ร่างนโยบายรับเน้นคุณธรรม - ´ธีรยุทธ´ตั้งฉายา ´รัฐบาลโอที´

ต้าน"มีชัย"นั่งปธ. "อ๋อย"หน.ทรท. เด้งเลขาฯปปส.



ดรีมทีมเศรษฐกิจร่วมหารือร่างนโยบายรัฐบาล เน้นคุณธรรมจริยธรรมเป็นทัพหน้าในการบริหารงาน ด้าน มท.1 ลั่นเร่งประสานรอยร้าวระหว่างคนไทยด้วยกัน ยันความขัดแย้งต้องจบภายใน 1 ปี ขณะที่องค์กรเอกชนเริ่มออกฤทธิ์ค้าน มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานสภานิติบัญญัติ อ้างมีคนที่ดีและเหมาะสมกว่า

พร้อมจี้เปิดกว้างให้ประชาชนตรวจสอบ คมช.ได้ เพราะไม่มั่นใจหวั่นสิทธิเสรีภาพประชาชนแย่กว่าระบอบทักษิณ ธีรยุทธ ตั้งฉายา รัฐบาล OT เชื่อ ทรท.จะสลายตัวเป็นพรรคย่อย และแกนนำถูกเช็คบิล มั่นใจทีมเศรษฐกิจประคองประเทศได้ตลอดรอดฝั่ง พร้อมฝาก 7 ภารกิจหลังให้รัฐบาลจัดการ ชี้ต้องพัฒนารัฐธรรมนูญฉบับภูมิปัญญาไทยตรวจสอบได้ และให้ยกเลิกกฎอัยการศึกเพื่อภาพลักษณ์ของประเทศ ขณะที่กองทัพขอเวลาศึกษาให้รอบคอบก่อนยกเลิก ด้าน บิ๊กแอ้ด เปรยไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน

พร้อมเชิญทูตทั่วโลกมารับทราบถึงเหตุผลการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทย ส่วนโพลชี้คนพอใจ ครม.ใหม่ ด้าน ทรท.สรุปให้ อ๋อย นั่งหัวหน้าพรรค แต่เจ้าตัวมีข้อต่อรอง ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็น คมช. เด้ง พล.ต.ท.กฤษณะ ผลอนันต์ เลขาฯ ปปส. เข้ากรุไปเป็นผู้ตรวจฯสำนักนายกฯ แล้วโยก กิตติชัย ลิ้มชัยกิจ กลับไปคุมถิ่นเก่า

ดรีมทีมหารือร่างนโยบาย

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตสาหกรรม นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเพื่อเตรียมการยกร่างนโยบายรัฐบาล

ภายหลังการประชุมนายธีรภัทร์ให้สัมภาษณ์ว่า มีการพูดคุยกันในกรอบกว้าง ๆ รวมถึงรายละเอียดบางประการ แต่ละฝ่ายได้รับมอบหมายให้ไปทำหน้าที่ในการยกร่างรายละเอียดนโยบายของรัฐบาลมา และจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 13 ต.ค. เพื่อมาพิจารณาร่วมกันและจะยกคำร่าง จากนั้นจะนำเสนอต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปอ่านระหว่างการเดินทางเยือนต่างประเทศในช่วงปลายสัปดาห์นี้ และในวันที่ 16 ต.ค.จะได้หารือกับนายกฯเพื่อที่จะพิจารณาว่าจะนำร่างดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม.ในวันที่ 17 ต.ค.

เน้นคุณธรรมเป็นทัพหน้า

เมื่อถามว่า นโยบายด้านเศรษฐกิจจะเน้นลักษณะใด รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องรอรายละเอียดก่อน เพราะนายโฆสิตเป็นผู้กำหนดมา ร่างนโยบายในส่วนของเศรษฐกิจนายโฆสิตและม.ร.ว.ปรีดิยาธรจะเป็นผู้พิจารณา ส่วนตนจะเน้นเรื่องการเมืองการปฏิรูปการเมือง ส่วนด้านสังคมจะช่วยกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ของสภาพัฒน์เป็นผู้ช่วยในการยกร่างให้ อย่างไรก็ตามในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมานายกฯ ได้เน้นย้ำในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม ดังนั้นเราจะนำกรอบคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นกรอบในการบริหารงาน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงการที่กระทรวงการคลังมีรัฐมนตรีเพียงคนเดียวว่า มั่นใจว่าทำงานได้ดีและจะไม่มีปัญหาด้วย ส่วนร่างนโยบายรัฐบาลคาดว่าจะเสนอให้นายโฆสิต รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานร่างนโยบายรัฐบาลได้วันที่ 13 ต.ค.

เตรียมแจง ศก.กับ ตปท.

นายโฆสิต กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลจะเน้นเรื่องอะไรตนคงเปิดเผยไม่ได้ แต่จะเสร็จทันกำหนด 1 สัปดาห์ คือวันที่ 13 ต.ค. โดยจะเน้นใน 2-3 เรื่อง คือไม่ขัดแย้งกับเศรษฐกิจเสรี หรือเศรษฐกิจการตลาด ซึ่งจะทำให้มีประสิทธิภาพตามที่นายกรัฐมนตรีให้นโยบายไว้ โดยกรอบใหญ่ที่รัฐบาลจะดำเนินการ คือทำให้รากแก้วของประเทศแข็งแรง รัฐบาลจะดูแลคนที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อย่างไรก็ตามวันที่ 12 ต.ค. กระทรวงอุตสาหกรรม ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล จะเชิญหอการค้าต่างประเทศมารับทราบทิศทางนโยบายเศรษฐกิจไทย ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ก็จะพูดถึงตัวเลขเศรษฐกิจทั้งหมด โดยตนและ รมว. คลัง จะพยายามชี้แจงให้นักลงทุนต่างประเทศเข้าใจว่า เศรษฐกิจเสรีเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยรัฐบาลจะปรับเศรษฐกิจเสรีให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ให้ฉายา "รัฐบาล OT"


อีกด้านหนึ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "รัฐบาลใหม่กับปัญหาสังคมการเมืองไทยในอนาคต" ว่า ตนขอขนานนามรัฐบาลปรองดองแห่งชาติของ พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่า "รัฐบาล OT" มาจาก "Old Technocrat" และรัฐบาลล่วงเวลา (Over Time) เพราะเน้นข้าราชการผู้ชำนาญการอาวุโส ตนคิดว่าอย่าไปดูถูกดูแคลนผู้สูงอายุ เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้รับผลกรรมเนื่องจากไปชวนผู้สูงอายุทะเลาะด้วย ในด้านเสถียรภาพรัฐบาลคงไม่ต้องกังวลมากนัก เพราะพล.อ.สุรยุทธ์มีความสุขุม และพรรคไทยรักไทยจะสลายตัวเป็นเพียงพรรคย่อย ขณะที่แกนนำพรรคจำนวนหนึ่งจะถูกลงโทษตามกฎหมายใน 3-6 เดือนข้างหน้า

นายธีรยุทธกล่าวต่อว่า ในด้านเศรษฐกิจแม้ภาพรวมของประเทศจะไม่ดีนัก แต่ประสบการณ์และความสามารถของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรและนายโฆสิตจะประคองเศรษฐกิจไปได้ด้วยดีภารกิจหลักของ รัฐบาลคือการสร้างความปรองดองในชาติ มีอยู่ 7 ภารกิจหลักประกอบด้วย 1. ผลของการล้มระบอบคอร์รัปชันไทยรักไทย ต้องไม่แก้ปัญหาด้วยการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องยกระดับความเข้าใจกัน และขยายสิทธิเสรีภาพของพลังประชาธิปไตยและชาวบ้านให้กว้างขึ้น 2. วิกฤติที่ผ่านมาทำให้คนเมืองขัดแย้งกับคนชนบท คนชั้นกลางและชั้นสูงขัดแย้งกับรากหญ้า ทางแก้จึงไม่ใช่กีดกันชนบทว่าเป็นพวกไทยรักไทย แต่ต้องขยายความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และการยอมรับทางการเมืองสังคม เพื่อความปรองดองของเมืองและชนบท

ฝาก 7 ภารกิจให้จัดการ

3.รัฐบาลจะต้องสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความสุขของชาวบ้าน ต้องใช้จ่ายเงินเพื่อภาคชนบทให้ถูกทิศทาง 4.สร้างสมดุลปรัชญาเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือปรัชญา GDP กับปรัชญา GNH สมดุลระหว่างอำนาจทุนข้ามชาติกับอำนาจชุมชนท้องถิ่นอย่างให้เกิดผลที่เป็นจริง 5.สร้างสมดุลระหว่างอำนาจการเมืองกับอำนาจสังคม โดยอาศัยกฎหมาย นโยบาย และงบประมาณ 6. สร้างความปรองดองของความต่างวัฒนธรรม และ 7. รัฐบาลต้องสลายโครงสร้างคอร์รัปชันของรัฐบาลไทยรักไทย ที่ประสานระหว่างนักการเมือง ข้าราชการ และเอกชน ที่อยู่ตามบอร์ดของรัฐวิสาหกิจ กิจการร่วมทุนรัฐเอกชน โครงสร้างเชิงนโยบายซึ่งโกงกินและใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากมาย

"ยุครัฐบาลทักษิณ ทุนการเมืองขยายเป็นทุนการเมืองระดับชาติและระดับโลกาภิวัตน์ ชาวบ้านเกือบทั้งประเทศถูกครอบงำโดยประชานิยม สถาบันข้าราชการ ตำรวจ ทหาร องค์กรอิสระ ศาล ถูกแทรกแซงและครอบงำ ค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริตถูกทำลายเกือบหมด จนพลังเชิงสถาบันที่เหลือต้องลุกมาปักหลักสู้ ได้แก่ สื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ นักวิชาการ พลังสถาบันยุติธรรม พลังสถาบันชาติ ซึ่งจงรักภักดีสถาบันกษัตริย์ แต่อำนาจของทุนการเมืองมีสูงมาก ในที่สุดกองทัพต้องใช้วิธีรัฐประหารมาคลี่คลายความขัดแย้ง"นายธีรยุทธกล่าว

เตือนทหารอย่าย้ำอดีต

นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเราไม่อาจหวนไปใช้ประชาธิปไตยครึ่งใบ ซึ่งพึ่งพิงอำนาจแบบศูนย์เดียวคือกองทัพ ต้องให้มีประชาธิปไตยเต็มใบ แต่มีหลายสถาบันมาตรวจสอบกำกับทิศทางทุนการเมือง เพราะขอบเขตปัญหากว้างกว่าเดิมมาก จึงต้องพัฒนารัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญฉบับภูมิปัญญาไทย ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องกล้าคิดวิธีการที่ส่งเสริมอำนาจประชาชนที่เหมาะกับสังคมวัฒนธรรมไทยด้วย มีโครงสร้างการเมืองกู้ชาติแบบยั่งยืนที่จะแก้วิกฤติประเทศได้ถาวร เป็นโครงสร้างที่ยอมรับอำนาจของประชาชนผ่านความชอบธรรมของประชาธิปไตยเลือกตั้ง คู่กันไปกับอำนาจตรวจสอบของสถาบันต่าง ๆ

นายธีรยุทธ กล่าวว่า โครงสร้างการเมืองกู้ชาติเน้นยุทธศาสตร์ 2 อย่าง คือ 1. ประเทศไทยจะหวนไปใช้สถาบันเดียวคือกองทัพมากำกับการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบไม่ได้ ต้องใช้ยุทธศาสตร์การสมดุลอำนาจ ต้องขยายและสร้างความเป็นสถาบันแบบหลายศูนย์มาตรวจสอบถ่วงดุลทุนการเมือง ขยายสถาบันเดิมและสร้างสถาบันใหม่ 2.นอกจากยอมรับบทบาทสถาบันแล้วยังควรขยายพื้นที่ภาคประชาชน โดยให้รัฐและภาคเอกชนสนับสนุนด้านงบประมาณ และพื้นที่ต่อสาธารณะ ขยายพื้นที่ยุติธรรมให้ประชาชนเข้าถึงสถาบันยุติธรรมได้ง่ายขึ้น ขยายพื้นที่ตรวจสอบคอร์รัปชันให้กับภาคสังคม-ประชาชน-สื่อ เช่น ปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ และขยายพื้นที่คุณธรรม เช่น รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะมนตรีคุณธรรม เพื่อให้บุคคล ที่ได้รับการเคารพ อาทิ นพ.ประเวศ วะสี เสนาะ อูนากูล ระพี สาคริก เสน่ห์ จามริก ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ สุเมธ ตันติเวชกุล โสภณ สุภาพงษ์ ฯลฯ มีโอกาสได้รับเลือกไปทำหน้าที่ส่งเสริมคุณธรรม มีอำนาจยื่นเรื่องทุจริตคอร์รัปชันของนักการเมืองจากภาคประชาชนไปยังศาลที่เหมาะสม

เลิกกฎอัยการศึกสร้างภาพลักษณ์

นายธีรยุทธกล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเน้นประชาธิปไตยเต็มใบ ต้องเคร่งครัดให้อำนาจของสถาบันต่าง ๆ ไม่หวนกลับไปหาประชา ธิปไตยแบบเผด็จการทหาร ต้องเป็นการยกระดับคนไทยให้พ้นจากการสยบยอมทางความคิดตะวันตก อย่างไรก็ตามวิกฤติที่ผ่านมาควรเป็นวิกฤติสุดท้ายของประเทศ เพราะวิกฤติครั้งนี้กระทบทุกส่วนไม่เว้นแม้สถาบันพระมหากษัตริย์ ทหารต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมืองไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในฐานะสมาชิกสังคมที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมคุณธรรมเพื่อสังคมได้เช่นกัน

ส่วนการยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น นาย ธีรยุทธกล่าวว่า เท่าที่ประเมินปัญหาความมั่นคงจากฝ่ายชาวบ้านหรือนักการเมืองเก่า ไม่น่ามีปัญหาอะไร ดังนั้นในจังหวะรุกเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศก็ควรจะยกเลิกกฎอัยการศึก และให้สิทธิเสรีภาพขององค์กรภาคประชาชนได้แสดงความคิดเห็น เมื่อถามว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ควรเข้ามามีส่วนร่วมหรือไม่ นายธีรยุทธกล่าวว่า เชื่อว่านายมีชัยจะไม่รับ ท่านคงคิดว่าที่ผ่านมาคงได้ทำอะไรไว้หลายอย่างแล้ว จากนี้ไปคงจะเริ่มมีการเปลี่ยนรุ่น บทบาทของนักกฎหมายก็มีการผลัดใบเช่นเดียวกับนักการเมือง

เครือข่ายเอกชนเริ่มเคลื่อนไหว


วันเดียวกันที่กองบัญชาการกองทัพบก น.ส.รสนา โตสิตระกูล กรรมการสมาพันธ์องค์กรผู้บริโภค กลุ่มเอฟทีเอวอช และเครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนต้านคอร์รัปชันกว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเนื่องจากนายมีชัยเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมขัดขวางขบวนการพัฒนาประชาธิปไตยบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่โปร่งใสในกระบวนการจัดทำกฎหมายหลายฉบับที่ผ่านมา เอื้อประโยชน์ต่อคนบางกลุ่ม

น.ส.รสนากล่าวต่อว่า การร่างรัฐธรรม นูญฉบับชั่วคราวที่ผ่านมา มีหลายประเด็นที่ชวนสงสัยว่าซ่อนเงื่อนงำไว้ ตั้งแต่การเร่งรีบนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นทูลเกล้าฯ โดยไม่ยอมฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการและประชาชน เนื้อหาหลายส่วนหมกเม็ดเพื่อผลประโยชน์ของคนบาง กลุ่ม เช่น ไม่ระบุที่มาของบุคคลที่จะมาเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งอาจนำมาซึ่งการบล็อกโหวตได้ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังเริ่มต้นจากศูนย์ แทนที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 มาเป็นต้นร่าง และไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นไม่ใช่เพียงการลงประชามติตอนจบเท่านั้น นอกจากนี้ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติยังไม่สมควรมีชื่อนายวิษณุ เครืองาม และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ร่วมอยู่ด้วย และทางกลุ่มคิดว่ามีนักวิชาการอีกหลายคนที่เหมาะสมในการเป็นประธานสภานิติบัญญัติ อาทิ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด นายอักขราทร จุฬารัตนประธานศาลปกครองสูงสุด

หวั่นแย่กว่ารัฐบาลเดิม

"สิ่งที่ทำให้รัฐบาลทักษิณอยู่ไม่ได้เพราะไม่โปร่งใส และไม่มีกลไกในการตรวจสอบ แต่เวลานี้ คปค. ยึดอำนาจแล้วก็ไม่มีกลไกตรวจสอบ เช่นกัน สัจพจน์คืออำนาจนำไปสู่การคอร์รัปชันเราจะไว้ใจได้อย่างไร ถ้ารัฐบาลนี้ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบจะแย่กว่ารัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้นจึงต้องมีกลไกให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่ถูกยึดอำนาจ คนดีถ้าไม่มีการตรวจสอบก็จะไม่สามารถดีได้จริง" น.ส.รสนากล่าว

น.ส.รสนากล่าวอีกว่า ตนเป็นห่วง ครม. ที่มาจากข้าราชการระดับปลัดกระทรวง ซึ่งเรียกว่าเป็น ครม.ซูเปอร์ปลัดฯ จะเป็นการฟื้นคืนชีพระบบราชการเก่า ๆ กลับมา แม้นักการเมืองจะคอร์รัปชันแต่คนปฏิบัติตามคือข้าราชการที่รับคำสั่งนักการเมือง ตนยังหนักใจกับรัฐมนตรีบางคนที่รับผิดชอบในเรื่องการเจรจาเอฟทีเอ หรือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หวังว่าจะไม่มีการเข้าไปแทรกแซงการทำงานของศาลปกครองในเรื่องนี้

ต้องให้ ปชช.มีส่วนร่วม

ขณะเดียวกันนางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ผู้ประสานงานขบวนการผู้หญิงกับการปฏิรูปการเมือง (วีมูฟ) ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.สนธิ เช่นกัน โดยมีข้อเสนอในการจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ใหม่ว่า ในการสรรหาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีประวัติรับใช้ระบอบทักษิณ มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ คมช. ต้องให้ความเป็นอิสระในการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่แต่งตั้งสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 2,000 คนด้วยตัวเอง แต่ต้องกำหนดเกณฑ์ที่มา ของสมัชชาแห่งชาติโดยยึดกับพื้นที่ระดับจังหวัด และในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต้องทำควบคู่ตั้งแต่เริ่มกระบวนการ ยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องมีความเชื่อมั่นว่าประชาชนสามารถร่วมร่างรัฐธรรมนูญได้

นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด กล่าวถึงข่าวการเป็นตัวเก็งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า ยังไม่ได้รับการทาบทาม ส่วนตัวก็ยัง ไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ ชั่วคราวอย่างละเอียด คิดว่าคงไม่สามารถที่จะเข้ามาทำงานด้านการเมืองได้ เพราะรู้ตัวดีว่าไม่มีความสามารถทางด้านนี้ ตนถนัดในเรื่องกฎหมายอาญามากกว่าเข้ามาร่วมงานในสภานิติบัญญัติ ความจริงมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายคนที่เหมาะสมมีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับกฎหมายมหาชน ส่วนตัวขอทำงานที่ถนัดคือเป็นอาจารย์สอนหนังสือถ่ายทอดแนวความคิด เพื่อใช้ความรู้ด้านกฎหมายมาแก้ไขปัญหาจะดีกว่า และขณะนี้อยู่ระหว่างการเขียนหนังสือเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยกำลังเกิดปัญหาไม่สามารถดำเนินการกับนักการเมืองที่ทำผิดได้ จับได้เฉพาะปลาซิว

"มท.1" ลั่นทำไทยใจหนึ่งเดียว


อีกด้านหนึ่งที่กระทรวงมหาดไทย นายอารีย์ วงศ์อารยะ รมว.มหาดไทย ได้เข้ามาทำงานเป็นวันแรก มีข้าราชการรอต้อนรับจำนวนมาก จากนั้นได้เรียกประชุมผู้บริหารและหัวหน้าระดับราชการ เพื่อรับฟังกรอบการทำงานและรับนโยบาย โดยนายอารีย์กล่าวว่า ดีใจที่จะได้มาร่วมงานกันอีก เหมือนได้กลับบ้านเก่าที่จากไปเกือบ 10 ปี เรามีเวลาทำงาน 1 ปี ดังนั้นจะต้องเร่งรัดนโยบายรวมถึงเร่งแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การทำงานของพวกเราไม่ใช่การเมือง หรือการเมืองน้อยมาก เวลา 1 ปีจะทำผลประโยชน์ให้มากที่สุด

นายอารีย์กล่าวต่อว่า ตนจะเน้นในเรื่องความสมานฉันท์และการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนในการเลือกตั้ง เพราะจะมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี ประชาชนจะต้องมีความพร้อมเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม จะมีการรณรงค์ให้เข้าใจถึงระบอบประชาธิปไตย และการเลือกผู้แทนราษฎรที่ดีควรเป็นอย่างไร เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาปัญหาความแตกแยกของประชาชนค่อนข้างรุนแรงจะแก้ปัญหานี้อย่างไร นายอารีย์กล่าวว่า ต้องให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมีความรักความสามัคคีกันเหมือนเดิม เพราะเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์พระประมุข การแตกแยกซึ่งเป็นปัญหาของบ้านเมืองคงจะต้องจบลงได้แล้ว เพราะทุกคนเป็นคนไทยด้วยกัน ส่วนกฎอัยการศึกตนพูดอะไรมากไม่ได้ อย่างไรก็ตามยังไม่ได้รับรายงานถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนต่าง ๆ

ขอเวลาเลิกกฎอัยการศึก

พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม กล่าวถึงแนวทางการทำงานคือ มีเรื่องที่ต้องเร่งทำ 3 เรื่องคือ 1.ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำ ท่วม 2.การสร้างความสมานฉันท์ในกองทัพ 3. ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทุกคนฝากความหวังไว้กับรัฐบาลใหม่ ส่วนเรื่องกฎอัยการศึกต้องมีกรอบเวลา คาดว่าคงไม่นานเมื่อสถาน การณ์นิ่งจนแน่ใจแล้วถึงจะยกเลิก ตอนนี้ก็มั่นใจในระดับหนึ่งแต่ยังไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะยังมีกระเพื่อมยังไม่ยุติการเคลื่อนไหว ยังมีคลื่นใต้น้ำ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับประธาน คมช. ที่จะพิจารณา คิดว่าใช้เวลาไม่นานเกินรอประมาณ 1 เดือนเศษ

ด้าน พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการคัดเลือกสภานิติบัญญัติว่าค่อนข้างเรียบร้อย ส่วนการเลือกประธานต้องดูอีกที ตอนนี้ยังไม่ได้ตัวบุคคล ตนมองว่าต้องเป็นนักกฎหมายที่มีความรู้ในการดำเนินกิจการของสภาและวุฒิสภาร่วมกัน ทั้งนี้ในกลุ่ม 250 คน มีทหารที่อยู่ในราชการประมาณ 30 คน และนอกราชการจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็มีครบทุกสาขาอาชีพ และต้องทูลเกล้าฯก่อนถึงจะเลือกประธานภายหลังโดยให้เลือกกันเอง ส่วนสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญก็กำลังดูอยู่

"แอ้ด" ยันไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน


พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการหารือกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพื่อยกเลิกกฎอัยการ ศึกว่า ยังไม่มีการกำหนดว่าจะหารือเมื่อไหร่ ตนมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องพิจารณาหลายเรื่อง ต้องขอดูความพร้อมของข้อมูล ทาง คมช.เองก็ต้องศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ด้วยเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความ มั่นคง ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนใช่หรือไม่ พล.อ. สุรยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นใน 1-2 สัปดาห์นี้ เมื่อถามว่าแต่ทาง รมว.กลาโหม ระบุว่าควรจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 เดือนก่อนที่จะตัดสินใจยกเลิก นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นความคิดของ รมว.กลาโหม ซึ่งตนยังไม่ได้กำหนดเวลา เพราะอยากศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้รอบคอบ แล้วค่อยมาพิจารณากันว่าควรทำอย่างไร

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าถ้าประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วจะเกิดความไม่สงบ พล.อ.สุรยุทธ์กล่าวว่า ยังไม่มีอะไร ตนยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ เพียงแต่เป็นเรื่องที่อยู่ในวาระที่ควรพิจารณาแต่ต้องหาข้อมูล และหาสิ่งที่จะมาประกอบการพิจารณาให้รอบคอบ ต่อข้อถามว่าผลกระทบต่อสายตาต่างชาติจะมีการนำมาพิจารณาด้วยหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวยอมรับว่า ก็คงเป็นเรื่องที่มีผลกระทบการเข้ามายึดอำนาจมีผลกระทบอยู่แล้ว ตนได้พูดตั้งแต่ครั้งแรกแล้วว่า ตระหนักเรื่องนี้ดี

เชิญทูตทั่วโลกมารับทราบ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในวันที่ 12 ต.ค. พล.อ.สุรยุทธ์ได้เชิญเอกอัครราชทูตจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ประจำการอยู่ในประเทศไทย ทั้งจากกลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ ทวีปเอเชีย-แอฟริกา 23 ประเทศ ทวีปอเมริกา-แปซิฟิก 11 ประเทศ ทวีปยุโรป-รัสเซีย 25 ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ 19 องค์กร มาพบปะที่ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีรายงานว่าทาง พล.อ.สุรยุทธ์เตรียมที่จะใช้เวทีดังกล่าวชี้แจงถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศ ให้ตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรับทราบ โดยจะเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 09.30-16.15 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยจะแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามลำดับ เริ่มจากกลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประเทศเอเชีย-แอฟริกา กลุ่มประเทศอเมริกา-แปซิฟิก กลุ่มประเทศยุโรปและรัสเซีย และองค์ การระหว่างประเทศ

สธ.แก้เคล็ดซินแสเตือนระวัง


ทางด้านกระทรวงสาธารณสุข ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงได้ปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อเตรียมรับ นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข โดยทำความสะอาดบริเวณพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร พร้อมทั้งนำกระถางต้นอโศก 7 ต้นมาวางเรียงกันเป็นแผงบริเวณด้านหลังของพระอนุสาวรีย์ โดยก่อนหน้านี้มีซินแสแนะนำให้ปลูกต้นไม้บริเวณด้านหลังพระอนุสาวรีย์เพื่อป้องกันความขัดแย้ง แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีใครดำเนินการ

นายภาณุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล ซินแส ชื่อดัง กล่าวถึงการนำต้นอโศก 7 ต้นมาตั้งไว้หลังพระอนุสาวรีย์ว่า เป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตามวันเดือนปีเกิดของ นพ.มงคลวันที่ 16 ม.ค. 2485 ปีหน้าถือเป็นปีชง อายุเข้าเคราะห์จะมีเรื่องวุ่นวายต้องระมัดระวังจะเกิดความขัดแย้งใหญ่ในกระทรวง โดยเฉพาะช่วงเดือน ม.ค. ถึงกลางเดือน ก.พ. ขอให้ระวังเรื่องการตัดสินใจผิดพลาด อุบัติเหตุ และสุขภาพ

"หมอมงคล"ไม่เชื่อโชคลาง

นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังเข้ามาทำงานที่กระทรวงว่า ตนไม่ได้ถือฤกษ์ยาม ไม่มีพิธีรีตองอะไร เข้ามาก็ไปไหว้พระไหว้เจ้าตามปกติที่ทำกัน เรื่องฮวงจุ้ยตนเชื่อว่าทุกอย่างอยู่ที่คน หากคนดีอะไรก็ดีไปหมด ตนไม่ได้เชื่อเรื่องโชคลางดวงชะตา แต่ขอนำรูปปั้นหลวงพ่อโสธรมาไว้ที่กระทรวงด้วย ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้มีซินแสมาดูฮวงจุ้ยที่กระทรวงและเห็นว่าฮวงจุ้ยกระทรวงไม่ดี ทำให้มีเรื่องราวขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีกับปลัดกระทรวงมาหลายสมัย นพ.มงคลกล่าวว่า ตนไม่เชื่อเรื่องนี้ และตนก็ไม่ได้เป็นนักการเมือง แต่ที่เข้ามาทำงานเพราะได้รับมอบหมาย คนที่เข้ามาทำงานหากไม่ได้คิดชั่วพระเจ้าจะคุ้มครอง

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ซินแสระบุว่า หาก นพ.มงคล เกิดในปี 2484 จะเข้าเคราะห์วุ่นวาย นพ.มงคลหัวเราะก่อนจะกล่าวว่า ตนไม่เชื่อเรื่องนี้ แต่อย่างไรก็ตามตนเกิดในวันที่ 16 ม.ค. 2485 แต่เนื่องจากตนเรียนชั้น ป.เตรียม จนอ่าน เขียนหนังสือได้หมดแล้ว แต่ตามเกณฑ์หากอายุไม่ครบ 8 ปีจะไม่สามารถขึ้นชั้น ป.1 ได้ จึงจำเป็นต้องโกงอายุ เพื่อให้เข้าเรียน ชั้น ป.1 ได้ ดังนั้นในเอกสารการเรียนจึงระบุว่าเกิดปี 2484 แต่ในทะเบียนบ้าน และบัตรประจำตัวประชาชนจะระบุว่าเกิดในปี 2485

โพลชี้คนพอใจ ครม.ใหม่


ด้านเอแบคโพลได้ทำการสำรวจความเห็นประชาชนใน กท. 1,122 คน เรื่อง "ความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานครต่อรายชื่อ ครม. ของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์" พบว่า ภาพลักษณ์ความเป็นคนดีของ ครม.ชุดนี้ 7.59 คะแนน ภาพลักษณ์ความเป็นคนเก่ง 7.50 คะแนน ส่วนการนำอดีตคนที่เคยทำงานให้พรรคไทยรักไทยร่วมเป็นรัฐมนตรี 45.2% เห็นด้วย แสดงให้เห็นว่าไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก และ 28.4% ที่ไม่เห็นด้วย เพราะประชาชนไม่ไว้วางใจ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่าง 92.2% ยังมีความ เห็นให้ยึดทรัพย์นายทุน ข้าราชการและนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชัน

ด้านกรุงเทพโพลได้ทำการสำรวจความเห็นของประชาชนในเขต กท.และปริมณฑลจำนวน 1,102 คน เรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไรกับ ครม.ชุดใหม่" พบว่า พอใจถึง 64.8% ไม่พอใจมีเพียง 4.1% ที่เหลืออีก 31.1% ไม่แสดงความคิดเห็น ส่วนความเชื่อมั่นในการทำงาน 1 ปี ของ ครม.ชุดใหม่ 65.6% เชื่อว่าสร้างความสามัคคีของคนในชาติได้ 58.2% นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อย่างได้ผล 44.6% วางรากฐานและกลไกที่เอื้อต่อการปฏิรูปการเมืองในอนาคต 39.2% ทำให้ประเทศเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก

ทรท.สรุปให้"อ๋อย"เป็นหัวหน้า

ส่วนการเมืองอื่นที่พรรคไทยรักไทย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงความคืบหน้าในการคัดเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรค โดยจากการสอบถามเสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองหัวหน้าพรรคลำดับที่ 2 ดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค ในระหว่างที่พรรคยังไม่สามารถจัดการประชุมเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ได้ จากนี้ตนจะรับหน้าที่ทาบทามนายจาตุรนต์และจะทราบผลภายในวันที่ 13 ต.ค.

นายพงศ์เทพกล่าวต่อว่า เหตุผลที่กรรมการบริหารพรรคส่วนใหญ่เห็นควรเลือกนายจาตุรนต์เพราะเห็นว่าเป็นนักประชาธิปไตย มีคุณสมบัติเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และหลังจากได้รักษาการหัวหน้าพรรคแล้ว พรรคจะแจ้งชื่อนายจาตุรนต์พร้อมด้วยรายชื่อผู้ลาออกและใบลาออกของ พ.ต.ท.ทักษิณไปยัง กกต.สำหรับการแจ้ง บัญชีทรัพย์สินของผู้ลาออกต่อ กกต.ภายใน 30 วัน ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล

ตั้งเงื่อนไขถ้าได้ถึงรับ


ด้านนายจาตุรนต์กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า เคยพูดคุยกับนายพงศ์เทพและคุณหญิงสุดารัตน์บ้างแล้ว สำหรับแนวทางการทำงานตนยึดถือการทำพรรคแบบประชาธิปไตย และไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของ คปค. ซึ่งต้องรอดูว่าแกนนำของพรรคจะรับข้อเสนอและแนวคิดของตนได้หรือไม่ ถ้าหากจะให้ตนทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคจริงก็ต้องให้มีอำนาจในการตัดสินใจ ยืนยันว่าจะไม่เป็นตัวแทนของใคร

นายสมาน เลิศวงศ์รัฐ ผอ.สำนักทะเบียนพรรคไทยรักไทย เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ได้ส่งตัวแทนมายื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคแล้วและมีผลทางกฎหมายทันที นอกจากนี้นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย หัวหน้ากลุ่มวังพญานาค ได้ส่งตัวแทนมายื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเช่นกัน และนายพินิจยังได้โทรศัพท์มากำชับการลาออกด้วยตนเองด้วย ส่งผลให้นายพินิจพ้นจากสภาพสมาชิกพรรคทันที สรุปยอดผู้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค 93 คน แยกเป็นอดีต ส.ส. 57 คน กรรมการบริหารพรรคและบุคลากรสำคัญที่ช่วยงานพรรค 36 คน ส่วนที่เคยมีข่าวว่ามีจำนวนคนลาออก 111 คนเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากบางคนลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารแต่ไม่ได้ลาออกจากสมาชิกพรรค

ดึง"นพดล"เป็นเลขาฯ ครม.

รายงานข่าวแจ้งว่า ได้มีความเคลื่อนไหวในการสรรหาเลขาธิการคณะรัฐมนตรีคนใหม่ โดยมีกระแสข่าวว่ามีการทาบทามนายนพดล เฮงเจริญ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เข้ามาทำหน้าที่แทนนายรองพล เจริญพันธุ์ เลขาธิการ ครม. รักษาการปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งแต่งตั้งสมัย พ.ต.ท. ทักษิณ เพื่อมาช่วยงานด้านกฎหมายเนื่องจากในอดีตนายนพดลเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ครม.สมัยที่นายวิษณุ เครืองาม เป็นเลขาธิการอยู่หลายปี จากนั้นได้โอนย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนจะพ้นวาระไปจนได้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

คมช.เด้งเลขาฯป.ป.ส."กฤษณะ"

มีรายงานข่าวแจ้งว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ได้มีคำสั่งย้าย พล.ต.ท. กฤษณะ ผลอนันต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ไปเป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ โดยคำสั่งดังกล่าวลงวันที่ 6 ต.ค. 2549 มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยสลับเอานายกิตติ ลิ้มชัยกิจ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ ไปเป็นเลขาธิการ ป.ป.ส. แทน ซึ่งก่อนหน้านี้นายกิตติถูกย้ายจากเลขาธิการ ป.ป.ส. ไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก่อนถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการสำนักนายกฯ

ด้าน นายกิตติ กล่าวว่า ได้รับคำสั่งของ คมช. เมื่อวันที่ 9 ต.ค. แต่ยังต้องรอขั้นตอนการนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ส่วนสาเหตุที่ย้ายตนกลับไปเป็นเลขาธิการ ป.ป.ส.นั้น คิดว่าเป็นเพราะในอดีตก่อนสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นข้าราชการพลเรือน.


แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์