรรคภูมิใจไทย ฉายา "ถ่านไฟเก่า"
หมายถึง ภายหลังการสลายตัวของกลุ่มทางการเมืองอันเนื่องมาจากคดียุบพรรคไทยรักไทย และเกิดการรวมตัวกันใหม่ของกลุ่มเพื่อนเนวินและกลุ่มมัชฌิมาในนามภูมิใจไทย แม้สถานะตามกฎหมายถือเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่ท่าทีของพรรคตลอดปีที่ผ่านมา กลับให้การสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอย่างชัดแจ้งเป็นทางการ และกลุ่มมัชฌิมาประกาศลาออกจากพรรคภูมิใจไทยและสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา

 8.องค์กรอิสระ ฉายา "พระอันดับ" หมายถึงในรอบปีที่ผ่านมาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน รวมถึงองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ล้วนแล้วแต่ไม่สามารถแสดงบทบาทของตนได้อย่างชัดเจน เป็นแต่เพียงตัวประกอบให้ครบตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น เปรียบเทียบกับพระอันดับที่ไม่มีบทบาทสำคัญในการทำพิธีทางศาสนา
 
9.กองทัพ ฉายา "เสธ.รอสอย" หมายถึง แม้ในรอบปีที่ผ่านมาจะมีผู้เรียกร้อง และสร้างเงื่อนไข ให้กองทัพเข้าแทรกแซงทางการเมือง อันอาจส่งผลให้ความขัดแย้งทวีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แต่กองทัพก็ยังพยายามสงวนท่าทีให้อยู่ในระยะที่เหมาะสม ด้วยความหวาดระแวงอย่างยิ่งของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และผู้สนับสนุน ว่า “เสธ.” ที่ “รอสอย” อยู่ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยนี้ จะตัดสินใจละเมิดหลักการของระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งหรือไม่
 
10.ตำรวจ ฉายา "โปลิศกิจป่วน" หมายถึง ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับกองทัพตำรวจ เป็นเครื่องมือที่รัฐบาลเลือกใช้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความปั่นป่วนอันเกิดจากการชุมนุมต่อต้าน กระทั่งขับไล่รัฐบาลในนาม กปปส. ที่ต้องระดมสรรพกำลังจากกองบัญชาการต่างๆ เข้ามาผลัดเปลี่ยนการปฏิบัติภารกิจ ซึ่งรับทั้งก้อนอิฐและดอกไม้
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับวาทะแห่งปีคือ "สุดซอย" มาจากคำวิเศษณ์ที่ขยายร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งเรียกกันจนติดปากว่า เป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย
หรือหมายถึงเอาให้เต็มที่ ถือเป็นหน้าใหม่ของวัฒนธรรมการเมืองไทย ซึ่งที่แล้วมามักเน้นแนวทางการประนีประนอมเป็นสำคัญ



เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์